เบื้องหลัง "NSO Group" ผู้พัฒนาโปรแกรมเจาะระบบมือถือ

Logo Thai PBS
เบื้องหลัง "NSO Group" ผู้พัฒนาโปรแกรมเจาะระบบมือถือ
ข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งานสปายแวร์ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย ขณะที่บริษัท NSO Group ที่เป็นผู้พัฒนาโปรแกรม กำลังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ แม้บริษัทจะอ้างว่าผลิตภัณฑ์ใช้สำหรับการป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงเท่านั้น

NSO Group เป็นบริษัทสัญชาติอิสราเอล ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสอดแนมที่ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถป้องกันและสอบสวนเหตุก่อการร้ายและอาชญากรรมต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นข้อความที่ระบุไว้บนหน้าเว็บไซต์ของทางบริษัท ผู้พัฒนาโปรแกรมสปายแวร์ Pegasus

แต่ในทางปฏิบัติ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรอิสระภาคประชาชน รวมถึงเครือข่ายสื่อมวลชนที่นำโดยสื่อสำนักใหญ่อย่าง The Washington Post สืบสวนพบว่า ซอฟท์แวร์ของ NSO Group ถูกนำไปใช้เจาะระบบโทรศัพท์มือถือของสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน ผู้บริหารธุรกิจ และบุคคลใกล้ชิดของคนที่ตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาล

ในจำนวนนี้รวมถึงภรรยากับคู่หมั้นของจามาล คาชอกกี อดีตคอลัมนิสต์ของ The Washington Post ซึ่งถูกสังหารเมื่อปี 2561 ที่สถานกงสุลซาอุดิอาระเบีย ในนครอิสตันบูลของตุรกี คนใกล้ชิดของเขาทั้งคู่ถูกแฮกโทรศัพท์ก่อนและหลังการเสียชีวิตปริศนาของเขา

เช่นเดียวกับเจ้าหญิง Latifa พระธิดาในเจ้าผู้ครองนครดูไบ ซึ่งถูกหน่วยคอมมานโดตามไปจับตัวหลังพยายามหลบหนีจากพระบิดา เมื่อปี 2561 ซึ่งการสอบสวนโดย The Pegasus Project พบว่า หมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าหญิงและเพื่อนๆ อยู่ในรายชื่อเป้าหมายการเจาะข้อมูลโดยโปรแกรมสปายแวร์นี้

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ตกเป็นเป้าการเจาะข้อมูลโทรศัพท์มือถือด้วยโปรแกรมสปายแวร์เดียวกัน จนต้องเปลี่ยนทั้งเบอร์และโทรศัพท์ พร้อมสั่งยกเครื่องมาตรการความปลอดภัยร่วมด้วย

ล่าสุด บริษัทแอปเปิลยื่นเรื่องฟ้องร้อง NSO Group และบริษัทแม่ OSY Technologies ฐานสอดแนมและพุ่งเป้าโจมตีลูกค้าผู้ใช้งานของแอปเปิล ด้วยโปรแกรมสปายแวร์ Pegasus

เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำทางการค้าบริษัท NSO Group ที่นอกจากนี้ยังเผชิญคดีฟ้องร้องและเสียงวิจารณ์จากหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี เช่น Microsoft, Meta Platforms, Alphabet /และ Cisco Systems

ย้อนไปเมื่อปี 2563 the Citizen Lab เคยเปิดโปงการแฮกโทรศัพท์ของสื่อมวลชน ผู้ประกาศข่าว และผู้บริหารสื่อเจ้าดัง โดยข้อมูลเมื่อปลายปี 2563 มีตัวเลขสื่อมวลชนที่ตกเป็นเป้าสปายแวร์ของ NSO Group อย่างน้อย 50 คน ไม่นับรวมนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และคนในวงการอื่นๆ

ส่วนข้อมูลงานวิจัยที่จัดทำโดย the Citizen Lab ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2561 ระบุว่า พบความเคลื่อนไหวที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับโปรแกรมสปายแวร์ Pegasus ใน 45 ประเทศ และในรายชื่อประเทศเหล่านี้มีไทยรวมอยู่ด้วย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการวิเคราะห์ตำแหน่งของ DNS servers

ด้าน NSO Group ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ขณะที่เมื่อตรวจสอบบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัท พบว่ามีการระบุถึงการดำเนินงานที่ยึดมั่นในหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน เน้นป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ยังมีการประเมินโอกาสที่จะเกิดผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ สอดส่องประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมาตรการด้านธรรมาภิบาลของประเทศต่างๆ รวมถึงตั้งเงื่อนไขให้ลูกค้าของบริษัท จำกัดการใช้งานผลิตภัณฑ์เฉพาะสำหรับการป้องกันและสอบสวนอาชญากรรมร้ายแรง โดยไม่ใช้เพื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

อ่านข่าวอื่นๆ

เตือนระวัง Spyware จากบริษัทเทคโนโลยีสอดแนม NSO

"ณัฐชา" จี้นายกฯ แจงปมสปายแวร์สอดแนมนักกิจกรรมการเมือง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง