วินิจฉัยโรคฝุ่นเชิงรุก​ชาวลำพูน​ 1,000​ ​คน​ รู้ผลปอด-ภูมิแพ้ใน​ 1​ ชั่วโมง

สังคม
11 ธ.ค. 64
11:41
432
Logo Thai PBS
วินิจฉัยโรคฝุ่นเชิงรุก​ชาวลำพูน​ 1,000​ ​คน​ รู้ผลปอด-ภูมิแพ้ใน​ 1​ ชั่วโมง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอส-สสส.-ศธ.จัดตรวจเชิงรุก​ "สมรรถภาพปอด​-ภูมิแพ้ผิวหนัง" วินิจฉัยโรคฝุ่นให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงที่​ ร.ร.เวียงเจดีย์วิทยา จ.ลำพูน​ ​ พร้อมให้คำแนะนำ-ส่งต่อผู้ป่วยหนักรักษาใน​ รพ.ทันที​ ตั้งเป้าตรวจ 1,000​ คน

วันนี้​ (11 ธ.ค.2564)​ นักเรียน​ ประชาชนในพื้นที่​ และเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงทยอยเดินทางมาที่โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา อ.ลี้​ จ.ลำพูน​ ตั้งแต่เวลา​ 07.00  น.​ เพื่อเข้ารับการตรวจโรคฝุ่น

โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ​สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส​กับ​สสส​. และกระทรวงศึกษาธิการ  และ 9 ภาคีสภาลมหายใจภาคเหนือ ซึ่งลงพื้นที่ตรวจสุขภาพปอด ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง วัดระดับคาร์บอนนอกไซต์ ในพื้นที่​ จ.ลำพูน จำนวน 1,000 คน โดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

 

เด็กนักเรียนชั้น​ ป.5​ วัย​ 11​ ปี​ ในพื้นที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองตั้งแต่เช้าหลังทราบข่าวว่าจะมีการตรวจเชิงรุกในวันนี้

ความทรมานจากภูมิแพ้เกิดขึ้นตามแขนและขาในช่วงฤดูหนาวของทุกปีตั้งแต่อายุ​ 3  ขวบ​ กระทั่งเข้าสู่ช่วง​ 10 ปี​ ผื่นคันเริ่มลามขึ้นมาบริเวณใบหน้า

วันนี้ตั้งใจมาตรวจเพราะอยากรู้ว่าแพ้อะไร​ ทุกหน้าหนาวที่มีฝุ่นควันเยอะก็จะคันเลยอยากรู้ว่าเกี่ยวข้องกันไหม

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่อาสาดับไฟป่าเดินทางมาเข้ารับการตรวจจำนวนมาก​ โดยส่วนใหญ่หวังว่าจะได้รับคำแนะนำจากทีมแพทย์ในการรับมือกับฝุ่นควันระหว่างการปฏิบัติหน้าที่​ พร้อมกับการเช็กสุขภาพปอดของตัวเองหลังต้องลุยดับไฟป่ามานาน

 

One​ Stop​ Service​ ตรวจโรคทางเดินหายใจ​ รู้ไว-รักษาเร็ว

ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (TAC) หัวหน้าทีมแพทย์ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้การวินิจฉัยโรคจากฝุ่นเน้นการซักประวัติ​ ประกอบกับการวิเคราะห์สถิติฝุ่นในช่วงเวลาเดียวกัน​ ถือเป็นสถิติเชิงรับประกอบการสันนิษฐานโรค

ขณะที่วันนี้เป็นการตรวจเชิงรุกเพื่อเก็บสถิติเชิงลึก​ เน้นเรื่องระบบทางเดินหายใจ​ ทั้งการตรวจสมรรถภาพปอด​ ​45​ นาที​ เอกซเรย์ปอด​ประมาณ​ 1​ ชั่วโมง โดยมีนักเทคนิคการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาอ่านค่า​และแปลผลให้

 

นอกจากนี้​ ยังมีการตรวจสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง​ 1​5​ นาที​ โดยแพทย์เฉพาะทาง​ ก่อนจะให้คำแนะนำให้การปฏิบัติตัว​ จ่ายยา และประสานเข้ารักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่ทันทีสำหรับผู้ป่วยหนัก

ปัญหาที่หมอเจอในคนไข้ป่วยเรื้อรัง​ คือ​ คนไข้จะชินแล้วคิดว่าโรคนี้รักษาไม่ได้​ และคิดว่าชีวิตนี้ต้องทนกับมันตลอดชีวิต

ศ.ดร.พญ.อรพรรณ​ ระบุว่า​ ที่เลือก​ อ.ลี้​ เนื่องจากเป็นจุดที่พบไฟป่าหรือจุดฮอตสปอตมาก​ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่หุบเขา​ มีฝุ่นจากควันมากจึงเลือกบุกมาถึงโรงเรียนเพื่อให้ทราบปัญหาให้เร็วขึ้น​ นำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที

ทีมแพทย์จะใช้เวลา​ 1​ ปี​ ในการติดตาม​ผลการตรวจและรักษา พร้อมทำไทม์ไลน์ให้เห็นชัดเจนว่าโรคที่พบเกิดจากฝุ่นจริงหรือไม่

สำหรับโรคที่จะพบในวันนี้​ คาดว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ​มากกว่า​ 50% เช่น​ จมูกอักเสบ​ ภูมิแพ้​ หรือแพ้อากาศ​ โดยมีแบบสอบถามเชิงวิเคราะห์ที่เป็นมาตรฐานโลก​มาช่วยตรวจเพื่อความแม่นยำ รองลงมาคือ​ โรคหอบหืดซึ่งพบสถิติในเด็ก​ 10-15% และผู้ใหญ่​ 3-5% หากพบผู้ป่วยมากกว่านี้อย่างชัดเจนอาจสะท้อนว่ามีความเกี่ยวข้องกับฝุ่นได้

 

อีกโรคที่คาดว่าจะได้พบคือ​ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง​ เนื่องจากที่​ อ.ลี้​ มีคนทำงานเหมืองแร่​ ซึ่งอาจเป็นโรคปอดจากใยหิน การตรวจในวันนี้ก็จะมีการวินิจฉัยและนำมาศึกษาเชิงลึกต่อไป​ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ได้พบได้ง่าย​ ๆ

ชาวเหนือ​ 2.6  หมื่นคน​ ได้รับผลกระทบจากฝุ่น

ขณะที่นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.​ ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ จากข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 เมื่อเดือน​ มี.ค.2564 โดยพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน และลำพูน พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ถึง 26,614 คน

สำหรับกลุ่มโรคที่พบสูงสุด 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ ที่สำคัญยังพบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินหน้า​ "ห้องเรียนสู้ฝุ่น" 140 แห่ง​ทั่วไทย​ ประสานลาวร่วมฝ่าวิกฤต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง