"ผู้ผลิตเสื้อผ้า-นักวิชาการ" มองอนาคตไลฟ์หิ้วเสื้อผ้าประตูน้ำ

สังคม
2 ก.พ. 65
11:50
596
Logo Thai PBS
"ผู้ผลิตเสื้อผ้า-นักวิชาการ" มองอนาคตไลฟ์หิ้วเสื้อผ้าประตูน้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ผลิตเสื้อผ้าวอนแม่ค้าไลฟ์หิ้วเสื้อผ้าปรับราคาเหมาะสมช่วยอยู่รอดทั้งแม่ค้าไลฟ์-แม่ค้าสต็อก หวั่นอนาคตทำเสื้อผ้าแพงขึ้นกระทบผู้บริโภค ด้านนักวิชาการเชื่อไลฟ์ขายสินค้าเร่งเวลาดีสรัปวงการ

วันนี้ (2 ม.ค.2565) จากกระแสดรามาไลฟ์ขายเสื้อผ้าหน้าร้านย่านประตูน้ำ จนทำให้เหล่าแม่ค้าสต็อกออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลว่าเป็นการขายตัดราคา ขายราคาส่งแบบปลีก และทำให้ขายสินค้าไม่ได้

สื่อออนไลน์สื่อกลางเร่ง Disrupt

ผศ.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า สื่อออนไลน์เป็นเหมือนสื่อกลางที่ทำให้เกิดการดิสรัป (Disrupt) เร็วขึ้นจากปรากฏการณ์ไลฟ์หิ้วเสื้อผ้านี้เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความรวดเร็ว ทำให้แม่ค้ารับหิ้วใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อกลางในการทำธุรกิจง่ายขึ้นกว่าเดิม

 

การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นเป็นสัจธรรมของธุรกิจเพราะถ้าไม่ปรับก็อยู่ไม่รอด ดังนั้น รูปแบบดังกล่าวจึงเป็นวิธีหนึ่งของการปรับตัวของแม่ค้าที่จะทำให้ตัวเองได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่ของกำลังซื้อที่ลดลง ทั้งในแง่ของสถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้เอื้อให้คนไปซื้อของได้ด้วยตัวเอง สถานการณ์นี้จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นมา

เหตุการณ์ดังกล่าวมีองค์ประกอบ 4 ส่วน คือ ร้านค้าต้นทาง แม่ค้ารับหิ้ว แม่ค้าสต็อก และลูกค้า ซึ่งหากมองสถานการณ์นี้ลูกค้าจะได้ประโยชน์ที่สุดเนื่องจากลูกค้าได้สินค้าราคาถูก ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นเพราะอำนาจของการเป็นผู้เลือก ย่อมมีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ราคาถูก และเลือกแม่ค้าที่ถูกจริตกับตัวเอง

หากมองในแง่องค์ประกอบภาพใหญ่ อาจมองได้ว่าทุกคนกำลังเสียประโยชน์อยู่หรือไม่ เพราะการทำธุรกิจที่แท้จริง คือ อะไรที่ยังไม่ถึงเวลาไม่ควรเร่งการทำลายล้างให้เร็วเพราะการปรับตัวต้องปรับตามสถานการณ์อยู่แล้ว แต่บางเหตุการณ์เหมือนเราเร่งให้เร็วและอาจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง

ยกตัวอย่าง แม่ค้าสต็อกได้รับผลกระทบเพราะต้องใช้เงินลงทุนเพื่อนสต็อกสินค้า แม่ค้ารับหิ้ว ณ วันนี้อาจยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ตอนนี้ก็เริ่มได้รับผลกระทบแล้วจากกระแสสังคมที่รับไม่ได้ และจำนวนแม่ค้ารับหิ้วที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นการแข่งขันแบบ Red ocean หรือ สงครามราคา ในแม่ค้ารับหิ้วด้วยกันก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

 

ถามว่าลูกค้าได้รับผลกระทบไหม จริงๆ ได้รับจากการรองรับความเสี่ยง แม้ว่าจะได้สินค้าที่ราคาถูกลงแต่ถ้าสินค้านั้นไม่มีของ หรือได้รับของแบบที่ไม่ตรงตามที่ตั้งใจไว้ ก็ต้องรับความเสี่ยงเช่นกัน สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของผู้บริโภค คือ การทำให้เราซื้อสินค้าง่ายกว่าเดิม และจ่ายง่ายขึ้น เมื่อเรามีความต้องการมากขึ้น แต่เงินในกระเป๋าเราไม่ได้มากตาม ซึ่งอาจจะนำไปสู่การกู้หนี้ยืมสินได้

ผลกระทบมีทั้งเชิงบวก เชิงลบ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวจะส่งผลกระทบเชิงลบ กับทุกภาคส่วน เพราะทุกภาคส่วนได้เร่งปฏิกิริยาซึ่งกันและกันในแง่ของธุรกิจ ซึ่งทำให้การดิสรัปหรือการทำลายล้างเกิดขึ้นก่อนเวลาที่ควรจะเป็น

ขณะเดียวกันถ้าวันหนึ่งผู้ผลิตสินค้าเป็นคนขายสินค้าเอง หรือ แม่ค้ารับหิ้วไปถึงหน้าโรงงานผลิต คนที่เป็นแม่ค้าคนกลางคนแรก คุณก็ตายเหมือนกันฉะนั้นจะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเรากลับมาสู่จุดที่ว่า เติบโต ปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างที่ควรจะเป็น

ขอมีจริยธรรมประกอบธุรกิจ

เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่า เมื่อก่อนแม่ค้ารับหิ้วจะรับหิ้วสินค้าแบรนด์เนมและรับหิ้วเฉพาะช่วงที่มีโปรโมชันลดราคา และรับหิ้วเฉพาะในห้างสรรพสินค้า เอาต์เล็ต หรืองานจัดแสดงสินค้า ซึ่งเอื้อกับเหล่าแม่ค้ารับหิ้ว ซึ่งแม่ค้ารับหิ้วใช้จุดนี้เป็นการหาโอกาสทางการตลาดรูปแบบหนึ่ง หากแม่ค้ารับหิ้วยังทำรูปแบบเดิม ก็อาจจะทำให้คนอื่นไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใดนัก แต่ปัจจุบัน ผลกระทบดังกล่าวเกิดจากการที่เทคโนโลยีเร็วขึ้น มีช่องทางการขายที่ง่ายกว่าเดิม เพราะผู้บริโภคต้องการ

ทั้งนี้ ทางออกของปัญหาคือ การกลับมาทบทวนสิ่งที่เป็นมา กับสิ่งที่อยู่ในปัจจุบันว่า ปากท้องกับความอยู่รอด เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไประดับใด ที่จะยังอยู่ในภาวะสมดุล ทั้งตัวเองและภาพรวมของธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจที่แท้จริง เราไม่สามารถอยู่ในตลาดคนเดียวได้

สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือ จริยธรรม จรรยาบรรณของผู้ประกอบธุรกิจ เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณคิดถึงแต่ตัวเอง ในแง่ของปากท้อง ความอยู่รอด ซึ่งไม่ผิด แต่ถ้ามันทำลายคนอื่น วันหนึ่งมันจะทำลายคุณเช่นกัน มันอาจจะไม่คุ้มในระยะยาว

คาดระยะยาว "เสื้อผ้าแพง" ขึ้น

สอดคล้องกับ นายเอกศักดิ์ โฮชิน ผู้ประกอบการค้าเสื้อผ้า ย่านประตูน้ำ มองว่า กรณีการไลฟ์หิ้วของที่ประตูน้ำคาดว่า ในอนาคตการแข่งขันด้านราคาระหว่างแม่ค้าที่ไลฟ์รับหิ้วจะทำให้ส่วนต่างลดลงและจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต รวมถึงกรณีที่แม่ค้าสต็อกลดการสั่งซื้อสินค้า และมีการซื้อในรูปแบบรายย่อยมากกว่า จะทำให้โรงงานวางแผนการผลิตยากขึ้น โดยเฉพาะการสั่งซื้อวัตถุดิบ เช่น ผ้าที่จะนำมาตัดเสื้อผ้าจะซื้อจำนวนน้อยลงซึ่งจะทำให้ราคาต้นทุนเสื้อสูงขึ้นและสุดท้ายผู้ซื้อก็จะต้องซื้อเสื้อผ้าที่ราคาสูงขึ้น

กรณีของตนเองอาจจะยากลำบากในการวางแผนการผลิต แต่อยากให้แม่ค้าที่ไลฟ์ขายปรับราคาให้อยู่ในช่วงที่แม่ค้าสต็อกก็สามารถไปได้ เพราะสุดท้ายราคาเสื้อผ้าก็จะสูงขึ้นทั้งจากการปรับราคาขายส่งหรือปรับด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

นายเอกศักดิ์ ยังมองว่า การกำหนดราคากลางของเสื้อผ้านั้นไม่สามารถทำได้ ทั้งเรื่องของวัตถุดิบการผลิต รายละเอียดของเสื้อผ้าแต่ละแบบ ไปจนถึงแฟชั่น จึงทำให้การกำหนดราคากลางเช่นเดียวกับสินค้าอื่น ๆ เช่น ผลไม้ หรือ ผัก ไม่สามารถทำได้

ถ้าจะแข่งขันกันด้านราคาหากโรงงานผลิตเสื้อผ้าเปิดไลฟ์ขายเองจากโรงงาน โดยจ้างพิธีกร หรือสร้างสตูดิโอมาไลฟ์ก็จะกระทบกันหมดเพราะมีทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่รับของไปขายไปจนถึงลูกจ้าง แต่ตนเองต้องการให้ผู้ค้ากลางน้ำและปลายน้ำในวงการเสื้อผ้าไปต่อได้ จึงขอให้ปรับราคาให้เหมาะสมให้ทุกฝ่ายอยู่ได้จะดีกว่า

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดรามาไลฟ์หิ้วของ “ประตูน้ำ” โอกาสทำธุรกิจ หรือ ดีสรัปแม่ค้าสต็อก

  

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง