เปิดเอกสาร รฟฟท.ทุ่ม 1 ล้าน จ้างส่องโซเชียล จัด 100 Users โต้ตอบความเห็นเชิงลบ

สังคม
1 ธ.ค. 64
08:35
3,389
Logo Thai PBS
เปิดเอกสาร รฟฟท.ทุ่ม 1 ล้าน จ้างส่องโซเชียล จัด 100 Users โต้ตอบความเห็นเชิงลบ
รฟฟท. ทุ่มงบ 1 ล้าน จ้าง 9 เดือน มอนิเตอร์ข่าว “รถไฟฟ้าสายสีแดง” บนโซเชียลมีเดียทุกช่องทางทุกวัน ตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง-เที่ยงคืน พร้อมจัดทีม 100 Users เฝ้าระวัง-สื่อสารทางอ้อม-เบี่ยงประเด็น ไม่ให้กระทบภาพลักษณ์ ใช้เนื้อหาเชิงโน้มน้าวผ่าน 7 เพจ ด้านรถไฟ

วันนี้ (1ธ.ค.2564) รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ–รังสิต และบางซื่อ–ตลิ่งชัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ 05.30-24.00 น.

ล่าสุด เว็บไซต์ของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ได้เผยแพร่เอกสารรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ จ้างดำเนินการโครงการ Social Media Monitoring โดยมีวงเงินงบประมาณ 1 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 9 เดือนนับจากลงนามในสัญญา https://www.srtet.co.th/media/pdf/bidding/2e6dbfae7ba268b233bd60843c08f38b.pdf

รายงานข่าวระบุว่า สิ่งที่น่าจับตามองจากรายละเอียดในเอกสารดังกล่าวว่า เข้าข่ายปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO หรือไม่ เนื่องจากมีการระบุว่า

ผู้รับจ้างต้องจัดระบบการสื่อสารทางอ้อม (Seeding Service) โดยใช้บัญชีผู้ใช้งาน (User) ส่วนบุคคลทั่วไปจำนวน 100 บัญชี ในการทำ seeding เพื่อใช้สื่อสารทางอ้อม และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในกรณีต่างๆ
นอกจากนี้ ต้องสื่อสารแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดกระทบต่อภาพลักษณ์ของรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยเป็นการสร้างเนื้อหาในเชิงการแนะนำเปรียบเทียบโน้มน้าว และเบี่ยงเบนประเด็น

รวมถึงแบ่งปันในเชิงผู้มีประสบการณ์ในช่องทาง ได้แก่ Facebook RED Line BKK, ชมรมรถไฟฟ้าไทย Thailand Electrified Train Club, ชมรมรถไฟฟ้าไทย Thailand Sky Train Club, ชมรมโมโนเรลไทย Thailand Monorail Fanclub, ชมรมคนรักรถไฟฟ้า, ชมรมคนรัก Skytrain และรถไฟลิซึ่ม Trainlism

เอกสารระบุว่า ผู้รับจ้างต้องจัดหาเจ้าหน้าที่ติดตาม คัดกรองข้อมูลข่าวสารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าสายสีแดง บนสื่อสังคมออนไลน์โดยใช้เครื่องมือ social listening เพื่อเฝ้าระวังติดตาม

รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลโซเชียลมีเดียต่างๆ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ รวมวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 05.30-24.00 น. โดยมีเจ้าหน้าที่คอยส่งข้อมูลตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการ

เอกสารดังกล่าวยังระบุ ให้จัดหาเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามคัดกรองข้อมูลข่าวสารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทางรถไฟฟ้าสายสีแดงในช่องทาง Facebook Close group และรายงานให้ทางหน่วยงานรับทราบ

สรุปข้อมูลส่งผ่านไลน์กลุ่มอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ ผู้รับจ้างต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ข้อมูล Social Monitoring โดยเป็นข้อมูลสรุปตั้งแต่เดือนที่ 1-9 จำนวน 1 เล่มรายงาน

นอกจากนี้ บริหารจัดการดูแลความเคลื่อนไหวโซเชียลมีเดียหลักของรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยสร้างยอดปฏิสัมพันธ์ในเพจรถไฟฟ้าสายสีแดง 

ให้มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อโพสต์ โดยต้องมีการกดถูกใจ อย่างน้อย 100 ครั้งต่อโพสต์, มีการกดแชร์อย่างน้อย 15 ครั้งต่อโพสต์ และแสดงความคิดเห็นอย่างน้อย 25 ความคิดเห็นต่อโพสต์

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับใจความสำคัญของเอกสารดังกล่าว ระบุว่า ด้วย รฟฟท. ได้รับภารกิจเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าที่ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารจากใจกลางเมืองสู่ชานเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้แก่ผู้โดยสาร โดยในปัจจุบัน รฟฟท.เป็นที่รู้จักต่อประชาชนทั่วไปมากขึ้นตามลำดับ

ซึ่งในปัจจุบัน รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง นับเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่มีความสำคัญ โดยผู้ใช้บริการให้ความมั่นใจ และใช้บริการเป็นจำนวนมาก จากอัตราการใช้บริการของผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนสื่อสารองค์กรและลูกค้าสัมพันธ์ จึงได้เล็งเห็นถึงการดำเนินการจัดทำโครงการ Social Media Monitoring เพื่อให้การบริหารและเฝ้าระวังการพูดถึงรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ในแง่มุมต่างๆ บนโลกออนไลน์ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสามารถช่วยวิเคราะห์แนวโน้มของการพูดถึงเป็นไปในแง่บวกหรือแง่ลบได้ และทำให้ได้ทราบความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ และนำมาปรับปรุงการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

วัตถุประสงค์การจัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยสอดส่อง เฝ้าระวัง และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงทำให้สามารถรับรู้ และตอบสนองความต้องการของผู้มาใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว และทันใจมากขึ้น

 

อีกทั้ง ยังเพื่อให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการเกิดความรู้ ความเข้าใจในการให้บริการของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอย่างถูกต้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงแก้ไข และทำการประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลข่าวสารตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการให้บริการที่สอดคล้องตามเป้าหมาย สร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ผู้โดยสาร และประชาชนต่อไป

อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามไปไปยังหนึ่งในแอดมินเพจรถไฟฟ้า ได้รับความเห็นว่า ต้องการให้รถไฟฟ้า ของ รฟฟท. พัฒนาการบริการให้ดีจากศักยภาพในการบริหาร มากกว่าเข้ามาสอดส่องในกลุ่มหรือเพจเพื่อดูความเห็นเชิงลบ เพราะนั่นคือฟีดแบคของประชาชน ที่หน่วยงานของรัฐต้องนำไปปรับปรุงการให้บริการ ซึ่งในปัจจุบันหากหน่วยงานใดรับฟังเสียงของประชาชน จะได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่น มากกว่าทำตามนโยบายโดยไม่รับฟังเสียงของประชาชน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง