"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ชี้แจง กมธ.งบฯ นำเข้าวัคซีน 9.7 ล้านโดส ส.ค.นี้

สังคม
22 ก.ค. 64
12:51
1,028
Logo Thai PBS
"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ชี้แจง กมธ.งบฯ นำเข้าวัคซีน 9.7 ล้านโดส ส.ค.นี้
"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ชี้แจงกรรมาธิการงบประมาณปี 2565 เตรียมนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม 9.7 ล้านโดสในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อส่งมอบให้องค์กรเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยืนยันจัดซื้อผ่านบริษัทตัวแทนที่ได้รับอนุญาตจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน

วันนี้ (22 ก.ค.2564) นายเรืองไกร เรืองกิจวัฒนะ โฆษกคณะ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2565 แถลงถึงความคืบหน้าการพิจารณาว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้หารือและสอบถามต่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม

หน่วยงานชี้แจงว่า งบประมาณในการจัดซื้อวัคซีน เป็นการของบสำรองจ่ายที่มาจากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และปัจจุบันมีการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 3,000,000 โดส และภายใน 2 สัปดาห์ จะมีการส่งมอบเพิ่มอีก 2,000,000 โดส รวมเป็น 5,000,000 โดส โดยหน่วยงานมีแผนจัดซื้อทั้งหมด 9,000,000 โดส ภายในเดือนสิงหาคมนี้

ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจัดหาวัคซีนของหน่วยงาน เพื่ออุดช่องว่างในช่วงสถานการณ์ความต้องการวัคซีนในประเทศที่ยังมีไม่เพียงพอ โดยมีแนวทางในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อจัดสรรวัคซีน ได้แก่ ผู้พิการ พระ นักบวชทางศาสนา ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการจัดสรรวัคซีนหลัก เช่นสตรีตั้งครรภ์

สำหรับการกำหนดราคาวัคซีนที่หน่วยงานจัดสรรให้เอกชนเป็นราคาจะซื้อรวมต้นทุนค่าขนส่ง ค่าประกันการขนส่ง ค่าเก็บรักษา ค่าประกันความเสียหาย และค่าประกันการรักษาพยาบาลบุคคลผู้ได้รับวัคซีน

ส่วนหน้าที่กระจายเป็นของบริษัทขนส่ง โดยปัจจุบันมีการจองวัคซีนในจำนวน 4,850,000 คน หรือคิดเป็นจำนวน 9,700,000 โดส ซึ่งจะส่งมอบภายในเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้ วัคซีนที่หน่วยงานให้นำเข้ามีการจัดสรรให้เอกชนแล้ว 5 ครั้ง โดยจัดสรรให้องค์กร 16,000 องค์กร คิดเป็นจำนวน 2,260,000 คน และยังคงอยู่ระหว่างกันทยอยจัดสรรให้องค์กรอีก 266 องค์กร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยการจัดหาซื้อวัคซีนของหน่วยงานไม่มีสัญญาซื้อขายระหว่างหน่วยงานและบริษัทผู้ผลิตวัคซีนซิโนฟาร์ม แต่เป็นการดำเนินการผ่านบริษัทตัวแทนที่ได้รับอนุญาต โดยดำเนินการรวบรวมเอกสาร กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเสนอต่อคณะกรรมาธิการต่อไป

นอกจากนี้ กรรมาธิการยังสอบถามกรมประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 โดยมีข้อทักท้วงว่า ข้อมูลของหน่วยงานเป็นข้อมูลผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ยังไม่มีความสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนของข้อมูลและส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ข้อมูล

โดยตัวแทนจากกรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่า ภารกิจของหน่วยงานกับงบประมาณที่ได้รับ ยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน และปัจจุบันในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 แต่ละหน่วยงาน ไม่ได้มีการประสานเพื่อจัดทำข้อมูลในทิศทางเดียวกัน ทำให้กรมประชาสัมพันธ์ต้องประสานขอรับข้อมูลกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อลดความคลาดเคลื่อนของข้อมูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง