จากออนไลน์สู่ออนแอร์ หวังขยายตลาด Y ด้วยซีรีส์ "หญิงรักหญิง"

สังคม
24 ส.ค. 64
11:24
10,606
Logo Thai PBS
จากออนไลน์สู่ออนแอร์ หวังขยายตลาด Y ด้วยซีรีส์ "หญิงรักหญิง"
ชีวิตจริงกับมุมมองความรักไม่มีเพศ ถูกขีดเขียนเป็นนิยายวาย "หญิงรักหญิง" ด้วย "เจ้าปลาน้อย" กับความหวังขยายตลาด ขอพื้นที่สร้างความเข้าใจเรื่องเพศจากนิยายออนไลน์สู่ซีรี่ส์ออนแอร์ "ทฤษฎีสีชมพู GAP The Series"
หนึ่งคนเป็นหม่อมหลวงผู้สูงศักดิ์ CEO บริษัทยักษ์ใหญ่ อีกคนเป็นพนักงานบริษัท ลูกสาวภารโรง อายุห่างกัน 8 ปี 

พล็อตละครรักนี้อาจเป็นเรื่องคุ้นเคยในละครไทย แต่หากเปลี่ยนพระ-นางเอกเป็น หญิงกับหญิง อาจทำให้ใครบางคนเริ่มส่ายหน้า และหันหลังให้ ท่ามกลางกระแสนิยมซีรี่ส์วาย "ชายรักชาย" เป็นคู่พระนางกำลังเฟื่องฟู แต่ตัวละคร "หญิงรักหญิง" กลับปรากฏเป็นส่วนผสมเสริมองค์ประกอบของภาพยนตร์ ละคร หรือซีรีส์เท่านั้น

ที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง "Yes or No อยากรักก็รักเลย" อาจเป็นเพียงเรื่องเดียวที่บางคนนึกถึงเมื่อพูดถึงพระนาง "หญิงรักหญิง" ขณะที่เมื่อช่วงเดือน มี.ค.2564 การประกาศละครใหม่ เรื่อง "รากแก้ว" ได้จุดกระแสตัวละครหลัก "หญิงรักหญิง" ขึ้นมาอีกครั้ง

แต่ด้วยบทประพันธ์ที่ตีพิมพ์ช่วงปี 2517 บอกเล่าแง่มุมของเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งเกิดมา และมุ่งหวังที่จะหนีให้พ้นจากผู้มีพระคุณ บทประพันธ์ชิ้นนี้ได้สะท้อนกรอบแนวคิดหญิงรักหญิงในสมัยนั้นผ่านคำบรรยายที่ว่า "ผู้มีพระคุณ ซึ่งมีความวิปริตทางเพศ" 

หากมองย้อนกลับมาในยุคนี้ ที่การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิความเท่าเทียม รวมถึงเรื่องเพศ ทำให้แนวคิด "หญิงรักหญิง" เริ่มเปลี่ยนแปลงไป นวนิยายสะท้อนสังคม งานเขียนทั้งบนดินและใต้ดินหลากหลายเรื่องเริ่มให้พื้นที่กับพระนาง หญิงรักหญิงเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางความสนใจที่ขยับไปพร้อมกันทีละก้าว

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาโปสเตอร์ซีรี่ส์ "ทฤษฎีสีชมพู GAP The Series" ถูกปล่อยออกมา สร้างความสนใจให้ชาวโซเชียลจนเกิดแฮชแท็ก #GAPYURI บนทวิตเตอร์ไทย กับความคาดหวังที่จะได้เห็นผลงานพระนาง "หญิงรักหญิง" ในมุมมองของคนยุคใหม่ ทั้งที่ยังไม่เริ่มถ่ายทำ


เริ่มต้นที่ "ชอบผู้หญิง" สู่งานเขียน "หญิงรักหญิง"

ซีรี่ส์เรื่องนี้ จะถูกปรับบทละครมาจาก "ทฤษฎีสีชมพู GAPYURI" นิยายออนไลน์เผยแพร่บนเว็บไซต์ dek-d.com ตั้งแต่ปี 2561 โดยมียอดอ่าน 625,872 ครั้ง ความคิดเห็น 7,819 ความเห็น และมีผู้ติดตามเรื่องนี้ 10,379 บัญชีผู้ใช้ ทั้งยังเคยติดอันดับ 1 ในหมวดนวนิยายวายของเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม และติดอันดับ 11 จากนวนิยายทุกหมวด ตอกย้ำความนิยมที่ทำให้ผู้จัดละครมั่นใจที่จะหยิบยกมาปั้นเป็นซีรี่ส์ออนแอร์


เพชรไพลิน รัตนนาม หรือรู้จักกันในนามปากกา เจ้าปลาน้อย และเจ้าของผลงาน "ทฤษฎีสีชมพู GAPYURI" เริ่มต้นเส้นทางนักเขียนนวนิยาย ตั้งแต่ 18 ปีก่อน

โดยเริ่มจากนิยายรัก ชาย-หญิง จนสร้างชื่อเป็นที่รู้จักทั้งบนออนไลน์และหนังสือสำนักพิมพ์ ก่อนที่ปี 2560 ความรู้สึกและแรงบันดาลใจในการแต่งนิยายชาย-หญิงค่อย ๆ หายไป เนื่องจากรู้ตัวว่าชอบผู้หญิงมาตั้งแต่เด็กและมีแฟนเป็นผู้หญิง จึงตัดสินใจเปลี่ยนแนวมาเขียนนิยายวาย "หญิงรักหญิง" แทน

เราอ่านหนังสือการ์ตูนหญิงรักหญิงเล่มหนึ่ง แล้วรู้สึกเหมือนผีเสือบินวนในท้อง เลยอยากเขียนนิยายแบบนั้นบ้าง แล้วเราก็มีแฟนเป็นผู้หญิงด้วย เลยอยากถ่ายทอดแง่มุมความรักของหญิงรักหญิงออกมา

หวังตลาดวาย "หญิงรักหญิง" บูมเหมือน "ชายรักชาย"

เจ้าปลาน้อย ยอมรับว่า ขณะนั้นกระแสหญิงรักหญิงไม่น่าประทับใจจนสำนักพิมพ์คัดค้าน โดยหยิบยกยอดขายของสำนักพิมพ์อื่นว่า "ขายได้แค่ 50 เล่มเองนะ" แต่เมื่อตัดสินใจแล้วก็ลงมือทำ เจ้าปลาน้อยเริ่มเขียนนวนิยายสะท้อนมุมมองความรักของตัวเองไปบนโลกออนไลน์

ประเดิมเรื่องแรก "US รักของเรา" อย่างไม่คาดหวัง แล้วก็ไม่ผิดหวัง แต่ผิดคาดเมื่อผลตอบรับดีมาก จนสำนักพิมพ์ต้องหันกลับมาตีพิมพ์ครั้งแรก 3,000 เล่ม ก่อนที่จะขายหมดภายใน 1 ชั่วโมง จนต้องตีพิมพ์อีกเป็นครั้งที่ 2 

เจ้าปลาน้อย มองว่า ตลาดนิยายวาย "ชายรักชาย" เริ่มเติบโตขึ้นต่อเนื่องและขยายวงกว้างจนเป็นเรื่องปกติ แต่หญิงรักหญิงกลับไม่ได้รับความนิยม แม้กระทั่งนักเขียนนวนิยายก็ยังน้อยมาก

นักอ่านหลายคน แม้ในใจจะอยากซื้อ แต่สุดท้ายไม่กล้าหยิบไปจ่ายเงิน แต่เมื่อซื้อผ่านออนไลน์ได้แบบไม่เห็นหน้า กลุ่มนักอ่านก็เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หากสังเกตจากรายชื่อที่สั่งซื้อหนังสือ ก็มีเรื่องน่าสนใจเมื่อพบว่า กลุ่มนักอ่านเป็นผู้ชายถึง 60 % และเป็นผู้หญิง 40 %

หน้าตา - ฐานะทางสังคม กับเรื่องเพศ

เจ้าปลาน้อย เล่าจุดเริ่มต้นของการแต่งนวนิยายเรื่อง "ทฤษฎีสีชมพู GAPYURI" ว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการฟังเพลงทฤษฎีสีชมพู จึงปรับแต่งและสร้างตัวละครในวัยทำงานขึ้นมา

หนึ่งคนเป็นหม่อมหลวงผู้สูงศักดิ์ CEO บริษัทยักษ์ใหญ่ อีกคนเป็นสาวน้อยพนักงานบริษัทลูกสาวภารโรง อายุห่างกัน 8 ปี และต่างไม่รู้ว่า "ตัวเองชอบผู้หญิง"


นอกจากการต่อสู้กับความคิดและความรู้สึกของตัวเองแล้ว อุปสรรคสำคัญของเรื่องนี้ คือ คุณย่า ที่มีฐานะเป็นหม่อมหลวง ซึ่งเจ้าปลาน้อยตั้งใจวางคาแรกเตอร์ แทนมาตรฐานสังคมไทย ที่พ่อแม่รับไม่ได้กับการที่ลูก-หลานเป็น "หญิงรักหญิง"

ด้วยฐานะ หน้าตาทางสังคม จึงทำให้พระนางต้องแยกจากกัน แต่ด้วยความดีของทั้งคู่ สุดท้ายคุณย่าก็ใจอ่อน และยอมให้รักกันได้ แม้จะมีกรอบกำหนดว่า ต้องเป็นความรักในความลับ ที่ป่าวประกาศออกไปไม่ได้ก็ตาม

ความหวงแหนหน้าตาในสังคมคล้าย ๆ กับบางครอบครัว ที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ เราอยากให้เห็นการเติบโตและฝ่าฟันอุปสรรคของทั้งคู่ และอยากสะท้อนว่า การรักกันไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม

เจ้าปลาน้อย หวังว่า หากซีรี่ส์เรื่องนี้ได้ออกอากาศ แล้วจะช่วยขยายตลาดวาย หญิงรักหญิงให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อเพิ่มทั้งนักอ่านและนักเขียนนวนิยาย ฉุดนิยายหญิงรักหญิงจากใต้ดินขึ้นมาบนแผงชั้นวางหนังสือ Best seller ให้ได้เหมือนนวนิยายวาย ชายรักชายหลาย ๆ เล่ม รวมถึงเพื่อให้ผู้จัดละครกล้าที่จะลงทุนเรื่องอื่น ๆ ต่อไป

ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย

อีกแง่มุมชีวิตของ "เจ้าปลาน้อย" ในฐานะนักเขียนชีวิตจริง กลับต้องเผชิญทางตันที่ขีดเขียนตามใจต้องการไม่ได้ กับเรื่องราวความรักแบบ "หญิงรักหญิง" แม้ครอบครัวและคนรอบข้างจะเข้าใจและสนับสนุน แต่อุปสรรคที่เผชิญคือ ทายาท การแต่งงาน และทะเบียนสมรส กลายเป็นจุดคลายแม็กของนิยายชีวิตที่ทั้งคู่ต้องปิดฉากลง

แม้วันนั้นความรักจะจบลงไม่แฮปปี้เอนดิ้ง แต่ถึงวันนี้ "เจ้าปลาน้อย" เชื่อว่า ความรักยังคงเป็นเรื่องของความรู้สึก ความรักไม่มีเพศ และทุกคนมีสิทธิที่จะรักกันได้ แม้ขณะนี้วัฒนธรรมจะเปิดกว้าง แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่ "ไม่ใช่ลูกหลายตัวเองก็โอเค"


ดังนั้น เป้าหมายในการสร้างสรรค์ผลงานนิยาย ไปจนถึงซีรี่ส์ที่จะออกอากาศนี้ คือ การช่วยผลักดันให้สังคมมองว่า หญิงรักหญิงเป็นเรื่องปกติ เหมือน ชายรักชาย หรือแม้แต่ชาย-หญิงให้ได้ในสักวันหนึ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง