กรมชลฯ ยันระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ไม่กระทบกรุงเทพฯ

ภัยพิบัติ
27 ก.ย. 64
17:21
916
Logo Thai PBS
กรมชลฯ ยันระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ไม่กระทบกรุงเทพฯ
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะยังคงทรงตัวต่อไปอีก 1 สัปดาห์ ขณะที่ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 ยืนยันควบคุมอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะไม่มีผลกระทบกับกรุงเทพฯ

วันนี้ (27 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำและควบคุมให้อยู่ที่ 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาทีต่อเนื่องไปอีกหนึ่งสัปดาห์ ทำให้ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เอ่อเข้าท่วมชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะ ต.หาดอาษา ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

ปริมาณน้ำเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วไหลข้ามคันกั้นน้ำที่ชาวบ้านสร้างขึ้น ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมชุมชนชาวบ้านหมู่ 4 และหมู่ 5 ที่อาศัยอยู่ใน ต.โพนางดำออก ชาวบ้านต้องเร่งขนย้ายทรัพย์สินออกมาจากบ้าน และปลูกสร้างเพิงพักขึ้นมาใหม่ ขณะที่บางคนไม่มีวัสดุอุปกรณ์ จึงต้องเช่าเต็นท์หลังละ 2,000 บาทเพื่อมาอาศัยอยู่ชั่วคราว

ขณะที่นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า ปริมาณน้ำยังคงทรงตัวและจะไม่เพิ่มสูงขึ้นไปกว่านี้ แม้ยอดน้ำทั้งหมดที่รับมาจาก จ.สุโขทัย ยังไม่หมด แต่ก็จะไม่ปรับอัตราการระบายน้ำเพิ่มไปที่ 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาทีอย่างแน่นอน

 

ส่วนกรณีที่มีการออกมาระบุว่าให้ชาวกรุงเทพฯ เตรียมรับการระบายน้ำนั้น ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 ยืนยันว่าหากฝนไม่ตกในกรุงเทพฯ น้ำก็จะไม่ท่วมอย่างแน่นอน

สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ ที่จะเป็นปัจจัยทำให้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มเติมขึ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังคงมีปริมาณมาก โดยวันนี้ (27 ก.ย.) เพิ่มขึ้นมาเป็น 2,419 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจุดวิกฤตจะอยู่ที่ 3,590 ลบ.ม.ต่อวินาที

สำนักงานชลประทานที่ 12 ย้ำชัดเจนว่า แม้จะนำน้ำระหว่างทางเข้ามาจากลุ่มน้ำสะแกกรังอีก 300 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ก็ไม่เป็นผลที่จะทำให้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็ก ! 4 อ่างเก็บน้ำเสี่ยงวิกฤตปริมาณน้ำมากเกิน 100%

"หนองยายโต๊ะ" อ.ชัยบาดาล น้ำยังหลากเข้าท่วมบ้านเรือน

ยังไม่แตก! “ลำเชียงไกร” ทำนบคันดินพังน้ำเข้าอ่างมากเกิน 151%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง