Contract Farming ในมุมคนเลี้ยงหมู

ภูมิภาค
26 ม.ค. 65
18:20
561
Logo Thai PBS
Contract Farming ในมุมคนเลี้ยงหมู
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อดีตเจ้าของฟาร์ม Contract Farming ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเคยถูกยกให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของบริษัทยักษ์ใหญ่เรื่องการผลิตหมู สะท้อนมุมมองต่อ Contract Farming หลังเขาตัดสินใจเลิกเลี้ยงหมูเมื่อปีที่ผ่านมา

หลังเกิดโรคระบาดหมู ยังไม่มีคำตอบว่า หมูที่เกษตรกรเริ่มเลี้ยงใหม่ จะมีโอกาสติดเชื้อโรคและตายยกคอกอีกหรือไม่ เจ้าของฟาร์มที่พอมีเงินทุนบางส่วนเริ่มมองหาแนวทางการปรับปรุงฟาร์มให้ได้มาตรฐาน เดิมเป็นฟาร์มเปิด เคยเลี้ยงเองขายเอง อาจต้องร่วมโครงการประกันราคากับบริษัท หรือหากคนที่มีเงินทุนก็มองถึงการกู้เงินหลักล้านมาทำฟาร์มระบบปิด เป็นเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming

 

ทีมข่าวไทยพีบีเอส มีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือน อดีตเจ้าของฟาร์ม Contract Farming เป็นฟาร์มตัวอย่าง ที่ จ.นครราชสีมา และเคยถูกยกให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของบริษัทยักษ์ใหญ่เรื่องการผลิตหมู เคยมีชาวต่างชาติมาศึกษาดูงาน

ชนะสุบรรณ กาญจนสุคนธ์ หรือพี่สัญญา บอกว่า เขาเปลี่ยนฟาร์มหมูที่ทำมา 18 ปี ให้เป็นฟาร์มสุขได้แล้ว

 

 

“เลี้ยงหมูให้บริษัทก็ดีครับ ทำให้ผมมีรายได้ แต่เป็นรายได้ที่มาพร้อมหนี้สิน เราเลี้ยงหมูไปใช้หนี้ไป มีเงินใช้หนี้ ส่งลูกเรียน แต่กดดัน ไม่มีความสุข เหมือนเราเสียอิสระไป นอนไม่หลับ ผวากับเสียงหมูร้อง เราพยายามดูแลเค้าเต็มที่ แต่โรคระบาดน่ากลัว”

 

 

พี่สัญญาบอกว่า โรคระบาด ASF มาในช่วงที่เขาหมดหนี้สิน ที่กู้มาลงทุนทำฟาร์มพอดี ปีที่ผ่านมา เขาจึงไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนอาชีพ รื้อฟาร์มหมู ขายอุปกรณ์ที่พอขายได้ และเปลี่ยนฟาร์มหมูให้เป็นฟาร์มเกษตรแบบผสมผสานมีต้นทุนคือปุ๋ยหมักขี้หมู ปุ๋ยหมักรกหมู 

 

ภายในโรงเรียน ตะแกรงเหล็กถูกปรับเป็นแปลงผัก ปลูกสตอเบอรี่ มะเขือเทศ และผักต่างๆ สวนไผ่ที่กำลังงาม สามารถขยายพันธุ์จำหน่ายได้

 

ส่วนโรงเรือนที่เคยเป็นส่วนอนุบาลลูกหมู มีลักษณะเป็นบ่อตื้นๆ ก็ถูกปรับเป็นบ่อเลี้ยงปลา กั้นเป็นช่องๆ เลี้ยงปลา เลี้ยงหอย แม้รายได้จะน้อยกว่าทำฟาร์มหมู แต่ก็ทำให้มีความสุข

 

 

 

 

หากจะให้แนะนำเกษตรกรที่กำลังหันมาทำ Contract Farming พี่สัญญาบอกว่า อยากให้ลองศึกษารายละเอียดให้ดี ทั้งสัญญา และข้อจำกัดของเรา ว่าทำตามที่เขากำหนดได้หรือไม่ ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย การทำฟาร์มมีความเสี่ยง และมีทั้งคนที่ประสบผลสำเร็จและล้มเหลว

ไม่ห่างจากฟาร์มของพี่สัญญา ยังมีฟาร์ม Contract Farming อีกหลายแห่งในพื้นที่ อ.ด่านขุดทด จ.นครราชสีมา บางฟาร์มเลิกเลี้ยงเพราะโรคระบาด บางฟาร์มเปลี่ยนบริษัทคู่สัญญา ส่วนฟาร์มที่ยังเลี้ยงต่อ หมูไม่ป่วย กลายเป็นฟาร์มที่บริษัทรุมตอม ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล และพยายามผลักดันให้เกษตรกร เพิ่มปริมาณหมูแม่พันธุ์ เพื่อเร่งเพิ่มจำนวนลูกหมู

“ช่วงนี้แม่ฮอตมากเลยนะ พวกเจ้าหน้าที่มาหาตลอด ส่งหมอมาดูแลหมูช่วย แบบมาจีบ แบบว่าแม่เป็นที่รักของเขา เพราะแม่เลี้ยงหมูเก่ง ฟาร์มแม่ไม่มีหมูตาย เขามาขอให้แม่ลงแม่พันธุ์หมูเพิ่มเป็น 600 ตัว เขาอยากให้แม่เร่งผลิตลูกหมูเยอะๆ ช่วงนี้บริษัทเร่งทำลูกหมูเพิ่ม สงสัยหมูแพงนั่นแหละ เขาให้เพิ่มเวลาเลี้ยง ให้หมูมีน้ำหนักเพิ่ม และก็เพิ่มเงินให้เรา"

 

แต่แม่ว่าเราไม่ได้รวยขึ้นหรอก เราเหนื่อย บริษัทนั่นแหละที่รวยขึ้น 

บางส่วนของการสนทนากับเกษตรกรที่ทำ Contract Farming ที่มองว่า ช่วงโรคระบาด ช่วงหมูแพง พวกเขายังเสียเปรียบบริษัท แต่ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ ที่สำคัญประสบการณ์การเลี้ยงที่ทำมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี คือสิ่งที่หายาก พวกเขามีองค์ความรู้จากการลงมือทำจริง และยังอยากทำอาชีพนี้ต่อ

แต่บริษัทก็เพิ่มมาตรการป้องกันโรคระบาดที่เข้มข้น ด้วยวิธีการติดกล้องวงจรปิดควบคุมฟาร์ม และสั่งการให้เกษตรกรต้องทำตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ก็เป็นอีกแรงกดดันที่พวกเขาต้องปรับตัว ภายใต้ความเสี่ยงของการเลี้ยงหมูในช่วงที่ยังมีโรคระบาด แต่ไม่มีวัคซีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง