สธ.เปิด 4 ผลการศึกษาในไทย "ซิโนแวค" ป้องกันโควิดได้ 71-90%

สังคม
19 ก.ค. 64
14:50
15,764
Logo Thai PBS
สธ.เปิด 4 ผลการศึกษาในไทย "ซิโนแวค" ป้องกันโควิดได้ 71-90%
กรมควบคุมโรค เปิด 4 ผลการศึกษาหลัก ประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค จากการใช้จริงในประเทศไทย พบประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ 71-90% ชี้ยังป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้

วันนี้ (19 ก.ค.2564) นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เปิดเผยการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน COVID-19 จากการใช้จริงในประเทศไทย โดยคณะทำงานติดตามประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คณะทำงานวิชาการ Scientific Response Team ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยระบุว่า การศึกษาจากการใช้วัคซีนจริงมีทั้งสิ้น 4 การศึกษาหลัก ดังนี้


การศึกษาแรกเป็นการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ในกลุ่มประชาชนที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค.2564 โดยการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 1,500 คน ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม พบติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 124 คน การศึกษานี้ทำให้พบประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันการติดเชื้ออยู่ในระดับ 90.7% (32.3 - 98.7%)

ส่วนการศึกษาที่ 2 ประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ในกลุ่มประชาชนที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ช่วงเดือน เม.ย.2564 โดยการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 500 คน พบผู้ติดเชื้อ 116 คน เปรียบเทียบประสิทธิผลผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็ม กับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน พบประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อสูง 90.5% (41.8 - 99.8%)

เมื่อดูประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคต่อการป้องกันเชื้อสายพันธุ์อัลฟาในสนามจริง พบว่า มีประสิทธิผลดีพอสมควร อยู่ที่ร้อยละ 90 เป็นเครื่องยืนยันว่า วัคซีนซิโนแวคป้องกันการติดเชื้อได้

ผลศึกษาย้ำซิโนแวคกันติด - กันปอดอักเสบ

ส่วนการศึกษาที่ 3 ในพื้นที่ จ.เชียงราย ช่วงเดือน มิ.ย. เป็นการศึกษาในกลุ่มบุคลากรสุขภาพซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 500 คน พบติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 40 คน เชื้อสายพันธุ์อัลฟา พบประสิทธิผลคนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มป้องกันติดเชื้อ 88.8% (73.3 - 95.3%) ป้องกันปอดอักเสบ 84.9% (13.8 - 97.4%)

ขณะที่บุคลากรสุขภาพในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 50 คน ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาแล้ว 1 เข็ม พบประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อได้ 83.8% (46.3 - 95.2%) โดยพบติดเชื้อ 5 คน ในจำนวนนี้ไม่พบอาการปอดอักเสบ

สำหรับการศึกษาสุดท้าย ในกลุ่มบุคลากรสุขภาพ กรมควบคุมโรคติดตามจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังการเจ็บป่วยเปรียบเทียบกับข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศ ช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์อัลฟา พบประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคป้องกันการติดเชื้อได้ 71%

ส่วนเดือน มิ.ย. พบการระบาดของสายพันธุ์อัลฟาและเดลตา พบประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันการติดเชื้อยังอยู่ที่ 75% ซึ่งไม่ได้ลดลงไป

ข้อกังวลสายพันธุ์เดลตาจะมีผลต่อประสิทธิผลในการใช้จริงมากน้อยเพียงใด ต้องบอกว่าสนามจริงยังคงที่อยู่ วัคซีนโคโรนาแวคไม่ใช่ไม่มีประสิทธิภาพ วัคซีนเชื้อตายยังใช้ได้ผลดี

ยังจำเป็นนำเข้าซิโนแวคสู้โควิดเดลตา ?

นพ.ทวีทรัพย์ ยังได้ตอบคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นในการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคในช่วงที่ไทยกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลตา โดยระบุว่า ข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ซิโนแวคยังได้ผลกับสายพันธุ์เดลตา แต่เพื่อให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน จึงนำมาสู่การพิจารณาปรับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยวัคซีนแพลตฟอร์มอื่นในเข็มที่ 2

วัคซีนซิโนแวค จัดหาได้เร็ว ฉีดได้ทันที ไม่ต้องรอคิวไปถึงไตรมาสที่ 4 หรือปีหน้า ซิโนแวคจึงยังจำเป็นในสถานการณ์ที่เรามีข้อจำกัดในการจัดหาวัคซีน

ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังคงดำเนินการจัดหาวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัคซีน mRNA คือ ไฟเซอร์ที่จะเข้ามาเสริมเป็นวัคซีนหลักของประเทศในช่วงไตรมาส 4 หลังเดือน ต.ค.เป็นต้นไป ดังนั้น ในช่วงการระบาด 2-3 เดือนนี้ จึงต้องใช้ประโยชน์จากวัคซีนที่มีอยู่แล้วให้ได้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงวัคซีนแอสตราเซเนกาที่เดิมคาดว่าจะได้เดือนละ 10 ล้านโดส แต่ด้วยข้อจำกัดจึงอาจทำให้ได้รับจัดสรรลดลงเหลือ 5 ล้านโดส

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง