เทคโนโลยีที่เป็นความลับในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

Logo Thai PBS
เทคโนโลยีที่เป็นความลับในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เทคโนโลยีทางด้านการทหารในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายอย่างที่คิดค้นขึ้นในยุคนั้น ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีบางชนิดถูกคิดค้นหรือพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำลายล้างและชัยชนะในสงครามที่มีแต่ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เทคโนโลยีหลายอย่างที่ถูกคิดค้นขึ้นในยุคนั้นได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน 

เครื่องบินไอพ่น (Jet aircraft)

การพัฒนาเครื่องบินไอพ่นมีมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินไอพ่นได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดโดยกองทัพนาซีเยอรมัน เครื่องบินไอพ่นเครื่องแรกของโลกมีชื่อว่า Heinkel He 178 พัฒนาขึ้นในช่วงปี 1939 หลังจากนั้นกองทัพนาซีเยอรมันได้พัฒนาเครื่องบินไอพ่นแบบอื่น ๆ เช่น Messerschmitt Me 262 ส่วนกองทัพอังกฤษพัฒนาเครื่องบินไอพ่น Gloster E.28/39 ขึ้นมาในในช่วงปี 1941 ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินไอพ่นได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องออกมาหลายรูปแบบและได้กลายเป็นเครื่องบินเชิงพาณิชย์ที่ถูกใช้งานขนส่งผู้โดยสารข้ามทวีปในปัจจุบัน

จรวดเชื้อเพลิงเหลว (Liquid-propellant rocket)

แนวคิดของจรวดเชื้อเพลิงเหลวเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1903 จากบทความวิทยาศาสตร์ที่เขียนโดย Konstantin Tsiolkovsky ชาวรัสเซียแต่ยังคงเป็นแค่แนวคิดไม่ได้มีการพัฒนาจรวดเกิดขึ้น จนกระทั่งปี 1926 เกิดทดสอบจรวดเชื้อเพลิงเหลวครั้งแรกเกิดขึ้นโดย Robert H. Goddard ชาวสหรัฐอเมริกา ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพนาซีเยอรมันได้พัฒนาจรวดเชื้อเพลิงเหลว V-2 ใช้เชื้อเพลิงอีเทอร์นอลส์ (Eternals) และออกซิเจนเหลว (Liquid Oxygen) จรวดรุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นมากกว่า 3,000 ลูก ในระหว่างปี 1942 - 1945 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้นำต้นแบบของจรวด V-2 ไปพัฒนาต่อยอดเป็นจรวดขนส่งอวกาศและส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก รวมไปถึงภารกิจอวกาศในปัจจุบัน

คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก (Colossus computer)

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพนาซีเยอรมันได้นำเครื่องเข้ารหัสลับอีนิกมา (Enigma) เข้ามาใช้งานส่งข้อมูลความลับด้านการทหาร กองทัพอังกฤษได้จัดตั้งหน่วยพิเศษรวบรวมนักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อคิดค้นวิธีการแก้รหัสลับของเครื่องอีนิกมาโดยใช้สถานที่ลับชื่อว่าเบล็ตช์ลีย์พาร์ค (Bletchley Park) อยู่ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน เครื่องคอมพิวเตอร์โคลอสซัส (Colossus) ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมงานวิศวกร นักคณิตศาสตร์ใช้วงจรไฟฟ้าและทฤษฎีความน่าจะเป็น นักคณิตศาสตร์ในทีมงานพัฒนาที่มีชื่อเสียง เช่น แอลัน ทัวริง (Alan Mathison Turing) เครื่องคอมพิวเตอร์โคลอสซัส (Colossus) กลายเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ชุดแรกของโลกที่สามารถแก้รหัสลับอีนิกมาได้สำเร็จ

เพนิซิลลิน (Penicillin)

การค้นพบเพนิซิลเลียมเกิดขึ้นในช่วงปี 1928 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming) ค้นพบว่าเชื้อราสายพันธุ์เพนิซิลเลียม (Penicillium notatum) มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียแต่ในตอนนั้นยังไม่สามารถสกัดตัวยาออกมาใช้งานกับมนุษย์ จนกระทั่งช่วงปี 1939 โฮวาร์ด ฟลอรีย์ (Howard Florey) และเอิรน์ บอริส เชน (Ernst Boris Chain) สามารถสกัดตัวยาจากเชื้อราสายพันธุ์เพนิซิลเลียมได้สำเร็จและนำไปสู่การพัฒนาตัวยาเพนิซิลลินจำนวนมากเพื่อใช้รักษาอาการป่วยของทหารในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสิ้นสุดสงครามตัวยาเพนิซิลลินได้กลายเป็นตัวยาสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลกในเวลาต่อมา

ที่มาข้อมูลและภาพ:Business Insider, Wikipedia
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง