The EXIT : 7 ปี งบฯ อาวุธตำรวจพุ่ง

การเมือง
6 ก.ย. 64
11:50
139
Logo Thai PBS
The EXIT : 7 ปี งบฯ อาวุธตำรวจพุ่ง
กรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้รัฐสภาตัดงบซื้ออาวุธของ ตร. วงเงินเกือบ 600 ล้านบาท สำหรับงบประมาณปี 65 แม้ไม่สำเร็จ แต่เป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมเริ่มถกเถียงว่า องค์กรตำรวจเป็นหน่วยรบในเมืองหรือไม่ และ ทำไมการสั่งซื้ออาวุธตำรวจเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
ในวันใดที่ปืนกระบอกใดกระบอกหนึ่งใน 7,000 กระบอกนี้หันเข้าหาประชาชน  ในวันนั้นเลือดจะอยู่ในมือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ทุกคนที่เห็นชอบให้งบประมาณนี้ผ่านไปครับ

 

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งใน ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ลุกขึ้นอภิปรายระหว่างการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระ 2 และ 3 โดยเสนอตัดงบจัดซื้ออาวุธปืน 7,000 กระบอก ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ตร. วงเงินเกือบ 600 ล้านบาทจากทั้งหมด 800 ล้านบาท

งบประมาณจัดซื้ออาวุธวงเงิน 800 ล้านบาท ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านความเห็นชอบโดยรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564

ข้อมูลจากพรรคก้าวไกลระบุว่า อาวุธสงครามของ ตร. เพิ่มขึ้นถึง 632 เท่าเมื่อเปรียบเทียบในช่วง 1 ทศวรรษ

เพียงแค่ 3 ปีในช่วง พ.ศ. 2561-2563 ตร. มีโครงการจัดซื้ออาวุธปืนมากกว่า 7 หมื่นกระบอก

จนเกิดคำถามว่า เป็นการของบจัดซื้ออาวุธมากเกินความจำเป็นหรือไม่

The EXIT รวบรวมข้อมูลจากหลายแห่ง พบว่า ช่วงปีงบประมาณ 2558 – 2564  ทั้งงบประมาณและจำนวนอาวุธที่จัดซื้อมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

ตลอด 7 ปี ตร. จัดซื้ออาวุธสะสมทั้งหมด 43,895 หน่วย วงเงินว่า 2,300 ล้านบาท แต่เฉพาะปี 2558 ตร.สั่งซื้อปืนชนิดต่างๆ รวมกันเพียง 468 กระบอกเท่านั้น

 

การสั่งซื้อปืนและอุปกรณ์ต่างๆ พุ่งขึ้นเป็นสองพันกว่าหน่วยเมื่อเข้าสู่ปี 2559 และเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นในปี 2562  ขณะนี้ ยังไม่สิ้นสุดปีงบประมาณ 2564 จึงพบข้อมูลการจัดซื้ออาวุธเพียง 2 โครงการ

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 2564 ระบุว่า ตร.ได้รับจัดสรรงบซื้ออาวุธทั้งหมด 28,120 หน่วย วงเงินรวมกันกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในแง่จำนวนและวงเงิน หากไม่ถูกตัดลดงบประมาณลงจากสถานการณ์โควิด-19 

อาวุธ 5 ประเภทที่ ตร.สั่งซื้อมากที่สุดในช่วง 7 ปีงบประมาณที่ผ่านมา คือ ปืนลูกซอง 15,439 กระบอก ปืนพก 11,776 กระบอก ปืนเล็กยาว 6,850 กระบอก ปืนกลมือ 3,365 กระบอก และ ปืนช็อตไฟฟ้า 2,755 กระบอก

 

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า การตรวจสอบ และตัดงบสั่งซื้ออาวุธ เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยกำกับไม่ให้ ตร. กลายเป็นหน่วยรบในเมือง หรือ Police Militarization มากไปกว่าที่เป็นอยู่

องค์กรตำรวจเป็นหน่วยรบในเมืองมานานกว่า 50 ปี โดยดูจากยุทธวิธีในหลายภารกิจที่ได้รับแนวคิดจากปฏิบัติการทางสงครามหรือทหารมาอย่างเต็มรูปแบบ

หน่วยอรินทราช 26 หน่วยพลร่มของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ตร.มีกองกำลังของตัวเองมานานแล้ว

 

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า อาวุธเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติการสงครามของตำรวจ

คือเราต้องดูทัศนคติและแนวทางการทำงานของพวกเขาด้วย ทัศนคติเป็นอย่างไรมันจะสะท้อนออกมาในการใช้อาวุธ

ขณะเดียวกันยังมองว่า หากไม่สามารถหยุดการติดอาวุธและสั่งสมกำลังหน่วยรบของ ตร. ได้ องค์กรตำรวจอาจตกเป็นเครื่องมือคุกคามประชาชน

ภายใต้บริบทความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาหลายปี ตำรวจกำลังกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐในการผลักให้สังคมไปสู่ความรุนแรงในระดับที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมันอาจไปจบที่การนองเลือดขนาดใหญ่ก็ได้

The Exit ติดต่อขอสัมภาษณ์ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. ในเรื่องการจัดซื้ออาวุธที่เพิ่มสูงขึ้น และ ข้อกังวลเรื่อง Police Militarization แต่ทั้งคู่ปฏิเสธให้สัมภาษณ์

 

มีความเป็นไปได้ว่าการสั่งซื้ออาวุธที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2559 เป็นต้นมา อาจเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการตำรวจ 20 ปีของ ตร. ที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุถึงแผนการ จัดหาอุปกรณ์ประจำกายและอุปกรณ์ประจำหน่วยให้เพียงพอเหมาะสม ระยะเร่งด่วนภายในปี 2559-2560

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง