"ไพบูลย์" ยืนยันร่างแก้ไข รธน. ฉบับ พปชร. ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ "พล.อ.ประยุทธ์"

การเมือง
15 มิ.ย. 64
16:12
203
Logo Thai PBS
"ไพบูลย์" ยืนยันร่างแก้ไข รธน. ฉบับ พปชร. ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ "พล.อ.ประยุทธ์"
"ไพบูลย์" ยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ "พล.อ.ประยุทธ์" ระบุพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยระบบเลือกตั้งปี 2540 เพราะกลัวตัวเองสูญพันธุ์ เชื่อญัตติแก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของฝ่ายค้านไปไม่รอด ไม่สามารถตั้งได้

วันนี้ (15 มิ.ย.2564) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการสืบทอดอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคก้าวไกลพาดพิง

แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงแก้ไขอำนาจของ ส.ส.ในการประสานกับหน่วยงานราชการเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ส่วนการแก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็เป็นประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันกับพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย เพราะกังวลว่าพรรคตัวเองจะสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นความเห็นแตกแยกขัดแย้งกันเองระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ มั่นใจว่าร่างแก้รัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐจะผ่านความเห็นชอบในวาระรับหลักการในวันที่ 23 และ 24 มิ.ย.นี้ เพราะมีเสียงของพรรคพลังประชารัฐ 122 ส.ส. หรือรวมพรรคประชาธิปัตย์อีก 50 เสียง และเสียง ส.ว.อีก 250 รวมแล้วมากกว่า 400 เสียง

และหากเพื่อไทยเห็นด้วยก็เกิน 500 เสียง ซึ่งจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาที่ต้องผ่านความเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และต้องให้ ส.ว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 โดยอ้างอิงว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างฯ พลังประชารัฐ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ จะไม่โหวตให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากที่เป็นประเด็นหลักของพรรค 5 ประเด็น เช่น การเสนอให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.

ขณะที่ประเด็นการแก้มาตรา 272 ของพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าจะหาเสียงสนับสนุนได้ไม่ครบตามจำนวนหลักเกณฑ์วาระรับหลักการที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งพรรคพลังประชารัฐและวุฒิสภาจะไม่ยกมือให้

ส่วนการประชุมพิจารณาในสัปดาห์หน้า จะเป็นไปตามวาระการประชุม ซึ่งจะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นถึงจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 23-24 มิ.ย.

ทั้งนี้ ไทม์ไลน์การแก้รัฐธรรมนูญ หากรับหลักการวันที่ 23 มิ.ย. จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษา 30 - 45 วันก่อนที่จะเข้าสู่วาระที่ 2 พิจารณารายมาตราในช่วงเดือนต้น ส.ค. หากให้ความเห็นชอบแล้วเสร็จก็พักไว้ 15 วัน

จากนั้นนำกลับเข้าที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 ช่วงปลาย ส.ค. หรือต้น ก.ย.นี้ จากนั้นเป็นการแก้ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางปี 2565

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญคนละเรื่องเดียวกันกับการยุบสภา ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อรองรับการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ โดยเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะยังไม่ลาออกหรือยุบสภาตามที่ได้ประกาศไว้ในที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันอังคารที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา

และไม่เห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใด ต้องการไปเป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่มีเหตุให้ยุบสภา และเห็นว่ามีเพียงพรรคฝ่ายค้านไม่กี่คนที่เดือดร้อนกับดำรงตำแหน่งครบวาระของนายกรัฐมนตรี แต่ประชาชนทั้งประเทศอีกหลายล้านคนสบายใจรัฐบาลมั่นคง นายกรัฐมนตรีมีฝีมือ

สำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถที่จะทำโดยตั้ง ส.ส.ร.ได้ แต่ต้องเป็นการดำเนินการสมาชิกรัฐสภามาตรา 156 และตั้งกรรมาธิการมาดำเนินการ

ซึ่งไม่แตกต่างกับการแก้ไขแบบรายมาตรา และเชื่อมั่นว่าญัตติการเสนอแก้ไขมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ของพรรคการเมืองฝ่ายค้านไปไม่รอด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง