"การบินไทย" ชี้เงินกู้รัฐไม่มาตามนัด 2.5 หมื่นล้านบาท

เศรษฐกิจ
1 พ.ย. 64
19:48
567
Logo Thai PBS
"การบินไทย" ชี้เงินกู้รัฐไม่มาตามนัด 2.5 หมื่นล้านบาท
การบินไทย คาดฐานะการเงินบริษัท พลิกกลับมาเป็นกำไร ในปี 2566 หากการเปิดประเทศไม่สะดุด พร้อมเตรียมเจรจาระดมเงินกู้ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเร่งจ่ายหนี้บัตรโดยสารล่วงหน้า หลังเงินกู้จากภาครัฐไม่เป็นไปตามแผน

วันนี้ (1 พ.ย.2564) คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และตัวแทนเจ้าหนี้ บริษัทการบินไทย แถลงข่าว ความคืบหน้าผลการดำเนินการครั้งแรก หลังศาลฯ เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564


นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทย สามารถลดค่าใช้จ่ายองค์กร ได้มากกว่า 44,800 ล้านบาท หลังปรับแก้สัญญาการเช่าและซ่อมบำรุงฝูงบิน การขายที่ดิน อาคาร เครื่องบิน ตลอดจนลดสวัสดิการ และลดจำนวนพนักงานลงมากกว่าครึ่ง 

ขณะนี้ยังเหลือภาระการจ่ายเงินชดเชยพนักงานอีก 1 ปี และหนี้ที่ต้องจ่ายเงินคืน ผู้โดยสารที่ซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้า ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทต้องได้รับเงินสินเชื่อเพิ่มทุนใหม่ วงเงิน 50,000 ล้านบาท แต่รัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดหาเงินกู้ จำนวน 25,000 ล้านบาท เนื่องจากติดขัดประเด็นทางการเมือง และข้อจำกัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง


บริษัท จึงเตรียมเจรจาสถาบันการเงิน ระดมเงินภาคกู้เอกชน จำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายหนี้เร่งด่วนดังกล่าว พร้อมยกเหตุผล หากรัฐไม่เพิ่มทุนใหม่เข้ามา อาจเสียโอกาสจากฟื้นตัวของบริษัท หลังพ้นวิกฤต COVID-19 ซึ่งคาดว่า สถานะของบริษัท จะพลิกกลับมาเป็นกำไร ในปี 2566 หากนโยบายเปิดประเทศไม่สะดุด


ทั้งนี้ นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทการบินไทย ยังคงเดินหน้าขายหุ้น บริษัทเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFS เพิ่มเติมอีก และเตรียมเปิดประมูลสิทธิมาสเตอร์ แฟรนไชนส์ ร้านเบเกอร์รี พัฟแอนด์ พาย เพื่อขยายสาขาให้ได้ 500 สาขา ภายในระยะเวลา 5 ปี ตามโมเดลธุรกิจเดียวกับร้านคาเฟ่ Amazon ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันของบริษัท ปตท. แต่สามารถทำรายได้หล่อเลี้ยงองค์กรได้มากกว่าธุรกิจหลัก หวังกระจายความเสี่ยงในอุตสาหกรรมการบินที่มีการแข่งขันรุนแรง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง