เปิดรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของ กสม.

การเมือง
24 ธ.ค. 64
22:54
1,967
Logo Thai PBS
เปิดรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของ กสม.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงผลการตรวจสอบกรณีการชุมนุมปีนี้ (2564) ระบุมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ ขณะที่ผู้ชุมนุมบางกลุ่มใช้สิ่งเทียมอาวุธ เสนอรัฐเยียวยาผู้เสียหายทั้งผู้ชุมนุม ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ

วันนี้ (24 ธ.ค.2564) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายพิทยา จินาวัฒน์ และนายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญประจำปี 2564 กรณีการชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564

ซึ่ง กสม. มีมติในคราวการประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 53/2564 (28) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนอันเกี่ยวเนื่องกับกรณีการชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 หลายคำร้อง ประกอบกับพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 และ 18 ก.ค.2564 รวมทั้งเมื่อวันที่ 1 และ 7 ส.ค.2564 อาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

จึงได้มีมติให้ตรวจสอบและตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ โดยได้รับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ทั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (เจ้าหน้าที่ คฝ.) หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน ผู้พักอาศัยบริเวณรอบพื้นที่การชุมนุม และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

รวมทั้งจัดให้มีเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง และการคุ้มครองสิทธิเด็กในสถานการณ์การชุมนุม ร่วมกับตัวแทนผู้ชุมนุม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านสันติวิธี และนักจิตวิทยาเด็ก นอกจากนี้ยังได้เฝ้าระวังสถานการณ์ และลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนลงพื้นที่ไปติดตามการจับกุมผู้ถูกจับกุมเพื่อตรวจสอบและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย

 

จากการตรวจสอบ พบว่า การชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 เป็นการรวมตัวของประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมือง เพื่อแสดงความเห็นและมีข้อเรียกร้องปฏิรูปทางการเมืองควบคู่กับข้อเรียกร้องต่อมาตรการของรัฐบาล ในการบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19)

โดยมีรูปแบบการชุมนุมที่สำคัญ 3 รูปแบบ คือ (1) การชุมนุมที่เป็นการประท้วง การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ (2) การชุมนุมในรูปแบบกิจกรรม “คาร์ม็อบ (Car Mob) และ “ไบก์ม็อบ” (Bike Mob) และ (3) การชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนการชุมนุมอย่างชัดเจน โดยการตรวจสอบมีประเด็นที่ กสม. ได้พิจารณาและมีความเห็น ดังนี้

1.การใช้อำนาจรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม พิจารณาว่ามีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ พบว่า การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548) เพื่อจัดการและควบคุมการชุมนุมของรัฐบาล

มีแนวโน้มเป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวมและห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด และไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุม กับความปลอดภัยสาธารณะ (การป้องกันภัยทางสาธารณสุข)

นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมและดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 และกฎหมายอื่น ซึ่งถือเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม จึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม

ส่วนการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม พบว่า หลายกรณี เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้ใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนด้วยวิธีการไม่เหมาะสม เช่น ใช้กระบองในลักษณะที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง ยิงกระสุนยางในแนวสูงระดับศีรษะ หรือ ยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปตกในที่พักอาศัยของประชาชน อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558

และไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement)

 

ขณะที่การใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุมนั้น หลายกรณีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ เช่น การใช้กระสุนยางยิงสกัดการหลบหนี การขับรถยนต์ตัดหน้าเฉี่ยวชนหรือถีบรถจักรยานยนต์จนล้มลง

ซึ่ง กสม. เห็นว่า แม้ผู้ที่ถูกจับกุมจะมีการใช้ความรุนแรงในการแสดงออกร่วมอยู่ แต่ไม่มีเหตุจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องใช้วิธีการรุนแรงโดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาโดยเฉพาะการเข้าจับกุมเด็กและเยาวชน จึงเป็น
การกระทำที่ไม่เหมาะสม และไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำหรับการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พบว่า มีการใช้เครื่องพันธนาการในการจับกุมเด็กและเยาวชน ซึ่งขณะที่ถูกจับกุมในบางกรณีเยาวชนไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือต่อสู้ขัดขวาง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่สายรัดข้อมือ (Cable Tie) เป็นเครื่องพันธนาการ และยังปรากฏกรณีเยาวชนถูกควบคุมตัวร่วมกับผู้ต้องหาผู้ใหญ่ โดยไม่มีการแยกให้อยู่ในสถานที่พิเศษเป็นการเฉพาะ

นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ถูกจับกุมถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับหรือที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เช่น ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี (ตชด. ภาค 1) ส่งผลให้ทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ต้องหา เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ในทันที

ขณะที่การดำเนินคดีบางกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิของผู้ถูกจับกุม หรือไม่ยินยอมให้ติดต่อญาติ ซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

ในประเด็นการปล่อยชั่วคราว ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ถูกจับและควบคุมตัวที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันและมีประกัน และมีกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลพฤติการณ์ในการกระทำความผิดครั้งหลัง ผิดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออาจมีการกระทำผิดซ้ำ

กสม. เห็นว่า กรณีนี้แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของศาล แต่การพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวควรยึดหลักที่ว่าทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวนั้นต้องเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรตามที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อาญา. เท่านั้น

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด และสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี

2.ความเห็นต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน แม้การชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 จะอยู่ในช่วงเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่การชุมนุมในรูปแบบกิจกรรม “คาร์ม็อบ” (Car Mob) และไบก์ม็อบ (Bike Mob) ซึ่งเป็นการขับขี่ยานพาหนะไปตามเส้นทางต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายในการป้องกัน
การแพร่ระบาดของโรค

อีกทั้งไม่ปรากฏการใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมในลักษณะที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลอื่น ส่วนกรณีที่มีเหตุใช้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมยุติหรือ เชื่อได้ว่าเกิดขึ้นจากมวลชนที่ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการชุมนุม เช่นเดียวกับการชุมนุมที่เป็นการประท้วง

การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองและไม่มีจุดประสงค์ในการใช้ความรุนแรง การชุมนุมทั้งสองรูปแบบนี้จึงถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี รูปแบบการชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนอย่างชัดเจน โดยที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้สิ่งเทียมอาวุธตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงและมิใช่การชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการบังคับทางกฎหมายได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลักความเหมาะสมและได้สัดส่วน โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน

 

3.ความเห็นต่อผลกระทบและการเยียวยาความเสียหายจากสถานการณ์การชุมนุม เห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นการเฉพาะ

แม้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 13 มิถุนายน 2560 จะกำหนดให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำกฎหมายหรือระเบียบ เงื่อนไขและวิธีการช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณี แต่ปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จและยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในประเด็นนี้

4.ความเห็นต่อกรณีการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การชุมนุม พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีการแยกแยะกลุ่มเด็กออกจากกลุ่มผู้ใหญ่ในการชุมนุม รวมทั้งไม่ปฏิบัติต่อเด็กด้วยวิธีการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งในเรื่องการใช้กำลังในการควบคุมดูแลการชุมนุม และปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม

ซึ่ง กสม.ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อเดือนกันยายน 2564 ซึ่งหน่วยงานเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะของ กสม.

 

จากผลการตรวจสอบและความเห็นข้างต้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สรุปได้ดังนี้

ในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องงดเว้นการใช้ลวดหีบเพลงแถบหนามเป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชน ปรับปรุงวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คฝ. ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและหลักสากล

รวมทั้งต้องจัดให้ผู้ถูกจับกุมทุกคนได้รับสิทธิที่พึงมีตามกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนหลีกเลี่ยงการกระทำ อันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ถูกจับกุมในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ให้คณะรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 เป็นไปเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคง ไม่อาจนำไปใช้ในการชุมนุมทางการเมืองทั่วไป และควรมอบหมายกระทรวงยุติธรรมเร่งรัดการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบกลางในการช่วยเหลือเยียวยา ที่ครอบคลุมทุกกรณี รวมทั้งกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองโดยเร็ว

ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้การควบคุมการชุมนุมกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ โดยการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมต้องให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ศาลยุติธรรมพิจารณากำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว ให้สอดคล้องกับหลักการที่รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรองและคุ้มครอง และควรพิจารณามาตรการอื่นแทนการคุมขังด้วย

พร้อมกันนี้ กสม. มีข้อเสนอแนะต่อการจัดการชุมนุม ซึ่งต้องเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธและสิ่งเทียมอาวุธ โดยต้องคำนึงถึงสิทธิและความปลอดภัยของบุคคลอื่นรวมถึงความรับผิดชอบต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากอันตรายในการชุมนุม และการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และเหตุอื่น โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งควรมีช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล

รายงานฉบับสรุปมีดังนี้

รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เรื่องเสรีภาพในการชุมนุม อันเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิเด็ก สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการเดินทาง กรณีการชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2564


1.ความเป็นมา
จากการประมวลสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 และ 18 กรกฎาคม 2564 รวมทั้งเมื่อวันที่ 1 และ 7 สิงหาคม 2564 อาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีมติเห็นสมควรให้มีการตรวจสอบ ตามคำร้องที่ 147/2564 คำร้องที่ 154/2564 และคำร้องที่ 155/2564

นอกจากนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 ดังนี้

(1) คำร้องที่กล่าวอ้างว่า รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ร้องเรียนเห็นว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมและสลายการชุมนุม การจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม

รวมทั้งการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบในการแทรกแซงและจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม จึงขอให้ตรวจสอบ จำนวน 7 คำร้อง ได้แก่ คำร้องที่ 151/2564 คำร้องที่ 158/2564 คำร้องที่ 166/2564 คำร้องที่ 182/2564 คำร้องที่ 186/2564 และคำร้องที่ 206 – 207/2564

(2) คำร้องที่กล่าวอ้างว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีการชุมนุมคาร์ม็อบ (Car Mob) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 7 และ 15 สิงหาคม 2564 ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงขอให้ตรวจสอบ ตามคำร้องที่ 167/2564

(3) คำร้องที่ขอให้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อเยียวยาความเสียหาย ตามคำร้องที่ 164/2564

2.ประเด็นการตรวจสอบ
กรณีมีปัญหาที่ต้องพิจารณา 4 ประเด็น ดังนี้
1. การใช้อำนาจรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม
1.1 การจัดการและการควบคุมดูแลการชุมนุมของรัฐมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
1.2 การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุมมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
1) การใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนต่อผู้ชุมนุม
2) การใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุม
1.3 การดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
1) การใช้เครื่องพันธนาการและการควบคุมตัว
2) การแจ้งสิทธิหรือให้สิทธิแก่ผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหา
3) ข้อกล่าวหาและฐานความผิด
4) การปล่อยชั่วคราว

 

2.ความเห็นต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
3.ความเห็นต่อผลกระทบและการเยียวยาความเสียหาย
4.ความเห็นต่อกรณีการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การชุมนุม

3.ผลการพิจารณา
1.การใช้อำนาจรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม
1.1 การจัดการและการควบคุมดูแลการชุมนุมของรัฐมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดการและการควบคุมดูแลการชุมนุมของรัฐ โดยการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีแนวโน้มที่เป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวม และห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด ไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุม กับความปลอดภัยสาธารณะ (การป้องกันภัยทางสาธารณสุข)

ดังจะเห็นได้จากการประกาศแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่า การชุมนุมเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และการนำสิ่งกีดขวางทางกายภาพ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ แผงเหล็ก และโดยเฉพาะการนำลวดหีบเพลงแถบหนามซึ่งเป็นวัตถุที่มีความอันตรายอาจทำให้เกิดการได้รับบาดเจ็บได้ มาวางปิดกั้นเส้นทางของผู้ชุมนุมตั้งแต่ก่อนจะถึงเวลานัดหมายการชุมนุม และเป็นการวางในระยะที่ห่างไกลกับสถานที่ซึ่งเป็นเป้าหมายของผู้ชุมนุม ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจในบริเวณที่มีการวางสิ่งกีดขวางจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนั้นยังมีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมในเวลาต่อมาและดำเนินคดีในความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกฎหมายอื่น ถือเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม กรณีจึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องต่อข้อคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 (General Comment No.37 on the right of peaceful assembly) เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Human Rights Committee)

1.2 การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุมมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

1) การใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนต่อผู้ชุมนุม
จากการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนในหลายเหตุการณ์ที่เกิดการปะทะกัน สามารถสรุปการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนแต่ละประเภทในภาพรวมได้ ดังนี้
1.1) การใช้กระบอง
ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนมีการแจ้งเตือนก่อนการใช้กระบองกับผู้ชุมนุม อีกทั้งมีการใช้กระบองในลักษณะที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงหลายครั้ง
1.2) การใช้รถควบคุมฝูงชนฉีดน้ำแรงดันสูง
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการผสมแก๊สน้ำตาและสารเคมีสีม่วงในน้ำหลายครั้ง ส่วนใหญ่ประกาศแจ้งเตือนว่าจะมีการฉีดน้ำ แต่บางครั้งก็ไม่ได้มีการแจ้งเตือนก่อน หรือบางกรณีการประกาศแจ้งเตือนมีเสียงที่เบามากทำให้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ได้ยินการแจ้งเตือน ในหลายครั้งพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฉีดน้ำไปทางสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่และผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ก่อความรุนแรง อีกทั้งยังพบว่ามีการฉีดน้ำจากทางยกระดับลงมาใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านล่างด้วย

1.3) การใช้แก๊สน้ำตา
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลายครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งเตือนอย่างชัดเจนว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตา บางกรณีแจ้งเตือนในระยะแรกเริ่มของการใช้ แต่หลังจากนั้นไม่ได้มีการแจ้งเตือนอีก ในบางสถานการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่อง บางกรณีพบว่ามีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปตกในที่พักอาศัยของประชาชนและอาคารบริษัทเอกชน

และพบว่ามีผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้รับผลกระทบจากกลิ่นควันของแก๊สน้ำตา ซึ่งมีเด็กเล็กรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการยิงแก๊สน้ำตาในระดับขนานกับพื้น โดยไม่ใช่การยิงด้วยมุมสูง

1.4) การใช้กระสุนยาง
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลายครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งเตือนผู้ชุมนุมให้ทราบก่อน บางกรณีมีการแจ้งเตือนเพียงแค่ครั้งแรก แต่หลังจากนั้นไม่ได้แจ้งเตือนอีก ทั้งยังพบว่ามีการยิงกระสุนยางในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง ได้แก่ การยิงในแนวสูงระดับศีรษะ การยิงจากบนรถกระบะขณะเคลื่อนที่จับกุม การยิงจากบริเวณที่สูงลงมา การยิงในระยะประชิด การยิงใส่ผู้ชุมนุมที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่มีอาวุธหรือเป็นผู้ก่อความรุนแรง รวมถึงการระดมยิงโดยไม่แยกแยะและไม่เลือกเป้าหมายว่าผู้ที่อยู่ในแนววิถีการยิงเป็นผู้ที่ก่อความรุนแรงหรือไม่

 

ซึ่งส่งผลให้มีผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บ ทั้งการบาดเจ็บเล็กน้อยและการบาดเจ็บที่รุนแรงโดยเฉพาะบริเวณศีรษะและดวงตา นอกจากนี้ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางเข้าไปในบริเวณอาคารที่พักอาศัยของประชาชนด้วย

โดยสรุปแล้วเห็นว่า การใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 และไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) กรณีจึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

2) การใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุม
จากการตรวจสอบพบว่า ในระยะหลัง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าทำการจับกุมผู้ชุมนุมมักจะใช้ “ชุดเคลื่อนที่เร็ว” เข้ารุกไล่จับกุม ซึ่งในหลายกรณีปรากฏว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมมักจะได้รับบาดเจ็บจากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิงสกัดการหลบหนี

บางกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้วิธีการขับรถยนต์ตัดหน้าจนทำให้รถจักรยานยนต์ล้มลง และใช้กระบองตีไปที่ผู้ชุมนุมพร้อมเข้าจับกุม บางคราวขับรถกระบะเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมก่อนเข้าจับกุม หรือมีการคว้าตัวผู้ชุมนุมที่กำลังขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีจนรถล้ม และรุมเข้าจับกุม

อีกทั้งยังพบว่ามีการผลักรถจักรยานยนต์ให้ล้มก่อนเข้าจับกุม หรือการขว้างโล่และใช้เท้าถีบไปที่รถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมที่กำลังขับรวมกลุ่มกันจนล้มระเนระนา

พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ที่ถูกจับกุมจะมีการใช้ความรุนแรงในการแสดงออกร่วมอยู่ด้วย แต่ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้วิธีการเข้าจับกุมโดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมา

ทั้งผู้ถูกจับกุมส่วนหนึ่งยังเป็นเยาวชน บางรายมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ การใช้กำลังจับกุมดังกล่าวนั้น จึงเป็นไปโดยไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม กรณีจึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

1.3 การดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

1) การใช้เครื่องพันธนาการและการควบคุมตัว
1.1) จากการตรวจสอบพบว่า มีการใช้เครื่องพันธนาการในการจับกุมเด็กและเยาวชน ซึ่งขณะที่ถูกจับกุมในบางกรณีนั้น ผู้ต้องหาได้แจ้งว่าเป็นเยาวชน หรือไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือต่อสู้ขัดขวาง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่สายรัดข้อมือ (Cable Tie) เป็นเครื่องพันธนาการ

พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการจับกุมเด็กและเยาวชนโดยมีการใช้เครื่องพันธนาการทั้งในขณะที่จับกุมและระหว่างควบคุมตัวดังกล่าว ทั้งที่ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าเด็กหรือเยาวชนที่ถูกจับกุมนั้นจะหลบหนีหรือต่อสู้ขัดขวางแต่อย่างใด เป็นการละเมิดสิทธิของเด็กและเยาวชนในการจับกุมและควบคุมตัว อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

1.2) จากการตรวจสอบพบว่า มีกรณีเยาวชนถูกควบคุมตัวโดยไม่มีการแยกให้อยู่ในสถานที่พิเศษเป็นการเฉพาะ อีกทั้งบางกรณีมีการนำตัวผู้ถูกจับกุมซึ่งเป็นเยาวชนไปควบคุมตัวไว้ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ร่วมกับผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ โดยไม่มีการแยกพื้นที่ควบคุมตัวอย่างเป็นสัดส่วน

พิจารณาแล้วเห็นว่า การควบคุมตัวเยาวชนในสถานที่และลักษณะดังกล่าวเป็นไปโดยไม่เหมาะสมและไม่ได้คำนึงถึงสภาวะของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเยาวชนที่ถูกควบคุมตัว

1.3) จากการตรวจสอบประเด็นเรื่องระยะเวลาการควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีการควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนไว้เกินกว่าระยะเวลาตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดแต่อย่างใด

1.4) จากการตรวจสอบประเด็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมนั้น พบว่ามีผู้ถูกจับกุมถูกนำตัวไปควบคุมและสอบสวนที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รวมถึงสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับหรือที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

พิจารณาแล้วเห็นว่า การควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี รวมถึงสถานที่อื่นซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่เกิดเหตุหรือที่ถูกจับ ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถูกจับหลายประการ ทั้งการที่ทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ต้องหาได้ในทันที ทำให้การให้ช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งในบางกรณีมีการยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ถูกจับและไม่อนุญาตให้ทนายความนำโทรศัพท์เข้าไปได้ ทำให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย รวมทั้งยังมีการจำกัดการเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติ

2) การแจ้งสิทธิหรือให้สิทธิแก่ผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหา
จากการตรวจสอบพบว่า การดำเนินคดีบางกรณีในระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุม ไม่ยินยอมให้ติดต่อญาติหรือผู้ไว้วางใจเพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานที่ที่ถูกจับ

พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในลักษณะเช่นว่านั้น ย่อมไม่เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

 

นอกจากนี้ เมื่อขั้นตอนและกระบวนการในลักษณะดังกล่าวไม่มีทนายความเข้าร่วมด้วย อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาอาจถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่าง ๆ อีก เช่น การถูกยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือถูกบังคับให้ลงลายมือชื่อในเอกสาร

กรณีนี้จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควรจะต้องเคารพและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

3) ข้อกล่าวหาและฐานความผิด

จากการตรวจสอบพบว่า มีการดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้ชุมนุมในข้อหาและฐานความผิดจากลักษณะและพฤติการณ์อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการชุมนุมตามพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ จะมีการตั้งข้อหาและฐานความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนคำสั่งของจังหวัดนั้น ๆ ในเรื่องมาตรการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทั้งยังพบมีการดำเนินคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับการจราจร หรือการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมซึ่งใช้สิ่งเทียมอาวุธ เช่น ระเบิดปิงปอง วัตถุติดไฟ (ระเบิดเพลิง) ในข้อหาหรือฐานความผิดซึ่งมักจะมีลักษณะเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา

พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินคดีในข้อหาหรือฐานความผิดข้างต้น ถึงแม้ว่าจะเป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่อาจส่งผลกระทบต่อกรณีที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

รวมถึงการดำเนินคดีในบางกรณีอาจทำให้เกิดความกลัวที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ตลอดจนเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ เช่น การดำเนินคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับการจราจร หรือการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ดังนั้นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายจึงควรพิจารณาถึงความได้สัดส่วนและความจำเป็นในการใช้มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยกับการดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตลอดจนไม่กระทำการอันใดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ

4) การปล่อยชั่วคราว
จากการตรวจสอบพบว่า จากเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้น มีทั้งกลุ่มผู้ถูกจับและควบคุมตัวที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกัน กลุ่มที่ถูกนำตัวไปศาลเพื่อขอให้ออกหมายขังแต่ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือไม่มีประกัน และกลุ่มที่ถูกนำตัวไปศาลเพื่อขอให้ออกหมายขังและศาลมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวจะต้องถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำ

และมีกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลที่ว่า พฤติการณ์ในการกระทำความผิดครั้งหลังนั้นเป็นการผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวในคดีเดิม หรือกรณีที่ศาลให้เหตุผลไว้ว่าอาจมีการกระทำความผิดซ้ำ

นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกคุมขังที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวด้วยเหตุผลที่มีลักษณะเป็นการเฉพาะตัวและแตกต่างไปจากกรณีอื่น เช่น กรณีของบุคคลต่างด้าวซึ่งศาลไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนจึงเกรงว่าจะหลบหนี และกรณีเยาวชนอายุ 16 ปีซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเนื่องจากไม่มีญาติเดินทางมารับรองการประกันตัว

พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในบางกรณีนั้น ถึงแม้ว่าการมีคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวจะเป็นกรณีการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของศาล แต่การสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวดังกล่าว ควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญแก่หลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด

และหลักการที่ว่า ทุกคนพึงมีสิทธิได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

2.ความเห็นต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
จากการตรวจสอบพบว่า การชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 อยู่ในช่วงเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมเพื่อประท้วงรัฐบาล

มีการตั้งข้อสังเกตว่า การชุมนุมในปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัยของผู้ชุมนุมซึ่งบางส่วนเป็นเด็กและเยาวชนที่มีอายุน้อย โดยมีการแสดงออกถึงความรุนแรงมากขึ้น การตอบโต้จากรัฐเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ปฏิกิริยาของผู้ชุมนุมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยรูปแบบการชุมนุม

ที่สำคัญในห้วงเวลาดังกล่าวสามารถแยกพิจารณาได้ 3 รูปแบบ คือ 1) รูปแบบของการชุมนุมที่เป็นการประท้วง การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ 2) รูปแบบของการชุมนุมที่เป็นการขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ประท้วง ซึ่งเรียกว่ากิจกรรม “คาร์ม็อบ” (Car Mob) และ “ไบก์ม็อบ” (Bike Mob) และ 3) รูปแบบของการชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนการชุมนุมอย่างชัดเจน

พิจารณาแล้วเห็นว่า ถึงแม้การชุมนุมทางการเมืองจะอยู่ในช่วงเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีการออกข้อกำหนดห้ามการรวมกลุ่มของบุคคลเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันถือเป็นข้อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธได้ตามกฎหมาย แต่การพิจารณาจำกัดเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธควรพิจารณาอย่างเคร่งครัด ซึ่งสามารถพิจารณาได้เป็นรายกรณีไป ตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน

จึงเห็นว่า การชุมนุมในรูปแบบกิจกรรม “คาร์ม็อบ” (Car Mob) และไบก์ม็อบ (Bike Mob) เพื่อมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก โดยผู้ชุมนุมขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เคลื่อนตัวไปตามเส้นทางต่าง ๆ ลักษณะการชุมนุมนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายของผู้จัดการชุมนุม

รวมทั้งผู้ชุมนุมในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมในลักษณะที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่น หรือทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เนื่องจากเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นภายหลังผู้จัดการชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว หรือการใช้ความรุนแรงเชื่อได้ว่า เกิดขึ้นจากมวลชนที่ไม่อยู่ในภายใต้เงื่อนไขการชุมนุม ซึ่งผู้จัดการชุมนุมได้มีความพยายามในการห้ามปรามแล้ว

ส่วนการชุมนุมที่เป็นการประท้วง การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบนั้น การชุมนุมลักษณะนี้โดยทั่วไปยังคงเป็นการชุมนุมที่ไม่มีจุดประสงค์ในการใช้ความรุนแรง เพื่อแสดงออกถึงจุดประสงค์ทางการเมืองในการเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อถึงรัฐบาล แม้ไม่มีการวางมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ผู้ชุมนุมอาจป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยของตนเอง

อีกทั้งตามข้อคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 (General Comment No. 37 on the right of peaceful assembly) เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Human Rights Committee) ได้ระบุหลักการไว้ว่า การชุมนุมที่มีแต่เพียงการผลักหรือดันกัน หรือการขัดขวางการเคลื่อนที่ของยานพาหนะของผู้คน หรือการขัดขวางการทำกิจวัตรประจำวันไม่ถือว่าเป็นความรุนแรง

จึงเห็นว่า การชุมนุมทั้งสองรูปแบบนี้ถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า การชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนมีการทุบ เตะ ถีบไปที่โล่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ชุมนุมซึ่งสวมใส่หมวกกันน็อกคนหนึ่งได้ใช้ก้อนอิฐทุบเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนนอกเครื่องแบบ การกระทำลักษณะดังกล่าวถือเป็นการใช้ความรุนแรงอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวมิได้สวมใส่เครื่องแบบปฏิบัติหน้าที่จับกุมจนทำให้เกิดเหตุดังกล่าว

สำหรับรูปแบบของการชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนการชุมนุมอย่างชัดเจน การชุมนุมภายหลังจากที่มีการประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว รวมทั้งการชุมนุมภายหลังล่วงเลยกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนดออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นมวลชนที่ใช้แนวทางการใช้กำลังและสิ่งเทียมอาวุธ เช่น ระเบิดปิงปอง วัตถุติดไฟ (ระเบิดเพลิง)

 

หรือตอบโต้ด้วยการขว้างปาสิ่งของดังกล่าว ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่การชุมนุม รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการและของผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่การชุมนุมด้วย

การชุมนุมในรูปแบบนี้จึงถือเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง มิใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการดูแลการชุมนุมอาจใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมาย ในการจัดการหรือควบคุมการชุมนุมนั้นได้ตามกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการการใช้กำลังเข้าควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากต้องเป็นไปตามกฎหมายแล้ว ยังต้องคำนึงถึงหลักความเหมาะสมและความได้สัดส่วนเพื่อให้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมได้รับผลกระทบน้อยที่สุดด้วย

โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่มาชุมนุม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน และคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์สูงสุดของเด็ก รวมทั้งควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนโดยใช้วิธีการเปิดพื้นที่พูดคุยและเจรจาเพื่อรับฟังปัญหาของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้

3.ความเห็นต่อผลกระทบและการเยียวยาความเสียหาย
จากการตรวจสอบพบว่า ผลกระทบจากการชุมนุมและสลายการชุมนุมก่อให้เกิดการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ และการบาดเจ็บทางร่างกายและสภาพจิตใจของทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้พักอาศัยใกล้จุดปะทะ รวมทั้งผู้เดินทางผ่านพื้นที่ชุมนุม

ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่งเป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนและการใช้สิ่งเทียมอาวุธต่าง ๆ ผลจากแก๊สน้ำตา ความเดือดร้อนจากเสียงรบกวนเป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนานหลายวัน รวมทั้งผลกระทบจากการรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ส่วนตัว และความเสียหายต่อทรัพย์สิน

พิจารณาแล้วเห็นว่า ระบบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นการเฉพาะที่ชัดเจน ในอดีตหลายครั้งใช้การดำเนินการโดยมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเยียวยาที่แตกต่างกัน

แม้จะมีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ที่ให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำกฎหมายหรือระเบียบ เงื่อนไขและวิธีการช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณี

แต่ปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม มีผลให้ประเทศไทยยังคงไม่มีกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานกลางในการพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาทุกกรณี ซึ่งรวมถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

และแม้ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาหลายฉบับซึ่งบางกรณีอาจครอบคลุมที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองได้ แต่ยังพบปัญหาความไม่สะดวกในการเข้าถึงการเยียวยาทั้งในมิติกฎหมาย มิติการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และกลไกการเยียวยาที่มีอยู่ ซึ่งมีผลให้ประชาชนเสียสิทธิในการได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในประเด็นนี้

4.ความเห็นต่อกรณีการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การชุมนุม
ผลจากการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีการแยกแยะกลุ่มเด็กออกจากกลุ่มผู้ใหญ่ในการชุมนุม รวมทั้งไม่ปฏิบัติต่อเด็กด้วยวิธีการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งในเรื่องการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม และปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม

ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้น โดยจัดประชุมเพื่อแสวงหาทางออกและจัดทำข้อเสนอแนะ กรณีสิทธิเด็กในสถานการณ์ชุมนุม (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 และได้มีข้อเสนอแนะในการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก

รวมถึงการปกป้อง คุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามหนังสือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ สม 0004/2353 – 2355 ลงวันที่ 10 กันยายน 2564 พร้อมทั้งจัดประชุมติดตามผลความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งปรากฏผลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

4.ข้อสรุป
1.ข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องดำเนินการ ดังนี้
1) งดเว้นการใช้ลวดหีบเพลงแถบหนามเป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชน และพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558

2) กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลังในการรักษาความสงบเรียบร้อยใน
การชุมนุมโดยเคร่งครัด และต้องไม่กระทำการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการสร้างเงื่อนไขหรืออาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจนำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือ การตอบโต้ หรือแม้กระทั่งการทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม

3) ปรับปรุงวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนในการใช้กำลังและการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายและหลักสากล ทั้งนี้ ควรมีการกำกับดูแลควบคุมและสั่งการตามลำดับชั้นบังคับบัญชา รวมทั้งต้องกำชับให้ใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมต้องเหมาะสมและพอสมควรแก่เหตุกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม และให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสม ตลอดจนระมัดระวังเพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ

4) เร่งรัดดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อนำตัวบุคคลผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายทุกกรณี รวมทั้งหากการกระทำความผิดเช่นว่านั้นก่อให้เกิดความเสียหายประการใด จะต้องเร่งดำเนินการเยียวยาความเสียหายดังกล่าวตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป

5) งดเว้นการใช้เครื่องพันธนาการในการจับกุมเด็กและเยาวชนทั้งในขณะที่จับกุมและระหว่างควบคุมตัว

6) ห้ามนำตัวเด็กไปไว้ในห้องคุมขัง ในกรณีที่จำเป็นต้องกำหนดสถานที่ควบคุมตัวเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ ในลักษณะที่ไม่ใช่การกักขังในห้องคุมขัง โดยต้องแยกพื้นที่ควบคุมตัวเด็กและเยาวชนต่างหากจากผู้ใหญ่ เช่น สถานฝึกอบรม สถานบำบัดฟื้นฟู หรือสถานที่อื่นที่เหมาะสม ทั้งนี้ เมื่อมีการควบคุมตัวเด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเปิดเผยสถานที่แห่งนั้นให้สาธารณชนทราบโดยทันที โดยพิจารณาภายใต้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน

7) เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการหรือจัดให้ผู้ถูกจับกุมทุกคนได้รับสิทธิที่พึงมีตามกระบวนการยุติธรรม และควรหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ถูกจับกุมในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย เช่น การไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบในทันที การจำกัดการเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติ รวมถึงการยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์ติดต่อสื่อสารของผู้ถูกจับกุม ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้

2.ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

2.1 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1) หลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในการควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคง ไม่อาจนำไปใช้ในการชุมนุมทางการเมืองในลักษณะทั่วไปได้ เพราะอาจก่อให้เกิดการจำกัดหรือลดทอนการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เว้นแต่การชุมนุมนั้นได้แปรเปลี่ยนไปสู่สถานการณ์วิกฤต หรือการจลาจลที่กระทบต่อความมั่นคง

2) เร่งรัดการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบกลางที่กำหนดเงื่อนไขและวิธีการใน
การช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณี โดยมอบหมายกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักกิจการยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาศึกษาและจัดทำกฎหมายดังกล่าว

3) มอบหมายให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงดำเนินการให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกฝ่าย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันและเปิดพื้นที่ในการใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยปราศจากความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ

2.2 ให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ครอบคลุมการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง

โดยให้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ขอรับความช่วยเหลือจากการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเป็นผู้มีสิทธิขอรับความช่วยเหลือ ตามข้อ 9 (5) ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในระหว่างการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขและวิธีการ ช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณียังไม่แล้วเสร็จ

2.3 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1) กำหนดแนวทางปฏิบัติให้การควบคุมและจัดการการชุมนุมควรต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ และหลีกเลี่ยงการใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเป็นผู้ควบคุมหรือจัดการการชุมนุม

2) กำชับให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาอย่างเคร่งครัด ทั้งการแจ้งสิทธิและให้สิทธิแก่ผู้ถูกจับและผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

3) กำชับแนวทางปฏิบัติต่อการดำเนินคดีกับแกนนำหรือผู้ชุมนุมอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง โดยให้ดำเนินการอย่างระมัดระวังซึ่งต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนและความจำเป็นตามแต่ละกรณี โดยควรหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาหรือฐานความผิดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ

4) ประชาสัมพันธ์หรือเปิดช่องทางให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถยื่นคำขอให้มีการเยียวยาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

2.4 ให้ศาลยุติธรรมพิจารณากำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการพิจารณาปล่อยชั่วคราว โดยยึดหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด และหลักการที่ว่า ทุกคนพึงมีสิทธิได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย อีกทั้ง ควรพิจารณามาตรการอื่นแทนการคุมขัง เช่น การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM)

3.ข้อเสนอแนะต่อการจัดการชุมนุม
การจัดการชุมนุมต้องเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธและสิ่งเทียมอาวุธ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งสิทธิของบุคคลอื่นและความรับผิดชอบต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากอันตรายจากการชุมนุมทางการเมือง และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเหตุอื่นใด โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งควรมีช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง