ฝุ่นตลบไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส

สังคม
29 ก.ค. 64
10:40
7,775
Logo Thai PBS
ฝุ่นตลบไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส
การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส เป็นที่จับตาของหลายฝ่ายในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นจำนวนที่ฉีดให้บุคลากรด่านหน้า การจัดกลุ่มผู้ที่จะได้รับวัคซีน หรือความหวาดระแวงว่าจะมีการสวมสิทธิฉีดในบุคคล VIP

เรียกร้องฉีดวัคซีน mRNA ให้ สธ.ด่านหน้า

ที่ผ่านมา กลุ่มหมอไม่ทนและภาคีบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคีเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข ทุกสาขาอาชีพ เคยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำเข้าวัคซีนแพลตฟอร์ม mRNA ที่มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์

และฉีดวัคซีนชนิดนี้ ให้บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า อย่างเร่งด่วน โดยยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง พร้อมรายชื่อประชาชน ผู้สนับสนุนข้อเรียกร้อง จำนวน 215,409 รายชื่อ ต่อเลขาธิการประธานรัฐสภา ตัวแทนพรรคการเมือง 6 พรรคทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และกรรมาธิการสาธารณสุขของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา

นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ตัวแทนภาคีบุคลากรสาธารณสุข บอกว่า กลุ่มหมอไม่ทนและภาคีบุคลากรสาธารณสุขเห็นตรงกันว่า วัคซีนเชื้อตายไม่สามารถรับมือสถานการณ์การระบาดได้ โดยเฉพาะเมื่อเจอกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลในงานวิจัยต่างๆ และผลการศึกษาในหลายประเทศบ่งชี้ว่าวัคซีน mRNA ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ดังนั้น หากนำวัคซีนชนิดนี้เข้ามาได้เร็วที่สุด ก็จะช่วยควบคุมการระบาดในไทยได้

ด้วยเหตุนี้ คนที่ทำงานด่านหน้ารวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวควรได้รับวัคซีน mRNA ซึ่งมีประสิทธิภาพช่วยลดการแพร่เชื้อ และลดอาการป่วยรุนแรง

เห็นได้ว่า แม้เราฉีดวัคซีนทั้งแอสตราเซเนกาและซิโนแวค แต่สถานการณ์การระบาดมันก็ไม่ดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งเป็นหลักหมื่นต่อวัน หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขก็จะล่ม

ภูมิคุ้มกันบุคลากรด่านหน้าสู้การระบาดไม่ไหว

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค วันที่ 12 ก.ค.2564 ระบุว่า ในประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด 721,000 คน ในจำนวนนี้มีจำนวน 700,000 คน ฉีดวัคซีนแล้ว และอีก 21,000 คน ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคไม่ได้เปิดเผยจำนวนผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกาในกลุ่มนี้

ที่ผ่านมา มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 707 คน ในจำนวนนี้มี 705 คนรักษาหายแล้ว ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมีจำนวน 172 คน ในจำนวนนี้รักษาหายแล้ว 168 คน สำหรับกรณีติดเชื้อแล้วเสียชีวิต แบ่งเป็นผู้ฉีดวัคซีนแล้ว 2 คน อีก 5 คนไม่ได้ฉีดวัคซีน

วันที่ 12 ก.ค.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติระบุว่า หากฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม สามารถลดการติดเชื้อได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ แม้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์

ก็เหมือนกับทุกวัคซีนในโลกนี้ที่ไม่มีชนิดไหนลดการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ด้วยเหตุนี้ กรมควบคุมโรคจึงมีนโยบายว่าจะเริ่มฉีดแอสตราเซเนกาเป็นเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทันทีเมื่อพร้อม และค่อยให้วัคซีนแพลตฟอร์ม mRNA ของไฟเซอร์ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาบริจาคในช่วงเดือนสิงหาคม

วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสจากสหรัฐฯ

วันที่ 20 ก.ค.2564 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ประกาศว่า สหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนโควิด-19 แพลตฟอร์ม mRNA ของไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส มูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 990 ล้านบาท) ให้กับไทย

เพื่อช่วยให้ไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เร่งฉีดวัคซีนให้พลเมืองของตนปลอดภัย ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยวัคซีนล็อตนี้จะมาถึงประเทศไทย ในวันที่ 30 ก.ค.2564

ก่อนหน้านี้ นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เผยแพร่สารเกี่ยวกับการบริจาควัคซีนของสหรัฐฯ โดยระบุว่า การบริจาควัคซีนให้กับไทยในครั้งนี้ ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ผูกพัน แต่เป็นการช่วยเหลือประเทศพันธมิตร ต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ตามคำมั่นของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ผมขอย้ำว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีคนกลางในการเจรจา ทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และสถานทูตสหรัฐฯ ทำงานโดยตรงกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขของไทย

การบริจาควัคซีนในครั้งนี้เป็นความช่วยเหลือ นอกเหนือไปจากความช่วยเหลือมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.32 แสนล้านบาท) ซึ่งทางสหรัฐฯ ให้วัคซีนแก่ประเทศต่างๆ ผ่านโคแวกซ์ (COVAX) หรือโครงการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้แก่นานาประเทศอย่างเท่าเทียม

ประเทศไทยเพิ่งตัดสินใจขอเจรจาเข้าร่วมโครงการ COVAX เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากตระหนักว่า ได้รับการส่งมอบวัคซีนหลักจากแอสตราเซเนกาไม่มากพอ กับการรับมือสถานการณ์การระบาด โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่เข้าร่วม COVAX

ที่ผ่านมาพบว่า ไทยได้รับการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา ในจำนวนที่น้อยกว่าแผนที่วางไว้แต่แรก ทำให้ต้องสั่งวัคซีนซิโนแวคเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมจำนวน 2 ล้านโดส เป็นจำนวน 47.5 ล้านโดส โดยจัดซื้อมาแล้ว 19.5 ล้านโดส และต้องจัดหาเพิ่มเติมอีก 28 ล้านโดส

ใครบ้างที่จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในไทย

วันที่ 20 ก.ค.2564 อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า แผนการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสซึ่งทางสหรัฐฯ บริจาคมาให้ไทย จะใช้ฉีดช่วง ส.ค. เป็นต้นไป โดยกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์มีดังนี้
1.กลุ่มบุคลากรด้านการแพทย์ บุคคลด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูง หรือกลุ่มคนที่ต้องทำงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการฉีดกระตุ้นเข็ม 3
2.กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ระบาด
3.ชาวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่ที่ระบาด เช่น คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
4.กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง

โดยสั่งให้แต่ละจังหวัดรวบรวมข้อมูล และแจ้งจำนวนผู้ต้องการรับวัคซีนไฟเซอร์ไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งตัวเลขมาที่กระทรวงสาธารณสุข

จับสัญญาณหนุน สธ.ด่านหน้ารับเข็ม 3 เป็น AZ

ขณะที่ หน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ กำลังรวบรวมจำนวนผู้ต้องการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ก็พบมีการสื่อสารภายในหน่วยงานต่างๆ ว่าให้บุคลากรด่านหน้ารับแอสตราเซเนกาไปก่อน เนื่องจากไม่ทราบว่าวัคซีนไฟเซอร์จะมาถึงเมื่อไร

สร้างความคลางแคลงใจ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ว่า ในเมื่อมีนโยบายชัดเจนว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ทำไมจึงแจ้งว่ายังไม่ทราบกำหนดการจัดสรรไฟเซอร์ ส่งผลให้บุคลากรด่านหน้าจำนวนหนึ่งเกิดความไม่มั่นใจ และยอมรับแอสตราเซเนกาเป็นเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

 

วันที่ 24 ก.ค.2564 นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อว่า Rungsrit Kanjanavanit ตั้งคำถามว่าวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 3 แสนโดสหายไปไหน

ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีมติจะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 5 แสนโดส โดยเขาแนบภาพเอกสารการประชุมลงวันที่ 21 ก.ค. 2564 แต่ไม่ปรากฏชื่อหน่วยงานเจ้าของเอกสารดังกล่าว

ผมอยากทราบว่า 3 แสนโดสหายไปไหน ถ้าไปถูกที่ถูกทางให้แก่ประชาชนผู้เปราะบาง ในพื้นที่เสี่ยงสูง ผมจะดีใจมากๆ แต่ ถ้า 3 แสนโดสที่หายไป ไปอยู่ที่แขนเหล่า VIP และเครือญาติ ผมไม่โอครับ

ผุดเว็บไซต์แอบอ้างขายโควตาฉีดไฟเซอร์

 

เว็บไซต์ชื่อ THVaccine แอบอ้างว่า ขายโควต้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ผ่านสกุลเงินคริปโตเรนซี โดสละ 10,000 บาท จำนวนจำกัด 20,000 โดส เริ่มฉีด 25 สิงหาคม 2564 สำหรับประชาชนทั่วไป อายุ 12-80 ปี ในสถานที่ปิด ไม่ปะปนกับลานฉีดวัคซีนทั่วไป ค่าบริการรวมทุกค่าใช้จ่ายแล้วโดสละ 350 USDT โดยรับชำระเงินผ่านสกุลเงินคริปโตเคอเรนซี USDT ในบล็อกเชน ERC-20 และ TRC-20 เท่านั้น

ทางเว็บไซต์แอบอ้างว่า ได้วัคซีนมาจากการจัดสรรของรัฐบาล หลังจากที่คณะผู้ใหญ่ได้รับวัคซีน mRNA มาเกินจำนวนที่ต้องการ จึงมอบหมายให้ THVaccine ขายโควตาที่ได้รับมา เพื่อให้ผู้จองได้เข้าถึงวัคซีนเร็วขึ้น ทั้งนี้ มิใช่การขายตัววัคซีนแต่อย่างใด

THVaccine อ้างว่าโควต้าพิเศษที่ได้มาเป็นโควต้าวัคซีนที่จัดสรรเฉพาะกลุ่มแบบ VIP ที่ปกติแล้วบุคคลทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะได้เข้าถึงหรือรับรู้ถึงการจัดสรรในส่วนนี้  โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า “ท่านควรยอมรับความจริงว่า ท่านไม่สามารถหลีกเลี่ยงระบบเส้นสายและ VIP ในประเทศไทยได้”

มีผู้ตั้งข้อสังเกตในสื่อสังคมออนไลน์ว่าเว็บไซต์นี้อาจสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวง และ ไม่มีโควต้าฉีดไฟเซอร์ให้บริการตามที่กล่าวอ้าง

สธ.ยันฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้า 5 แสนคน ไม่มี VIP

วันที่ 25 ก.ค. 2564 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ราว 1.5 ล้านโดสที่จะเข้ามาช่วงปลายเดือน ก.ค. จะเริ่มฉีดต้นเดือน ส.ค.นี้ โดยจัดสรรให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นเข็ม 3 จำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 โดส และขอยืนยันว่าไม่ได้รับเพียง 200,000 โดสตามที่มีกระแสข่าวออกมา

ส่วนที่มีข่าวลือว่าจะนำวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 300,000 โดส ไปฉีดให้กลุ่ม VIP นพ.รุ่งเรือง ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง การให้ข่าวปลอมใด ๆ ก็ตาม สธ.จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และประชาชนไม่ต้องจองหรือจ่ายเงินเพื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์

ต่อมา วันที่ 27 ก.ค.2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์จะถูกจัดสรรเป็น 5 กลุ่ม

  • กลุ่มที่ 1 บุคลากรการแพทย์เพื่อเป็นเข็มที่ 3 จำนวน 700,000 โดส โดยจะฉีดให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้วเท่านั้น 
  • กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปในจังหวัดที่ระบาดสูง (ขึ้นกับอัตราผู้เสียชีวิต และความครอบคลุมของวัคซีนที่ฉีดในผู้สูงอายุแต่ละจังหวัด) จำนวน 645,000 โดส                                                           
  • กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่อาศัยในไทย (เน้นผู้สูงอายุ, มีโรคเรื้อรัง) และผู้เดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องรับวัคซีน (นักการทูต,นักศึกษา โดยให้กระทรวงต่างประเทศเป๋นผู้ประสานหลัก) จำนวน 150,000 โดส                                                    
  • กลุ่มที่ 4 เพื่อทำการศึกษาวิจัย จำนวน 5,000 โดส                                                                                         
  • กลุ่มที่ 5 สำรองตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ จำนวน 40,000 โดส
ภาพ สรุปแผนจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโพสต์ลงบัญชีทวิตเตอร์ชื่อว่า @Rachadaspoke เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 64

ภาพ สรุปแผนจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโพสต์ลงบัญชีทวิตเตอร์ชื่อว่า @Rachadaspoke เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 64

ภาพ สรุปแผนจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโพสต์ลงบัญชีทวิตเตอร์ชื่อว่า @Rachadaspoke เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 64

 

น.ส.สฤนี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงินและธุรกิจที่ยั่งยืน และเป็นผู้เขียนบทความเรื่อง “มหากาพย์วัคซีน” แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล” ว่า ไม่เห็นด้วยกับแผนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ เนื่องจากเอื้อให้บุคคล VIP เข้ามาแฝงรับวัคซีนได้

ภาพประกอบความเห็นของสฤนี อาชวานันทกุล
(ที่มา : เฟสบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล)

ภาพประกอบความเห็นของสฤนี อาชวานันทกุล (ที่มา : เฟสบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล)

 

เธอเห็นว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กับกลุ่มที่ 1 บุคลากรด่านหน้า ควรมีกระบวนการที่สร้างความมั่นใจได้ว่าวัคซีนทั้ง 700,000 โดส จะถึงมือบุคลากรด่านหน้าจริงๆ ไม่ใช่ผู้บริหารโรงพยาบาล ผู้มีอุปการะคุณต่อโรงพยาบาลและครอบครัว รวมถึงบุคคล VVIP อื่นๆ

ทั้งนี้ บุคลากรด่านหน้าควรจะรวมทุกคนที่นอกเหนือจากแพทย์และพยาบาล เช่น เวรเปล นักเทคนิคการแพทย์ แม่บ้าน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในจังหวัดเสี่ยงสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยทุกวัน

นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามว่า ทำไมต้องจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักศึกษาหรือนักธุรกิจที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสูงและสามารถเข้าถึงวัคซีนประสิทธิภาพสูงที่ประเทศปลายทางได้อยู่แล้ว

นอกจากนั้น วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 45,000 โดส ที่ใช้สำหรับการศึกษาวิจัยและสำรอง เพื่อตอบโต้การระบาด ก็ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และยังสุ่มเสี่ยงที่จะมีคน VVIP แฝงตัวเข้ามารับโควตาได้ง่าย

ดังนั้น จึงเห็นว่า ควรจัดสรรวัคซีนส่วนนี้ทั้งหมดให้บุคลากรสนับสนุนที่เสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการสาธารณะ เช่น คนขับรถ พระ สัปเหร่อ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่กู้ภัย เทศกิจ และจิตอาสาที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ช่วยรับส่งยาและอาหาร เป็นต้น

ร้องสถานทูตสหรัฐฯ ตรวจสอบปลายทาง "วัคซีนบริจาค"

วันที่ 27 ก.ค. 2564 กลุ่มบุคลากรสาธารณสุขในนามกลุ่มหมอไม่ทน Nurses Connect ภาคีบุคลากรสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์อีกหลายกลุ่ม รวมตัวหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐอเมริกา ขอให้ช่วยตรวจสอบ และระบุเงื่อนไข การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส

นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยการจัดสรรวัคซีนอย่างโปร่งใส ไม่ปกปิดข้อมูล หรือจัดสรรวัคซีนไปให้หน่วยงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกลุ่มบุคคล VIP ด้วย

การยื่นหนังสือในวันนั้น มีผู้แทนฝ่ายการเมืองสถานทูตสหรัฐอเมริกามารับฟัง พร้อมรับหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขดังกล่าว

 

ขณะที่ ในสื่อสังคมออนไลน์ผุดแคมเปญ "เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร" และ "จับตาไฟเซอร์" จนเกิดการรณรงค์รวบรวมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อระดมรายชื่อผู้สนับสนุนจำนวน 75,000 รายชื่อ โดยรายละเอียดบางส่วนของข้อเรียกร้องระบุว่า

ให้รัฐบาลจัดหาวัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักให้คนไทยทุกคน ให้รัฐชี้แจง และเปิดเผยข้อมูลว่า บุคลากรสาธารณสุขได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็ม 3 ไปแล้วกี่คน และยังเหลืออีกกี่คนที่ยืนยันขอรับวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อให้จำนวนวัคซีนที่ได้รับไม่ตกหล่นออกไปนอกระบบ

รังสิมันต์ โรม ระบุ บช.น.ขอวัคซีนเข็ม 3 ให้ตำรวจคุมม็อบ

นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กชื่อ“Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม” เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2564 ว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ บช.น. ขอวัคซีนเข็ม 3 ให้ชุดควบคุมฝูงชน โดยลงภาพประกอบหนังสือสั่งการภายในของ บช.น. ลงวันที่ 27 ก.ค. 2564

ภาพหนังสือสั่งการหนังสือภายในของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) 
ที่มา : เฟสบุ๊ก Rangsiman Rome – รังสิมันต์ โรม

ภาพหนังสือสั่งการหนังสือภายในของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ที่มา : เฟสบุ๊ก Rangsiman Rome – รังสิมันต์ โรม

 

เนื้อหาในหนังสือสั่งการฯ ระบุว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้จัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.น. เนื่องจากพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.น.ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เรียบร้อยแล้ว แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

จึงให้ทุกหน่วยจัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และ มีความสมัครใจหรือไม่สมัครใจรับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ภายในวันที่ 30 ก.ค.2564 ดังนี้

1) กองร้อยควบคุมฝูงชนที่ 1 และ 2 ของ บช.น.
2) ข้าราชการตำรวจในสังกัด บก.อคฝ. ที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน
3) ข้าราชการตำรวจที่ทำหน้าที่รับส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19
4) ผู้ปฏิบัติหน้าที่จุดตรวจ ว.43 ป้องกันอาชญากรรมในห้วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (โควิด-19) และจุดตรวจควบคุมการแพร่ระบาดฯ

นายรังสิมันต์ ตั้งคำถามว่า ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนเข็ม 3 ในขณะนี้หรือไม่ และเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลชี้แจงว่า ทำไมถึงมีหนังสือสั่งการภายในออกมา

ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้วัคซีนเข็มแรก ในขณะที่แพทย์พยาบาลด่านหน้าจำเป็นต้องได้วัคซีนเข็มสามแต่ยังไม่รู้จะได้มากพอและเร็วพอหรือไม่ ตำรวจคุมฝูงชนก็คิดจะมาเอาส่วนแบ่งกันแล้วหรือครับ

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2564 ระบุว่า เป็นการสำรวจข้อมูลรับวัคซีนของตำรวจควบคุมฝูงชนเพื่อรับวัคซีนเข็ม 3 เท่านั้น ทั้งหมดเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต และ บช.น. ยังไม่ได้รับโควตาจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมแต่อย่างใด

สำหรับกลุ่มที่ บช.น. เห็นว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรับส่งผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่จุดตรวจควบคุมโรคระบาดต่างๆ ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดประชาชน และตำรวจเฝ้าแคมป์คนงาน รวมไปถึงตำรวจควบคุมฝูงชนที่ปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางคนจำนวนมาก

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบันมีตำรวจติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและรักษาตัวอยู่บ้านแบบ Home Isolation กว่า 500 คน ถึงแม้ว่าตำรวจทั่วประเทศฉีดวัคซีนครบสองเข็มไปแล้ว 72 เปอร์เซ็นต์ และยังฉีดไม่ครบอีก 27 เปอร์เซ็นต์

การสำรวจจำนวนเพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีน ไม่ได้หมายความว่าตำรวจจะขอจัดสรรวัคซีนเข็ม 3 แล้วได้ทันที หรือได้ก่อนบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้า

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง