ขยายตลาดกระต่ายดำภูพาน สร้างรายได้เกษตรกร

ภูมิภาค
19 ก.พ. 65
15:42
3,532
Logo Thai PBS
ขยายตลาดกระต่ายดำภูพาน สร้างรายได้เกษตรกร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เกษตรกรใน จ.ร้อยเอ็ด สร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงกระต่ายดำภูพาน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เพื่อให้มีพันธุ์สัตว์ที่แข็งแรง เลี้ยงง่าย และยังพยายามขยายตลาด ทั้งในชุมชน สู่เมนูในร้านอาหาร วางแผนการเลี้ยงเพื่อรายได้ที่มั่นคงของเกษตรกร

คุณคิม ทองศรี เกษตรกรผู้เลี้ยงกระต่ายดำภูพาน พาทีมข่าวสำรวจฟาร์มกระต่ายดำภูพาน ที่เขาสร้างขึ้นที่หมู่บ้านโคกกลาง ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด หลังเข้ารับการอบรม ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร

เขาเป็น 1 ในเกษตรกรที่ไปอบรมที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ซึ่งผู้รับการอบรมจะได้รับพันธุ์สัตว์มาคนละ 1 ตัว จากนั้นพวกเขาจะสร้างเครือข่ายช่วยกันขยายพันธุ์ ส่งเสริมการเลี้ยง และช่วยกันหาตลาด

เขาบอกว่า กระต่ายดำภูพาน ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อเป็นกระต่ายเนื้อ สามารถใช้เป็นอาหารในครัวเรือน เพราะสมัยก่อนประชาชนบางพื้นที่ก็นิยมกินกระต่ายป่าอยู่แล้ว ปัจจุบันสามารถเลี้ยงเพื่อบริโภคทั้งในครัวเรือน หรือขายเป็นเนื้อสัตว์บริโภคในชุมชนได้ หากจะทำเป็นฟาร์มใหญ่หรือทำกระต่ายขุน ก็มีตลาด สามารถจัดส่งไปขายได้หลายจังหวัดทั่วประเทศ บางคนเชื่อว่าเป็นอาหารสุขภาพ และผู้ที่เป็นโรคเก๊า ส่วนหนึ่งก็จะกินเนื้อกระต่ายแทนเนื้อสัตว์ปีก


คุณสมพล ศรีทองอ่อน เกษตรกรผู้เลี้ยงกระต่ายดำภูพาน จ.มุกดาหาร เป็นอีก 1 คน ที่หันหลังให้กับงานประจำที่กรุงเทพมหานคร เพื่อกลับบ้านมาทำเกษตรแบบผสมผสาน เลี้ยงสัตว์หลายชนิด และตัดสินใจเลือกกระต่ายดำภูพานมาเลี้ยง ทำให้มีรายได้หมุนเวียน เขามองว่า สิ่งสำคัญสำหรับเกษตรกรในการเลือกเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่ายคือต้องเป็นสายพันธุ์ที่ดี และเลี้ยงง่าย อาหารก็เป็นหญ้า อ้อย พืชผักที่ปลูกเองได้


เกษตรกรผู้เลี้ยงกระต่ายดำภูพานได้รวมกลุ่มกัน เพื่อพัฒนาการเลี้ยงให้ประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ขยายตลาด ทั้งในชุมชนและร้านอาหาร ที่สามารถรับซื้อเนื้อสัตว์ไปปรุงเป็นเมนูต่างๆ เนื้อกระต่ายปรุงได้ทั้งผัดเผ็ด ลาบ ทอดเนื้อกระต่ายสมุนไพร และเมนูพื้นบ้านอีสาน อย่างแกงอ่อมหวาย เป็นทางเลือกของผู้บริโภค ที่สำคัญคือ หากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงเช่นกัน

ด้านคุณชัชชัย อักษรศักดิ์ เจ้าของร้านอาหารพื้นบ้าน-อาหารป่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า หลังจากที่เขาเริ่มเพิ่มเมนูเนื้อกระต่าย ก็พบว่า มีลูกค้าสนใจสั่งไปรับประทานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชื่นชอบเมนูอาหารป่า อาหารพื้นบ้าน เขาจึงมองว่า เนื้อกระต่ายยังเป็นที่ต้องการตลาด แต่ต้องได้รับการส่งเสริม และกระตุ้นให้ชุมชนเปิดใจยอมรับเมนูพื้นบ้านจากเนื้อกระต่าย

ไม่ใช่แค่ตลาดเล็กๆในบางจังหวัดเท่านั้น แต่ตลาดกระต่ายเนื้อยังกระจายไปหลายภูมิภาค จากกระต่ายดำภูพาน ภาคอีสาน ถูกนำไปขยายพันธุ์โดยเจ้าของร้านอาหาร ที่ จ.ชุมพร ที่พบว่ามีความต้องการบริโภคกระต่ายเนื้อเพิ่มขึ้น เช่นกัน

สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ปัทมา ประดิษฐ์ หรือคุณแต้ว อายุ 30 ปี เจ้าของร้านอาหาร และร้านข้าวแกง ที่ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ต้องปิดร้านชั่วคราว และหันมาทุ่มเทเพาะเลี้ยงกระต่ายเนื้อ สายพันธุ์กระต่ายดำภูพาน ที่ทดลองนำมาผสมกับสายพันธุ์อื่นๆ

เธอบอกว่า ข้อดีของกระต่ายดำภูพานคือ เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ เลี้ยงง่าย กินง่าย เนื้ออุดมด้วยโปรตีน เมื่อนำไปปรุงเมนูก็มีลูกค้าชื่นชอบ เพราะเนื้อนุ่ม รสชาติอร่อย เคยปรุงเป็นเมนูอาหารขายจนลูกค้าติดใจ

แม้ตอนนี้ต้องปิดร้านอาหารชั่วคราว ก็ยังมีลูกค้าสั่งจองเนื้อสดอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปปรุงเป็นเมนูต่างๆ สามารถขายเนื้อสดได้ในราคากิโลกรัมละ 300 บาท จัดส่งได้ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เธอกำลังสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพาะเลี้ยงกระต่ายเนื้อ โดยจะรับซื้อลูกกระต่ายคืนมาในราคากิโลกรัมละ 120 - 150 บาท

สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถมาปรึกษาการเลี้ยยงกับคุณแต้วได้ เธอจะแนะนำสายพันธุ์ วิธีการเลี้ยง และการวางแผนการตลาด ให้มีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน ไม่ต้องกังวลเรื่องเลี้ยงมากจนล้นตลาด และถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

เพราะอาชีพนี้สามารถสร้างรายได้ให้ประชาชนที่สนใจหาอาชีพในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด และเป็นทางเลือกให้เกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาผลผลิตการเกษตรไม่ได้สูงมากนัก แต่ต้นทุนปรับสูงขึ้น เกษตรกรจึงต้องหาอาชีพที่สร้างรายได้เสริม
ติดต่อ คุณแต้วกระต่ายเนื้อชุมพร เบอร์โทร 080-6993613 เฟซบุ๊ก Taew Pattama Pradid
ติดต่อ คุณคิม ทองศรี เบอร์โทร 094-8652641 เฟซบุ๊ก คิม ทองศรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง