จับตา ความขัดแย้งรอบใหม่ “คนกับป่า”

สิ่งแวดล้อม
15 ก.ย. 64
16:41
708
Logo Thai PBS
จับตา ความขัดแย้งรอบใหม่ “คนกับป่า”
จับตาสัญญาณความขัดแย้ง “คนกับป่า” รอบใหม่ หลังพีมูฟออกมาคัดค้านเนื้อหาในกฎหมายลำดับรอง ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ขณะที่ ทส.เดินหน้าเสนอ ครม. และเตรียมประกาศใช้

วันนี้ (15 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดูเหมือนจะยังไม่จบง่ายๆ สำหรับปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “คนกับป่า” หลังขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ยื่นจดหมายเปิดผนึก (13 ก.ย.2564) ถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ยับยั้งการเสนอร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

โดยเนื้อหาจดหมายระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 ตัวแทนภาคประชาชนได้เคยเสนอให้มีการทบทวนเนื้อหาในเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมระบุ 10 เหตุผลที่ต้องทบทวน ทั้งเนื้อหาในร่างกฎหมายที่ยังแสดงถึงการไม่เคารพและละเลยการรับฟังข้อเสนอของประชาชน การที่ชุมชนดั้งเดิมอาจกลายเป็นผู้บุกรุก เนื่องจากไม่ได้พิสูจน์จากร่องรอยทำกินในพื้นที่ มีเนื้อหากีดกันคนหลายกลุ่ม เช่น คนที่ไม่มีบัตรประชาชน รวมทั้งคนที่ถูกดำเนินคดีและยึดที่ดินทั้งที่เป็นการทำกินตามวิถีชุมชน และยังตีกรอบให้ชุมชนประโยชน์ได้เพียงชั่วคราวและจำกัด ซึ่งพีมูฟเสนอให้ชะลอการผลักดันร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับไว้ก่อน จนกว่าจะมีการทบทวนและเป็นมติร่วมกัน

แต่ต่อมาวันที่ 26 ส.ค.2564 ในการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้ง 1/2564 กลับมีมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 12 ฉบับ แบ่งเป็นเตรียมประกาศใช้บังคับ 8 ฉบับ ส่วนอีก 4 ฉบับ เตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยร่างกฎหมายลำดับรอง 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชุมชนในพื้นที่ป่าที่รอเข้า ครม. คือ “ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ภายในอุทยานแห่งชาติ” และ “ร่างประกาศกระทรวง ว่าด้วยโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ”

ส่วนร่างกฎหมายอีก 8 ฉบับที่เตรียมประกาศใช้ มีอย่างน้อย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องคือ “ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอยู่อาศัยหรือทำกินตามโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ เพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ” และ “ร่างระเบียบฯ ว่าด้วยการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล ในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน”

 

ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในวันดังกล่าว ได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ระบุว่า ร่างกฎหมายทั้งหมดนี้ร่างขึ้นด้วยกรอบที่คำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนบนหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อลดความขัดแย้ง และรักษาพื้นที่ป่าไม่ให้ลดน้อยลง ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน

“ให้พี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ สามารถอยู่อาศัยและทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธิใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างเกื้อกูลธรรมชาติ และได้รับความช่วยเหลือตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป และที่สำคัญที่สุดคือขั้นตอนการออกกฎหมายแต่ละฉบับได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชน คนทุกกลุ่ม ผู้มีส่วนได้เสีย ถูกต้องตามขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ทุกอย่าง”

หนึ่งในร่างกฎหมายที่ฝ่ายประชาชนเห็นว่าอาจจะกลายเป็นปัญหาใหม่ คือ ร่าง “บันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ...” ที่ตอนนี้เหลือแค่รอเข้าวาระการพิจารณาของ ครม. ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

โดยร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ เขียนขึ้นตาม ม.64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ และ ม.121 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ฉบับใหม่ ภายใต้หลักการสำคัญคือให้ชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าได้ โดยต้องมีการสำรวจและจัดทำเป็นแผนที่แนวเขตที่ดินของชุมชนที่อยู่ในเขตป่า โดยให้ยึดตามกรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557

จากนั้นให้จัดทำเป็น “โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” ภายในเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้นๆ เสนอต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป และขั้นตอนสุดท้ายคือ การออกเป็นพระราชกฤษฎีกา พร้อมแผนที่แนบท้ายเพื่อกำหนดรายพื้นที่ที่สามารถดำเนินโครงการได้

 

แม้ในหลักการและเหตุผลของในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะระบุข้อความว่า “เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ ที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 บังคับใช้”

แต่การที่ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติผู้ที่สามารถอยู่อาศัยและทำกินภายในอุทยานแห่งชาติไว้ใน ม.7 (5) ว่า “ไม่เคยถูกดำเนินคดีและคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาในคดีที่เกี่ยวกับการยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อนสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับใช้” นั้น ในมุมมองของ สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น มองว่า เนื้อหานี้อาจจะทำให้ขัดกับเจตนารมณ์ของ ม.64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่

“เจตนารมณ์ของ ม.64 คือการนิรโทษกรรมคนที่อยู่ในเขตป่า เพราะเขาอาจจะอยู่มาก่อนประกาศเขตป่า แต่กฎหมายในอดีตทำให้เขาเป็นคนผิด ดังนั้น ควรเอาเกณฑ์และกรอบเวลาตามที่เขียนใน ม.64 แค่นั้น แต่ร่างกฤษฎีกากลับเพิ่มเนื้อหานี้เข้ามา ทั้งที่กฎหมายแม่ไม่มี คือระเบียบจะไปใหญ่กว่ากฎหมายได้ยังไง”

ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เสนอว่า ลักษณะชุมชนในแต่ละพื้นที่ป่ามีความแตกต่างกัน ซึ่งกฎเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ก็ควรทำให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ ไม่ควรเอากฎเกณ์เดียวไปใช้กับทุกพื้นที่ เหมือนกับตัดเสื้อไซส์เดียว แต่เอาไปให้ใส่ด้วยกันหมด

 

โดยจากข้อมูลการสำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ล่าสุดเมื่อปี 2563 พบว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีชุมชนอาศัยอยู่ทั้งหมด 4,192 ชุมชน จำนวน 185,916 คน รวมเนื้อที่ 4,295,501 ไร่ ขณะที่ข้อมูลการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยในปี 2551 ด้านคดีที่ดินป่าไม้ ระบุว่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีผู้ถูกดำเนินคดีบุกรุกประมาณ 37,000 ราย รวมเนื้อที่กว่า 6 แสนไร่

เฉพาะ ม.64 และ ม.65 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ ม.121 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มีกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามมาอีกรวม 8 ฉบับ ซึ่งนอกจากข้อคัดค้านต่อเนื้อหาในร่างพระราชกฤษฎีกาข้างต้น

อีกฉบับที่เริ่มปรากฏข้อกังวลว่าจะเกิดปัญหาในอนาคตคือ “ร่างระเบียบฯ ว่าด้วยการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล ในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” หลังมีคำท้วงติงว่า การกำหนดให้อนุญาตเป็นรายบุคคล อาจไม่สอดคล้องกับพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะเป็นชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง