ตร.เตือนอย่าอ้างเป็นพื้นที่ส่วนตัว โพสต์ละเมิดสิทธิผู้อื่น

สังคม
11 มิ.ย. 64
12:07
2,609
Logo Thai PBS
ตร.เตือนอย่าอ้างเป็นพื้นที่ส่วนตัว โพสต์ละเมิดสิทธิผู้อื่น
ตำรวจ ปอท. เตือนอย่าอ้างโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัว โพสต์ละเมิดสิทธิผู้อื่น อาจถูกดำเนินคดีได้ พร้อมแนะข้อควรปฏิบัติในการโพสต์ข้อความ-ภาพ

วันนี้ 11 มิ.ย.2564 จากกรณีที่อาจารย์โรงเรียนแห่งหนึ่ง โพสต์ข้อความไม่เหมาะสมในสื่อสังคมออนไลน์ ลักษณะลามกอนาจาร พร้อมนำภาพนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชน และภาพผู้อื่นมาประกอบข้อความ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์นั้น

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท.ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว และมีสิทธิเสรีภาพในการใช้งาน แต่ขอให้คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนจะโพสต์ หรือแสดงความคิดเห็น แม้การโพสต์สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะเป็นการโพสต์พูดคุยกันแบบส่วนตัว ตั้งค่าเป็นแบบเฉพาะเพื่อน, เพื่อนทุกคนยกเว้น..., เพื่อนที่เจาะจง

รวมทั้งใน ”กลุ่มปิด” ก็ตาม อาจมีโอกาสที่เพื่อนบางคน หรือสมาชิกที่อยู่ในกลุ่ม แคปรูปหรือข้อความ ออกมาเผยแพร่ส่งต่อให้ผู้อื่น และอาจมีการนำไปเปิดเผยต่อสาธารณะ จนส่งผลกระทบต่อหน้าที่อาชีพการงานได้

ที่สำคัญการโพสต์เหล่านั้น อาจมีผลด้านกฎหมาย อาจถูกดำเนินคดีได้หากเป็นการละเมิดบุคคลอื่น เช่น นำภาพผู้อื่นหรือตัดต่อภาพผู้อื่นมาประกอบข้อความที่ทำให้บุคคลในภาพได้รับความเสียหาย หรือ โพสต์หรือแชร์ข้อความทำให้บุคคลอื่นเสียหาย ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ในเรื่องการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

หากเป็นนำเข้าภาพผู้อื่นที่เกิดจากการตัดต่อ/ดัดแปลง เป็นเหตุให้บุคคลในภาพได้รับความเสียหาย จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตร.มีความห่วงใยประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ จึงแนะนำข้อควรปฏิบัติในการโพสต์ข้อความหรือภาพในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อไม่เป็นการละเมิดกฎหมาย ดังนี้

1. ขณะโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ควรมีสติสัมปชัญญะ ไม่อยู่ในขณะมึนเมา หรืออยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติ เช่น โกรธ เป็นต้น

2. คิดก่อนโพสต์หรือแชร์ข้อมูลว่า สิ่งที่กำลังจะโพสต์หรือแชร์เป็นความจริงหรือไม่ หากโพสต์หรือแชร์แล้วจะมีบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่

3. ไม่นำภาพผู้อื่นมาประกอบการโพสต์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะภาพที่จะทำให้ผู้นั้นได้รับเสียหาย

4. ศึกษาทำความเข้าใจกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ การแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อที่จะไม่ละเมิดกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องหมิ่นประมาท, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในเรื่องการนำเข้าข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ที่ผิดกฎหมายตามมาตรา 14 หรือ การนำเข้าภาพผู้อื่นสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่เกิดจากการตัดต่อดัดแปลง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 16 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง