กสม.หยิบปัญหากากสารเคมี รง.ฉะเชิงเทรา ตรวจสอบใหม่

สิ่งแวดล้อม
14 ต.ค. 64
17:02
430
Logo Thai PBS
กสม.หยิบปัญหากากสารเคมี รง.ฉะเชิงเทรา ตรวจสอบใหม่
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติหยิบยกกรณีกากสารเคมีตกค้างในพื้นที่โรงงาน ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ขึ้นตรวจสอบอีกครั้ง หลังพบปัญหายังไม่มีการขนย้ายออกนอกพื้นที่

วันนี้ (14 ต.ค.2564) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงว่า กสม. ได้มีมติหยิบยกกรณีกากสารเคมีตกค้าง ในพื้นที่ ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มาตรวจสอบอีกครั้ง หลังพบว่ายังไม่ได้รับการแก้ไข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้ กสม.ชุดเดิม ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อปลายปี พ.ศ.2557 ว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการของโรงงาน ซึ่งมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมลงลำรางสาธารณะ (คลองพานทอง) โดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลอย่างเพียงพอ ที่จะทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย

 

ต่อมา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กรมโรงงานอุตสาหกรรม และเทศบาลตำบลท่าข้าม เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และออกคำสั่งปิดโรงงานบางส่วน ให้บริษัทแก้ไขกลิ่นเหม็นรบกวน ตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายแล้ว และประชาชนผู้ร้องเรียนได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับบริษัท ในความผิดตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แล้ว

แต่กากอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการขนย้ายออกไป อาจรั่วซึมออกสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพและการดำรงชีวิตของบุคคลและชุมชนได้

ทำให้ กสม.ชุดเดิม จึงมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ให้เร่งรัดกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

ต่อมา เมื่อ กสม.ชุดปัจจุบันเข้าดำรงตำแหน่ง ได้ติดตามผลดำเนินงานตามข้อเสนอแนะมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้รับทราบผลแต่อย่างใด

 

กระทั่งล่าสุด เมื่อเดือน ก.ย.2564 ได้รับทราบข้อมูลจากประชาชนในบริเวณใกล้เคียงโรงงานว่า ยังคงมีปัญหาเรื่องกากสารเคมีที่ตกค้างในพื้นที่โรงงาน ซึ่ง กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ

เนื่องจากปัญหามลพิษอาจแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนในบริเวณโดยรอบจึงมีมติเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้หยิบยกกรณีนี้ มาเพื่อติดตามอีกครั้ง

เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชน และสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน กากสารพิษยังตกค้างอยู่ที่โรงงาน ควรจะมีการดำเนินการ จึงยกขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้ง

ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า หน่วยงานในระดับจังหวัดและท้องถิ่นก็ได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่หน่วยงานในระดับจังหวัดจะดำเนินการได้ ซึ่งถ้าเมื่อ กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า มีแนวทางที่จะหาทางออกในระดับนโยบายได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

โดยหลังจากนี้ กสม.อาจจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง และจะสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทำเป็นข้อเสนอต่อไป ส่วนกรอบเวลาในการทำงานจะทำให้เร็วที่สุด เพราะชาวบ้านก็เดือดร้อนมา 7 ปี แล้ว แต่ก็ต้องให้เวลาหน่วยงานชี้แจงมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง