หลายฝ่ายเชื่อฟื้นสัมพันธ์ซาอุฯ ส่งผลดีเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจ
25 ม.ค. 65
20:05
562
Logo Thai PBS
หลายฝ่ายเชื่อฟื้นสัมพันธ์ซาอุฯ ส่งผลดีเศรษฐกิจไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะเปิดประตูแรงงานไทย และเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไปตะวันออกกลาง

วันนี้ (25 ม.ค.2565) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า มีการพูดคุยติดต่อกับภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบียมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ ซึ่งการฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ เชื่อว่ามีผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงและเป็นไปอย่างรวดเร็ว

พร้อมระบุอีกว่า หากเปิดสัมพันธ์การทูตเป็นปกติ คาดว่าการส่งออกจะสูงขึ้นเป็นแสนล้านบาท จากสินค้าประเภทอาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป ข้าวและวัสดุก่อสร้าง ขณะที่การส่งออกปัจจุบันมีประมาณ 50,000 ล้านบาท

ส่วนการเปิดให้ผู้มาจากซาอุฯ ไม่ต้องขอวีซ่า จะเพิ่มการเดินทางเป็น 150,000 คนต่อปี จากเดิมปีละ 36,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ไทยเพิ่มขึ้น เพราะมีการใช้จ่ายสูงถึงคนละ 85,000 บาทต่อทริป

ทั้งนี้ การลดพึ่งพารายได้จากพลังงานของซาอุฯ และปรับโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดการก่อสร้าง คาดว่าจะมีความต้องการบริษัทก่อสร้างจากไทย สถาปนิก และแรงงาน ไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 คน

"จุรินทร์" ชี้เป็นโอกาสเพิ่มส่งออกไทยไปซาอุฯ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ มองว่า เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย และได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ดูแลประเทศซาอุดีอาระเบีย ประสานงานกับทางการของซาอุฯ ซึ่งสินค้าที่มีโอกาสทำตลาด เช่น เนื้อไก่ ดังนั้นการเดินทางไปครั้งนี้เท่ากับเปิดประตูให้กระทรวงพาณิชย์สามารถผลังดันการส่งออกสินค้าอื่นๆ ต่อไปด้วย

ขณะที่ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ในอดีตมีแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ ร้อยละ 40-50 ของแรงงานทั้งหมดที่ไปทำงานในต่างประเทศ ดังนั้นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทำให้เกิดผลดีต่อตลาดแรงงาน โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์และการเกษตร ที่สำคัญยังเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่หรือคนตกงาน

ส่อง "วิชั่น 2030" ซาอุฯ เปิดประเทศมากขึ้น

ซาอุดีอาระเบียมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ ปี 2558 มีการปรับคณะรัฐมนตรีและจัดลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ใหม่ โดยมีคนรุ่นใหม่อย่าง เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร เข้ามาทำหน้าที่ โดยพระองค์เริ่มวางแผนการพัฒนาประเทศชื่อ "วิชั่น 2030" ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2560

นโยบายวิชั่น 2030 บีบให้ซาอุฯ ต้องเปิดประเทศมากขึ้น และหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ แต่การร่วมมือกับประเทศในตะวันออกกลางคงช่วยไม่ได้มาก เพราะแต่ละประเทศมีปัญหาของตัวเอง

ส่วนการร่วมมือกับยุโรป หรือสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรเก่าก็มีปัญหา ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ซาอุฯ ไม่มีทางเลือกมากนัก จึงต้องสร้างพันธมิตรใหม่ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ

อ่านข่าวอื่นๆ

นายกฯ เผยตั้ง กมธ.ร่วม "ไทย-ซาอุฯ" ฟื้นความสัมพันธ์

นักวิชาการย้อนรอย ไทย-ซาอุดีอาระเบีย : จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง