Microneedles แผ่นแปะรักษาแผล ลดติดเชื้อ ป้องกันเกิดแผลเรื้อรัง

Logo Thai PBS
Microneedles แผ่นแปะรักษาแผล ลดติดเชื้อ ป้องกันเกิดแผลเรื้อรัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Purdue พัฒนาแผ่นแปะแผล Microneedles ที่ช่วยลดการติดเชื้อไม่ทำให้เกิดแผลเรื้อรัง โดยผลงานยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองและยื่นจดสิทธิบัตร

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Purdue ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาแผ่นแปะฆ่าเชื้อในบาดแผล หรือ Microneedles เพื่อป้องกันไม่ให้แผลกลายเป็นแผลติดเชื้อเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ป่วยที่มีแผลที่รักษาให้หายได้ยาก โดยผลงานดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนของดำเนินการทดลองและยื่นจดสิทธิบัตร

ไบโอฟิล์ม (Biofilm) เป็นแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ มีลักษณะเป็นเมือกที่สร้างขึ้นโดยเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในแผล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางคนที่มีแผลมีอาการเรื้อรัง แผลหายยาก เพราะเมือกไบโอฟิล์มนั้นไปปิดกั้นยาฆ่าเชื้อและยาปฏิชีวนะต่าง ๆ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จนถึงขั้นมีอาการดื้อยา และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการที่คนไข้ต้องทนอยู่การอาการเจ็บปวดที่เกิดจากการอักเสบของแผล

การที่แผลหายช้าถือเป็นความยุ่งยากในการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและมีแผลเรื้อรัง เพราะทำให้แผลมีการติดเชื้อไปเรื่อย ๆ และอาจลุกลามไปยังบริเวณอื่น วิธีการที่แพทย์ใช้จัดการไบโอฟิล์มในแผลของผู้ป่วย คือการขูดผิวหน้าของแผลผู้ป่วยที่มีไบโอฟิล์มติดอยู่ แล้วค่อยทำการรักษาแผลบริเวณนั้น แต่วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวด เพราะต้องลอกแผลจนเห็นเลือดซิบ ๆ จึงทำให้คนไข้ได้รับความทรมานในการรักษาแผล

Microneedles เป็นผลงานการพัฒนาของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Purdue ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ Rahim Rahimi เป็นหัวหน้าทีม ได้คิดค้นเทคโนโลยีการรักษาแผลติดเชื้อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคนไข้เจ็บตัวน้อยลง ด้วยการใช้แผ่นแปะติดลงบนแผล

ผลิตจากโพลิเมอร์คอมโพสิต

แผ่นแปะ Microneedles ผลิตขึ้นมาจากโพลิเมอร์คอมโพสิต (Polymer Composite) ที่มีความยืดหยุ่น และมีลักษณะคล้ายเข็มขนาดเล็กจำนวนมาก โดยเข็มเหล่านี้จะทำหน้าที่เจาะทะลุเมือกไบโอฟิล์มไปยังเนื้อเยื่อของแผล เพื่อส่งผ่านยาฆ่าเชื้อลงไปช่วยรักษาแผล แม้ว่าแผ่นแปะจะมีลักษณะคล้ายเข็ม แต่จะไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับคนไข้ เพราะเข็มที่มีขนาดเล็กและสั้นนั้นไม่สามารถเจาะถึงเส้นประสาทได้

จากการทดลองกับหมูในห้องทดลองพบว่าแผ่นแปะ Microneedles สามารถส่งผ่านยาฆ่าเชื้อประเภท Calcium Peroxide ผ่านชั้นไบโอฟิล์มไปยังเนื้อเยื่อนั้นใช้เวลาเพียง 5 นาที จากนั้นจะเกิดการผลิตออกซิเจนเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ โดยไม่ทำให้เกิดแผลเรื้อรัง

แม้จะยังไม่มีการทดลอง Microneedles กับคนไข้ที่เป็นมนุษย์ แต่ในอนาคตทีมวิจัยได้เตรียมที่จะทำการทดลองดังกล่าว และมั่นใจว่าหากการทดลองประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ต้องทนทรมานกับแผลติดเชื้อที่สร้างความเจ็บปวดให้กับคนไข้อีกต่อไป

ที่มา: www.purdue.edu
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง