ด่วน! บอร์ดสวล.ผ่าน EIA อุโมงค์ผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล

สิ่งแวดล้อม
15 ก.ย. 64
16:39
6,904
Logo Thai PBS
ด่วน! บอร์ดสวล.ผ่าน EIA อุโมงค์ผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล
ด่วน! บอร์ดสิ่งแวดล้อม เห็นชอบ EIA โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน ต้องทำอุโมงค์ยาว 60 กม. คาดต้องเสียพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ และใช้งบราว 70,000 ล้านบาท

วันนี้ (15 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติผ่านความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จำนวน 5 โครงการด้วยกัน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ตามแผน PDP 2018 เชื่อมโยงการคมนาคมในพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชน

โดย 1 ใน 5 โครงการที่เข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ มีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน รวมอยู่ด้วย

ที่ประชุมมีมติให้เจ้าของโครงการต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มูลค่าโครงการกว่า 70,000 ล้านบาท จะดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำที่มีความยาวกว่า 60 กิโลเมตร และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำยวม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบโครงการ ผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง และพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง สูญเสียพื้นที่ป่าทั้งสิ้น 3,641.77 ไร่

ท่ามกลางเสียงจากคนในพื้นที่และภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวและร่วมคัดค้านอย่างต่อเนื่อง เสียงสะท้อนถึงความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการ ความถูกต้องของข้อมูลใน EIA รวมถึงการไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน

กลุ่มนักอนุรักษ์ไม่เห็นด้วย กระทบเสียป่าไม่คุ้ม 70,000 ล้าน 

หลังจากมีมติดังกล่าวมีความเคลื่อนไหวในกลุ่มอนุรักษ์ทันที เพจของชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม TU (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ระบุคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล  

เช่นเดียวกับ เพจเฟซบุ๊ก ป่าสักทอง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น โพสต์แถลงการณ์ในนาม ณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ หยุดเขื่อนน้ำยวม หยุดโครงการผันน้ำสาละวิน
หยุดผลาญงบประมาณแผ่นดิน หยุดนักการเมืองผู้หิวโหย จากการที่รัฐบาลได้เร่งผลักดัน โครงการผันน้ำสาละวิน ซึ่งต้องมีทั้งการสร้างเขื่อนน้ำยวม มีทั้งอุโมงค์ผันน้ำ ที่กระทบต่อระบบนิเวศ ป่าไม้ สัตว์ป่า และชุมชน ในหลายพื้นที่

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรที่จะผลาญงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งโครงการนี้ยังกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และชุมชนเป็นอย่างมาก หรือแม้แต่จะให้จีนมาลงทุนสร้างก็ส่งผลกระทบไม่ต่างกัน

นอกจากนี้ การศึกษาผลกระทบของโครงการฯ ก็ไม่น่าเชื่อถือ มีการแอบอ้างว่าได้หารือกับประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ที่ร้านลาบ จนเป็นที่มาของ EIA ฉบับร้านลาบ อันเลื่องชื่อมาแล้ว
ภาพ : เฟซบุ๊ก Sirisak Saduak

ภาพ : เฟซบุ๊ก Sirisak Saduak

ภาพ : เฟซบุ๊ก Sirisak Saduak

ทำหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร ขอให้ยุติโครงการ

โดยได้มีการออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม –อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ 19 แห่ง ทันที่ที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) เห็นชอบและมีแผนเสนอพิจารณาในบอร์ดสิ่งแวดล้อม

รายงานฉบับดังกล่าว ยังมีข้อกังขาถึงกระบวนการจัดทำ ความถูกต้องของข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลว่าผู้มีส่วนได้–เสียในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในนามของตัวแทนเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ 19 องค์กร ได้ทำการยื่นจดหมายถึง พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และทบทวนนโยบายการจัดการน้ำของทั้งประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน มีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบเอกสารคัดค้าน 

เหตุผลที่ไม่ควรใช้พื้นที่ป่าพัฒนาโครงการเขื่อน

เนื้อหาจดหมายคัดค้านได้ระบุถึง เอกสารการประชุมของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4/2563 เมื่อ 18 ธ.ค.2563 วาระการประชุมที่ 3.3 เรื่องความก้าวหน้าผลการติดตาม สรุปการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ 5 กลุ่ม รวมทั้งสิ้นถึง 77 โครงการด้วยกัน

ทั้งนี้ยังไม่รวม 7 โครงการอ่างเก็บน้ำในผืนป่ามรดกโลกดงพญา–เย็นเขาใหญ่ ที่บางโครงการ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ มีความคืบหน้าจัดทำรายงานการประเมิน EIA และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการไปแล้ว 1 ครั้ง บางโครงการอยู่ในระหว่างการคัดเลือกพื้นที่หัวงาน และยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางโครงการที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าอีเช่น อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ที่มีแผนจะก่อสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

ขอแสดงเจตนายืนยันไม่เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอื่นๆ เช่น อุโมงค์ผันน้ำที่ผ่าใจกลางผืนป่าในพื้นที่อนุรักษ์อีกต่อไป

ดังนั้น องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ตามรายชื่อแนบท้าย ขอแสดงเจตนายืนยันที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ยกเลิกการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบเหมารวม และเลือกการจัดการแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นลำดับแรก ส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการน้ำแบบไม่ทำลายพื้นที่ป่าเพื่อให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง