เจาะกลไก COVAX กุญแจลดความเหลื่อมล้ำ?

ต่างประเทศ
22 ก.ค. 64
18:58
1,211
Logo Thai PBS
เจาะกลไก COVAX กุญแจลดความเหลื่อมล้ำ?
ประเด็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากไทยส่งสัญญาณจะเข้าร่วมโครงการ ขณะที่หลายประเทศมีทางเลือกของวัคซีนมากขึ้น แม้ในช่วงแรกโครงการจะประสบปัญหาจัดส่งวัคซีนล่าช้าจากวิกฤต COVID-19 ในอินเดีย

วันนี้ (22 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลไกในการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียม หนีไม่พ้นโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากการรวมกลุ่มจะทำให้การเจรจาต่อรองเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเทศรายได้สูงและรายได้ต่ำสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ โดยมีเงื่อนไขในการได้รับวัคซีนต่างกัน โดยประเทศรายได้สูง - รายได้ปานกลางระดับสูง เข้าร่วมในฐานะผู้บริจาคและมีสิทธิจัดซื้อวัคซีน

กลุ่มแรกคือประเทศที่จ่ายเงินค่าวัคซีนเอง และกลุ่มต่อมาคือประเทศที่ทำสัญญาสั่งจองล่วงหน้า โดย 92 ประเทศในกลุ่มที่ 2 จะได้วัคซีน COVID-19 เป็นสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 20 ของประชากร

 

ส่วนกลุ่มอาเซียนมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ COVAX รวม 9 ประเทศ ยกเว้นไทยเพียงประเทศเดียว ซึ่งมาเลเซีย สิงคโปร์ และ บรูไน มาเข้าแถวในกลุ่มแรก ส่วนสมาชิกอาเซียนที่เหลือจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2

การเข้าร่วมในกลุ่มจ่ายเงินเอง แบ่งเป็นสัญญาการซื้อแบบผูกมัด และสัญญาการซื้อแบบมีทางเลือก โดยประเทศที่เลือกทำสัญญาแบบที่ 2 สามารถเลือกบริษัทผู้ผลิตวัคซีนตามรายการของ COVAX ได้ แต่กลุ่มนี้จะต้องชำระเงินค่าวัคซีนล่วงหน้าในราคาประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส สูงกว่าสัญญาแบบแรก

ประเด็นสำคัญคือ การเข้าร่วมโครงการไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้ติดต่อซื้อวัคซีนกับบริษัทผู้ผลิตโดยตรง เช่น มาเลเซียเข้าร่วมโครงการ COVAX และเจรจาซื้อวัคซีนไฟเซอร์-บีออนเทคโดยตรงพร้อมกัน หรือสิงคโปร์เจรจาต่อรองวัคซีนกับไฟเซอร์-บีออนเทค ถึงขั้นมีแผนตั้งโรงงานบีออนเทคในอนาคต


ข้อมูลจากองค์กรกาวี บ่งชี้ว่า ขณะนี้ 7 ชาติสมาชิกอาเซียนได้วัคซีนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 33 ล้านโดส หลังจากการจัดสรรวัคซีนล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากอินเดียสั่งระงับการส่งออกวัคซีนโควิชิลด์

ขณะที่สิงคโปร์และเมียนมาเป็นเพียง 2 ประเทศในอาเซียน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจากโครงการ COVAX โดยสิงคโปร์เตรียมจะบริจาควัคซีนให้โครงการ หลังจากมีวัคซีนเพียงพอสำหรับประชากรในประเทศ

นอกจากนี้ COVAX ยังเป็นตัวกลางแจกจ่ายวัคซีนที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา บริจาคให้ประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย เช่น การบริจาควัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ให้แก่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว โดยปีเตอร์ เฮย์มอนด์ ทูตสหรัฐฯ ประจำเวียงจันทน์ ระบุว่า สหรัฐฯ มอบวัคซีนกว่า 1 ล้านโดสให้กับลาว หรือการบริจาควัคซีนชนิด mRNA ของโมเดอร์นาให้เวียดนามและอินโดนีเซีย เพื่อใช้เป็นเข็มกระตุ้น

แม้ว่าโครงการ COVAX อาจจะถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่การรวมกลุ่มถือเป็นการสร้างความร่วมมือในยามวิกฤต และเพิ่มทางเลือกของวัคซีนให้หลากหลายขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง