เจาะโซน "ไอซียู COVID-19" นาทีชีวิตผู้ป่วย วิกฤตหมอ-พยาบาล

สังคม
18 ก.ค. 64
10:16
9,422
Logo Thai PBS
เจาะโซน "ไอซียู COVID-19" นาทีชีวิตผู้ป่วย วิกฤตหมอ-พยาบาล
สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอก 3 สู่ระลอก 4 หนึ่งในจังหวัดที่เผชิญวิกฤตหนัก คือ จ.สมุทรสาคร กับสถานการณ์เตียง COVID-19 และไอซียู COVID-19 ในโรงพยาบาลทั้งจังหวัดเต็มต่อเนื่องกว่า 3 สัปดาห์แล้ว หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นวันละกว่า 600-700 คน

วันนี้ (18 ก.ค.2564) ไทยพีบีเอสสะท้อนภารกิจหนักกับบุคลากรทางการแพทย์ ทีมไอซียูโควิด เพื่อให้เห็นถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น กับ นพ.แสนศักดิ์ ลิขิตพงษ์วิทย์ ผู้ช่วย ผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ในฐานะ หัวหน้าทีมไอซียูโควิด รพ.บ้านแพ้ว

แนวโน้มการการดูแลไอซียูโควิด เป็นสถานการณ์แบบไหน

นพ.แสนศักดิ์ : ภายใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราพบว่าการระบาดเพิ่มมากขึ้นชัดเจน จากเดิม จ.สมุทรสาคร ช่วงต้นเดือนมิถุนายน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเฉลี่ยวันละ 200-300 คน แต่ปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นกว่า 600-700 คนต่อวัน ทำให้ทุกโรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มเตียงเต็มกันทุกที่

 

ตั้งแต่ช่วงพบผู้ติดเชื้อวันละ 300-400 คน ทางจังหวัดจึงร่วมกันเพิ่มจำนวนเตียง รพ.สนาม เพื่อรองรับคนไทย และ แรงงานข้ามชาติด้วยอีกทาง ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาล ก็วนกันไปช่วยดูแลด้วย

สถานการณ์ปัจจุบันกับผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องอยู่ในห้องไอซียูโควิด ในโรงพยาบาล

นพ.แสนศักดิ์ : ในระยะนี้คนไข้เข้าถึงบริการสวอป RT-PCR ได้ช้าลง ทำให้คนไข้กลุ่มนี้มีแนวโน้มต้องดูแลตัวเอง และเกิดภาวะปอดอักเสบได้ง่าย

สำคัญเมื่อตรวจสวอปแล้ว หลายโรงพยาบาลไม่มีเตียงโควิดให้ผู้ป่วยนอน แม้กระทั่ง เตียง รพ.สนาม จึงส่งผลกระทบให้คนไข้หลายคน ต้องนอนรอที่บ้าน สุดท้ายญาติบางคนเริ่มเห็นว่า คนไข้ไม่ไหว ก็ทำให้ต้องนำส่งคนไข้มาโรงพยาบาลที่ห้องฉุกเฉิน

นี่คือสิ่งที่พบเห็นได้เป็นปรากฏการณ์โรงพยาบาลในหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และ จ.สมุทรสาคร คือ มีคนไข้ที่หายใจล้ม แล้วฟิล์มเอ็กซเรย์บ่งชี้ว่าเกี่ยวกับโควิดจำนวนมากในโรงพยาบาล และเกิดวิกฤตเตียงไม่พอรองรับ

ทางออกที่ดีที่สุดคือ ต้องให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการวินิจฉัยโดยเร็ว โดยวิธี RT-PCR และถ้าไม่มีเตียงจริงๆ คนไข้ก็ควรได้รับการดูแล มีองค์กรความรู้ในการดูแลเบื้องต้น เช่น เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว ถ้าค่าออกซิเจนต่ำกว่า 96 % แปลว่า เริ่มมีปัญหา หรือ เวลาคุณเดินรอบๆ บ้าน ทำกิจวัตรประจำวันปกติ แล้วลองวัดออกซิเจนปลายนิ้วดูอีกที ถ้าน้อยกว่า 3 % เมื่อเทียบกับของเดิม อาจบ่งบอกได้ว่าคนไข้เหล่านี้ อาจมีภาวะปอดอักเสบเกิดขึ้น

 

และถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม มีภาวะปอดอักเสบเกิดขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ คนไข้ควรได้รับการรักษา โดยการนอนโรงพยาบาล หรือ อย่างน้อย รพ.สนาม ก็ยังดี เพื่อได้โอกาสในการรับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งยานี้จะช่วยทำให้ไวรัสลดน้อยลง ลดโอกาสที่ภาวะสารพิษที่เกิดจากตัวโควิด (Cytokine Storm) ลดลงได้ ทำให้อาการปอดอักเสบอาจทุเลา อาจทำให้ผู้ป่วยใช้ออกซิเจนธรรมดาได้ โดยไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจออกซิเจนอัตราไหลสูง (Nasal High Flow Oxygen)

แต่เมื่อไรก็ตามที่คนไข้มีอาการรุนแรง จนถึงขั้นใส่เครื่องช่วยหายใจออกซิเจนอัตราไหลสูงในคนไข้บางรายจำเป็นต้องได้รับการดูแลในห้องไอซียูโควิด เพื่อจะต้องติดตามอาการโควิดและอาการอื่นๆ ใกล้ชิดจากการจากใส่เครื่องช่วยหายใจลักษณะนี้ตลอดเวลา

การดูแลผู้ป่วยในไอซียูโควิด ทำไมใช้เวลานานขึ้น

นพ.แสนศักดิ์ : เมื่อไรก็ตาม คนไข้มีอาการหนัก ปอดจะถูกทำลายอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้คนไข้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจออกซิเจนอัตราไหลสูงค่อนข้างนาน รวมถึงคนไข้บางรายต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยบางรายจะเกิดภาวะลมรั่วในปอด และเป็นการยากที่ทำให้ผู้ป่วยที่ปอดจะกลับมาฟื้นฟูได้รวดเร็ว

โดยปกติถ้าผู้ป่วยแอดมิดในไอซียูโควิด แล้วมีอาการหนัก ผู้ป่วยบางคนจะต้องอยู่ในไอซียูโควิด 2-3 สัปดาห์ เขาถึงจะมีโอกาสจะออกจากไอซียู ได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ รพ.หลายๆ แห่งไม่มีเตียงวิกฤตเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้

อาการแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยโควิด มีอาการแบบไหน

นพ.แสนศักดิ์ : ผลจากการที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบ อาการสำคัญที่เกิดขึ้นคือ หอบ เหนื่อย สุดท้ายไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้ กล้ามเนื้อกระบังลมจะอ่อนล้า คนไข้จะเกิดภาวะหายใจล้มเหลว และใส่ท่อช่วยหายใจเกิดขึ้น

 

สิ่งที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา นอกจากปอดอักเสบจากโควิดแล้ว อาจเกิดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเกิดขึ้น บางคนต้องใส่สายยางต่างๆ ก็จะเกิดการติดเชื้อใส่กระแสเลือดได้ ผู้ป่วยบางรายอาการจะเริ่มโหดและหนัก เพราะผู้ป่วยบางรายต้องได้ยากดภูมิเป็นเวลานาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ป่วยบางรายจะเกิดภาวะปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา (เชื้อราดำ) เกิดขึ้น ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้

สถานการณ์โควิดระบาดหนักแบบนี้ บุคลากรทีมไอซียูโควิด ทำงานหนักกันขนาดไหน ป้องกันอย่างไร

นพ.แสนศักดิ์ : โควิดรอบนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองในการดูแลผู้ป่วย รพ.บ้านแพ้ว ก็เช่นกัน ซึ่งเคสผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะรายที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เราต้องให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ หรือบางที ต้องทำหัตถการ ซึ่งการดูแลผู้ป่วยเราต้องใช้เวลานานมาก เช่น ผู้ป่วยบางท่าน ถ้าใส่ท่อช่วยหายใจเสร็จ แทงเส้นให้น้ำเกลือ ตั้งเครื่องออกซิเจนฯ แล้วปรับท่าให้นอนคว่ำ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง

ในการดูแลผู้ป่วยแต่ละราย การใส่อุปกรณ์ที่แออัด แม้เจ้าหน้าที่อยู่ในห้องแอร์ แต่มันอบอ้าว ร้อน และไม่ค่อยเห็นด้วยการมองผ่านทางหน้ากาก มองไม่ชัด เป็นที่ยากลำบากมาก พร้อมๆ กับการต้องหายใจผ่านทางหน้ากาก N95

หลายๆ ครั้งเราต้องซื้ออุปกรณ์ PAPR (Powered Air Purifying respirator) เป็นหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ เป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งในชุดปกป้องร่างกายเต็มตัว

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องใช้ในการเข้าไปดูแลผู้ป่วย ที่บุคลากรประเมินแล้วว่า ต้องใช้ระยะเวลานานๆ อยู่กับผู้ป่วยเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้การทำงานราบรื่นขึ้น ไม่อึดอัด ทำให้เวลาทำหัตการ สามารถทำได้สะดวกขึ้น ไม่อึดอัด

หลักการสำคัญ ในการดูแลผู้ป่วย ก็ต้องมีเรื่องเฮลแคร์ เซฟตี้ ตอนนี้ ทีมแพทย์พยาบาลต้องใช้มาตรการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานแต่ละระดับ ซึ่งส่วนใหญ่ในไอซียู โควิด มีผู้ป่วยวิกฤต จึงต้องมีมาตรฐานใส่ครบชุดในการดูแลผู้ป่วย และต้องยอมรับว่าอุปกรณ์ขาดแคลน ซึ่ง N 95 ที่ใส่ทั่วไป ต้องมีรุ่นที่เป็นมาตรฐานในการใส่เข้าไปดูแลผู้ป่วย

สถานการณ์ไอซียูโควิด ของรพ.บ้านแพ้ว ระลอก 2-3-4 ต่างกันอย่างไร

นพ.แสนศักดิ์ : ช่วงระบาดระลอกหนึ่งเรายังไม่ได้สร้างไอซียูโควิด แต่เราได้เตรียมไว้เพราะคิดว่า น่าจะมีการระบาดใหญ่ และเป็นตามคาดจริงๆ ที่เริ่มระบาดใหญ่ที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อช่วง 18 ธ.ค.2563 ( ระลอกสองของประเทศไทย)

หลังจากมีการรายงานเคสที่ จ.สมุทรสาคร วันรุ่งขึ้น รพ.บ้านแพ้ว ก็รับเคสผู้ป่วยโควิด มีภาวะปอดอักเสบที่มีอาการภาวะหัวใจล้มเหลว จำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจออกซิเจนอัตราไหลสูง (Nasal High Flow Oxygen) จึงย้ายคนไข้รายนี้เข้ามาอยู่ไอซียูโควิด เพื่อดูแลรักษาต่อ

แต่ช่วงนั้นพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการระบาดหนัก จึงมีอาจารย์แพทย์ อ.นิธิพัฒน์ (รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) ได้ช่วยรับผู้ป่วยรายนี้ไปรักษาต่อที่ รพ.ศิริราช

 

ในช่วงนั้น กรมการแพทย์ หรือทาง เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) จะเข้ามาช่วยรับตัวดูแลกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักให้กับ จ.สมุทรสาคร ในกรุงเทพฯ แทน

และทำให้ช่วงนั้น จ.สมุทรสาคร ดูแลผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ได้ ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ติดกันเป็นกลุ่มก้อน บุคลากรการแพทย์ของ รพ.บ้านแพ้ว หรือ รพ.ใน จ.สมุทรสาคร ก็จะไปโกลาหลอยู่กันตาม รพ.สนาม ที่สร้างขึ้น ดูแลผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมากขึ้น

ในช่วงนั้นแม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะมีมาก แต่จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบมีค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่ ผู้ป่วยอยู่ใน รพ.ระยะเวลา 10 วัน ไม่ค่อยมีอาการ จะมีจำนวนน้อยมากที่ปอดอักเสบแล้วถึงต้องย้ายมาอยู่ไอซียูโควิด

พื้นที่บ้านแพ้ว ส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกร ไม่เหมือนสังคมใน อ.เมือง หรือ อ.กระทุ่มแบน เราไม่ค่อยมีจำนวนผู้ป่วย และไอซียู เรามีรองรับเพียงพอที่ 4 เตียง ซึ่งยังมีเตียงเหลือ และวนรับผู้ป่วยได้ตลอดเวลาในระลอกสอง ซึ่งเราได้ภาค รพ.เอกชน ทุกแห่ง (8 แห่ง) รวมถึง รพ.รัฐ ทั้งจังหวัด (3 แห่ง) ช่วยกันรับผู้ติดเชื้อเข้ามาเรื่อยๆ

จากการค้นหาเชิงรุก รพ.ทุกแห่งของทั้ง จ.สมุทรสาคร ร่วมใจกันรับและดูแลผู้ป่วย จนกระทั่งลดจำนวนผู้ป่วยลงได้ชัดเจน โดยเฉพาะช่วงเดือน มี.ค.2564 อย่าง รพ.บ้านแพ้ว ก็แทบจะปิดวอร์ดโควิดได้แล้ว 1 วอร์ด และเหลือไว้อีก 1 วอร์ดเท่านั้น

แต่หลังจากนั้นมา เริ่มมีสัญญาณไม่ดี ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจากคลัสเตอร์ ต้นเม.ย.2564 ที่กรุงเทพฯ (เริ่มต้นระลอกสามของไทย) สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน ทำให้ จ.สมุทรสาคร เริ่มเตรียมตัวช่วยรับเคสจากนอกจังหวัด

 

เพราะเคสในจังหวัดไม่ได้มีมากแล้ว แต่ทางกรุงเทพฯ เห็นว่า จ.สมุทรสาคร เคยมีความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยใน รพ.สนาม มาก่อน และชำนาญในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

จังหวัดเราจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลกลุ่มผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติ และรับคนไทยจากจุดพักคอยที่สนามกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ หรือ จากในกรุงเทพฯ มาช่วยดูแลที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเราก็ยินดีช่วยกันดูแล ในระหว่างที่ช่วงนั้นกรุงเทพฯ ติดขัดปัญหาหาเตียงไม่ได้ ทาง จ.สมุทรสาคร ก็ช่วยรับมาอยู่ที่ รพ.สนาม ทั้งกลุ่มคนไทย และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

สิ่งที่เป็นสถานการณ์เกิดขึ้นตามมา ก็คือ รอบที่แล้วกลุ่มคนไข้ที่อาการหนัก เราเคยส่งต่อไปที่ รพ.ในกรุงเทพฯ ได้ แต่โจทย์รอบนี้ต่างกัน คือ กรุงเทพฯ ส่งคนธรรมดามาให้เรา และกรุงเทพฯ ไม่มีเตียงให้คนไข้หนักที่จะให้ จ.สมุทรสาครส่งต่อได้อีก

ดังนั้น ทั้ง 3 รพ.รัฐ ของ จ.สมุทรสาคร จึงต้องพัฒนาศักยภาพของแต่ละ รพ.ที่จะดูแลผู้ป่วยหนักให้ได้ ซึ่งทาง รพ.บ้านแพ้ว มีข้อจำกัดเรื่องเตียงโควิด แต่เราโชคดีที่มีทีมแพทย์-พยาบาล ที่ฝึกความรู้ใหม่ๆ มาช่วยเรื่องการรักษา โดยเฉพาะเรื่องการลดภาวะสารพิษที่เกิดจากตัวโควิด (Cytokine Storm) ให้ลดน้อยลดน้อยลงไป โดยการฟอกไต เพื่อขับสารพิษบางส่วน ที่เกิดจากตัวโควิด เพื่อลดโอกาสที่คนไข้จะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

 

ซึ่งทาง รพ.บ้านแพ้ว ทำมาหลายเคสแล้ว และถือว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อลดโอกาสแทรกซ้อนของอาการอื่นๆ ตามมาได้

โควิดระลอกนี้ ผู้ป่วยวิกฤตอยู่ในไอซียูโควิดนานขึ้น มีนัยยะสำคัญอย่างไร

นพ.แสนศักดิ์ : สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ต้องใส่เฉลี่ย ไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ ยิ่งทำให้การครองเตียงในห้องไอซียูโควิดใช้เวลานานขึ้น จนทำให้ จ.สมุทรสาคร พัฒนาทำให้ 3 โรงพยาบาล ( รพ.สมุทรสาคร, รพ.บ้านแพ้ว และ รพ.กระทุ่มแบน) เปิดห้องกึ่งไอซียูโควิด ( Semi-ICU COVID) เพื่อดูแลคนไข้กึ่งวิกฤต

อาจเป็นคนไข้โควิดที่ต้องใช้ออกซิเจนแบบธรรมดา หรือ คนไข้อาการหนักขึ้นที่ต้องใช้ออกซิเจนชนิด Hight Flow อุปกรณ์ตัวนี้จะเป็นเครื่องช่วยหายใจที่ช่วยให้หายใจได้ดีกว่าใส่เครื่องช่วยหายใจปกติ

หลาย รพ.ตอนนี้ ยังไม่มีห้องผู้ป่วยโควิดกึ่งวิกฤต (Semi-ICU COVID) ซึ่ง รพ.บ้านแพ้ว ก็สร้างเสร็จและเปิดรับผู้ป่วยเข้ามาทันทีอีก 12 เตียง เมื่อ 12 ก.ค.2564 รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ประจำห้องกึ่งวิกฤต และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักขึ้น

เช่น พยาบาล 1 คน ต่อคนไข้ 2 คน แต่ต้องปรับเป็น พยาบาล 1 คน ดูแลคนไข้ 4-6 คน ที่ต้องดูแล ซึ่งพยาบาลในแผนกวิกฤตเสียสละมาก เพราะต้องคอยดูแลคนไข้นานมาก และต้องคอยช่วยเหลือผู้ป่วยในทุกๆ เรื่อง เช่น คนไข้กินไม่ได้ อาเจียน ถ่ายไม่ได้ เป็นภาระหนักมากๆ ของทีมพยาบาลที่จะต้องเข้าไปช่วยดูแลคนไข้โดยตรง

 

โควิดครั้งนี้ ผมมองว่ารุนแรงมาก เราเคยได้ยินแต่ที่อื่น เช่น อิตาลีรุนแรง ก็ได้แต่มองภาพจากสื่อว่ารุนแรงอย่างไร แต่เราก็ยังไม่เคยเจอจริงๆ อย่างตอนที่ระบาดใน จ.สมุทรสาคร

เรารู้สึกว่าเราหนักแล้ว แต่เราก็ยังไม่เคยรู้สึกหนักมากเท่านี้มาก่อน เราเริ่มมีความยากลำบากใจ เพราะเดิมเราให้คนไข้นอนในโรงพยาบาลตลอดเวลา อยู่เป็นหอพักผู้ป่วย (Cohort) ห้องหนึ่งอาจจะ 2 เตียง ทำให้คนไข้รู้สึกสะดวกสบาย

แต่ตอนนี้ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น เราต้องยอมให้คนไข้นอน 3-4 คน หรือบางครอบครัวก็น่ารักมาก ขออยู่กันแบบครอบครัว 5-6 คนก็ยอม แต่ความน่ารักก็ยังเห็นความเป็นห่วงหมอพยาบาล หลายครอบครัวพยายามช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ด้วยการช่วยวัดค่าความดัน ดูแลการวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

หลายๆ คนที่ต้องมากับพ่อแม่ ที่มีอาการหนัก ที่ถึงขั้นใส่เครื่องช่วยหายใจออกซิเจนอัตราไหลสูง (Nasal High Flow Oxygen) หลายคนช่วยเจ้าหน้าที่ดูแล ช่วยวัดความดัน ในความเห็นผมว่า ยังมีพลังบวกของคนไทยในเรื่องราวแบบนี้อยู่

รวมถึง เรื่องเห็นมุมบวกของผู้ป่วยหลายๆ คน ที่แต่เดิมยอมอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งมีความสะดวกสบายมากกว่า แต่ก็ยอมพาตัวเองแม้ยังไม่หาย แต่มีอาการดีขึ้น ก็ยอมออกย้ายออกจาก รพ. ไปนอนอยู่ รพ.สนาม เพื่อให้เตียงในโรงพยาบาล ได้รับผู้ป่วยที่อาการหนักกว่า

 

เราเห็นน้ำใจของคนไทยหลายๆ คนจริง ที่เกิดในเหตุการณ์ครั้งนี้ เขายอมเสียสละ อย่างบางครอบครัวออกไปอยู่ รพ.สนาม กันทั้ง 5 คนเลย หรือบางครอบครัวมีลูกเล็กๆ วัย 4-5 ขวบ ก็ยอมให้ลูกออกไปอยู่ รพ.สนาม ด้วย

อยากฝากอะไรถึงประชาชนบ้าง

นพ.แสนศักดิ์ : เรื่องสำคัญที่สุด คือ การบริการจัดการวัคซีน เพื่อให้ทุกคนได้รับจัดสรร โอกาสที่ลดอัตราการเสียชีวิต หรือ ป้องกันได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลและทีมวิชาการพยายามหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับคนไทย เพื่อให้คนไทยลดโอกาสในการติดต่อได้

อยากให้ประชาชน อย่ากังวลหรือกลัวกับวัคซีนมาก นอกเหนือจากนั้น คือ การที่เราไม่ได้ป้องกันตัวเอง การที่เราคุยกันไม่ได้ใส่หน้ากาก โดยเฉพาะคนที่มีโอกาสไปสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง

 

 

หลายๆ ครั้ง เราพบว่า คนไข้ปกปิดไทม์ไลน์ หลายๆ คนไปมั่วสุมในแหล่งอโคจรหลายๆ ที่ แต่ปิดบังข้อมูล ที่ทำให้คุณติดมา และทำให้คุณต้องเสียใจว่า คุณพ่อคุณแม่เรา ที่เรารัก ที่มีโรคประจำตัวเขาต้องติดโควิดจากคุณ แล้วทำให้เขาต้องมานอนโรงพยาบาล ซึ่งที่สำคัญก็คือ ไม่มีเตียงครับ แต่เมื่อใดที่มีเตียง พวกเราทุ่มเทเต็มที่เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยและกลับไปหาครอบครัว กลับไปอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.บ้านแพ้ว เร่งสร้าง รพ.สนาม เพิ่ม รับมือโควิด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง