26 ม.ค.นี้ ศาลตัดสินคดีประวัติศาสตร์ เขื่อนกันคลื่น "หาดสะกอม"

สิ่งแวดล้อม
25 ม.ค. 65
19:42
1,295
Logo Thai PBS
26 ม.ค.นี้ ศาลตัดสินคดีประวัติศาสตร์ เขื่อนกันคลื่น "หาดสะกอม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
26 ม.ค.นี้ คดีประวัติศาสตร์ ยาวนาน 11 ปี กำลังจะสิ้นสุดลง ศาลปกครองสงขลานัดตัดสินคดีที่ชาวบ้านพื้นที่หาดสะกอม จ.สงขลา และนักวิชาการ ฟ้องหน่วยงานรัฐกรณีสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น ปัจจัยปัญหากัดเซาะชายฝั่งลุกลาม กระทบวิถีชีวิต

ต้นสนที่ล้มระเนระนาด และแนวแผ่นดินที่พังทลาย เป็นภาพปัจจุบันของหาดสะกอม จ.สงขลา ที่เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ไม่เพียงภูมิทัศน์ของหาด แต่ยังรวมถึงอาชีพของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแนวชายฝั่งที่หายไป

 

เจ๊ะหมัด สังข์แก้ว ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีหาดสะกอม กล่าวว่า หลังจากก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นก็เกิดผลกระทบอย่างชัดเจน รวมทั้งวิถีชีวิตชาวบ้าน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นแนวหาหอยเสียบ หากไม่มีหาด หอยเสียบก็หายไป

ตลิ่งพังลงมาเลย ผลกระทบเยอะมาก เจ็บปวดมาก

 

ย้อนกลับไปก่อนปี 2540 หาดสะกอม ยังคงความสมบูรณ์ระบบนิเวศชายหาด แต่เมื่อกรมเจ้าท่า ก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากร่องน้ำสะกอม และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง จำนวน 4 ตัว เพื่อให้สามารถเดินเรือได้สะดวก ต่อมาเพียง 1 ปี หาดสะกอมที่ทอดยาวเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง หาดถูกคลื่นตัดชันเป็นหน้าผาลึกกว่า 5 เมตร ตลอดแนวยาวเกือบ 3 กิโลเมตร

 

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและนักวิชาการ เชื่อว่า การก่อสร้างโครงสร้างแข็งที่ยื่นออกไปในทะเลมีผลทำให้หาดทรายถูกกัดเซาะเพิ่มขึ้นทุกปี

ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า ทุกที่ที่มีปัญหากัดเซาะชายฝั่ง สามารถตรวจสอบแผนที่และภาพถ่ายย้อนหลังเป็นหลักฐานชัดเจน โดยพิสูจน์ได้แล้วว่า ปัญหากัดเซาะชายฝั่งมีจุดเริ่มต้นและการซ้ำเติมมาจากกระบวนการของมนุษย์และสิ่งก่อสร้างดังกล่าว

 

จาก 10 เมตร ในปีแรก เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 80 เมตรภายใน 10 ปี หรือในปี 2551 บ้านในชุมชนที่อยู่ใกล้หาดค่อย ๆ ได้รับผลกระทบ จนในที่สุดสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งในชุมชนค่อย ๆ พังลง วิถีชีวิตที่ถูกเปลี่ยนกลายเป็นจุดเริ่มต้น ห้ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ นำไปสู่กระบวนการในชั้นศาล

อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Beach for life กล่าวว่า จากกรณีหากสะกอม ส่งผลให้ชุมชนในละแวกนี้ตื่นตัว และเข้าใจมากขึ้นว่าโครงสร้างเขื่อนเหล่านี้มีปัญหา พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถ่ายเททรายบริเวณนี้ ให้ทรายไหลกลับสู่ตามระบบ

 

คดีหาดสะกอมนับเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีแรกของการฟ้องร้องประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชายหาด เป็นคดีต้นแบบที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภาคภาคประชาชน ของการฟ้องร้องคดีชายหาดอื่น ๆ อีก 6 คดี ประกอบด้วย คดีหาดคลองวาฬ คดีอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์, คดีหาดม่วงงาม และหาดมหาราช จ.สงขลา คดีหาดสมิหลา และหาดชลาทัศน์ และคดีหาดตากใบ จ.นราธิวาส

ในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ศาลปกครองสูงสุดจังหวัดสงขลา ได้นัดฟังคำพิพากษา หลังเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้กรมเจ้าท่ากลับไปศึกษาผลกระทบการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง