รอผลแล็บ "กระทิงกุยบุรี" ตายจากลัมปี สกิน?

สิ่งแวดล้อม
14 ก.ค. 64
12:23
405
Logo Thai PBS
รอผลแล็บ "กระทิงกุยบุรี" ตายจากลัมปี สกิน?
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า คาด 1 สัปดาห์รู้ผลแล็บ กระทิงตายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โยงลัมปี สกินหรือไม่ ขณะที่หมอล็อตนำทีมสัตวแพทย์ลงพื้นที่สอบสวนโรคศุกร์นี้ พร้อมจัดทำ Biosecurity system ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าตรวจสอบกรณีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.1 (ป่ายาง) พบซากกระทิงเพศผู้ อายุ 15 - 20ปี น้ำหนัก 1,200-1,300 กิโลกรัม นอนตายในลำห้วยบริเวณท้ายบ่อน้ำ 2 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของอวัยวะภายในส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงและเป็นการป้องการติดเชื้อของโรคระบาด ลัมปี สกิน

วันนี้ (14 ก.ค.2564) นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ ส่งทีมสัตวแพทย์ลงพื้นที่แล้วเพื่อประเมินและหาวิธีป้องกัน รวมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นพบว่ากระทิงตัวที่ตายมักออกนอกฝูงมาแต่ต้องรอผลแล็บว่าติดเชื้อลัมปี สกิน หรือไม่ เพราะสิ่งที่น่ากังวล คือ โรคดังกล่าวมีแมลงเป็นพาหะ ก็ต้องพยายามไม่ให้ปศุสัตว์เข้าไปใกล้พื้นที่ และกันสัตว์ป่าให้อยู่ด้านในป่า

ก็น่ากลัว ยังไม่ชัวร์ว่าติดเชื้อลัมปี สกินหรือไม่ ต้องรอผลแล็บอย่างเดียว

ก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯ ออกมาตรการป้องกันโรค โดยให้มีระยะห่างระหว่างสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงอย่างน้อย 5 กิโลเมตร ไม่ให้แมลงบินไปถึงกันก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับสัตว์ป่า รวมทั้งพยายามต้อนสัตว์เลี้ยงให้ออกมานอกป่าทั้งหมดและต้องเฝ้าระวังในพื้นที่รอยต่อป่าอนุรักษ์

มีสัตว์เลี้ยงที่แอบเข้าไปในป่า อย่างเดียวที่ทำได้คือการป้องกันและประสานปศุสัตว์ให้ฉีดวัคซีน

ลงสอบสวนโรค "กระทิงตาย" ศุกร์นี้

ขณะที่ นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า วันนี้ได้ประชุมทีมสัตวแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับระบาดวิทยาสัตว์ป่า เพื่อเตรียมความพร้อมลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคในวันที่ 16 ก.ค.นี้ เพราะเคสนี้เป็นเรื่องที่ต้องระดมความคิดและนำข้อมูลทางระบาดวิทยามาเป็นตัวหลักในการดำเนินงาน คาดว่าสาเหตุการตายอาจมีหลายปัจจัย

นสพ.ภัทรพล ยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ได้เตรียมความพร้อมป้องกันโรค ตั้งแต่ช่วงที่กรมปศุสัตว์รายงานพบการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ด้วยการประสานกรมปศุสัตว์ฉีดวัคซีนให้กับปศุสัตว์บริเวณรอบนอก ควบคู่กับการเฝ้าระวังสัตว์ป่าในพื้นที่ โดยทำหนังสือแจ้งไปถึงทุกพื้นที่อนุรักษ์ให้เฝ้าระวังตามมาตรการที่กำหนด

เรื่องพวกนี้เราเตรียมความพร้อมมาหลายเดือนแล้ว เมื่อที่มีรายงานการระบาดของโรคในปศุสัตว์ หรือ สัตว์เลี้ยง จะมอนิเตอร์ในสัตว์ป่าควบคู่ไปด้วยโดยเตรียมความพร้อมในการรับมือมาหลายเดือนแล้ว

นอกจากนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ กำชับจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity system) ในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคติดต่อและการแพร่ระบาด รวมทั้งโรคอุบัติใหม่ ถือเป็นระบบใหม่ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่อนุรักษ์ 

ทั้งนี้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค.2564 พบสัตว์ป่วยสะสม 3,006 ตัว และสัตว์ตายสะสม 14 ตัว 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง