ดูซีรีส์เป็นอาชีพ : ชวนรู้จัก "นักอุตุนิยมวิทยา" กับ "ซงคัง-พัคมินยอง" ใน Forecasting Love and Weather

Logo Thai PBS
ดูซีรีส์เป็นอาชีพ : ชวนรู้จัก "นักอุตุนิยมวิทยา" กับ "ซงคัง-พัคมินยอง" ใน Forecasting Love and Weather
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พยากรณ์อากาศ วันนี้ประเทศไทยดูซีรีส์ "Forecasting Love and Weather" ต่อเนื่อง ติด "ซงคัง" หนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ และมีคนตกหลุมรักบางแห่ง

แม้ฤดูร้อนจะยังไม่มา แต่ประเทศไทยก็เริ่มร้อนแรงไปกับกระแสซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ "Forecasting Love and Weather" หรือ "พยากรณ์วันนี้ มีรักบางแห่ง"

"ซงคัง" นักแสดงดาวรุ่งมารับบท "อีชีอู" นักอุตุนิยมวิทยาปฏิบัติการ ประกบคู่เจ้าแม่ซีรีส์โรแมนติก "พัคมินยอง" ซึ่งมาสวมบทบาท "จินฮาคยอง" ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาเกาหลี มาเพิ่มอุณหภูมิในช่วงนี้ จนชื่อซีรีส์ติดคำค้นหายอดนิยมในกูเกิ้ลไทยติดต่อกันถึง 3 วัน


นอกจากรายชื่อนักแสดงนำและสมทบมากความสามารถแล้ว อีกไฮไลท์ที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ถูกจับตาเป็นพิเศษคือ การบอกเล่าเรื่องราวอาชีพนักอุตุนิยมวิทยา ที่แทบจะไม่เคยมีปรากฏในซีรีส์หรือภาพยนตร์ชาติใดมาก่อน 

นักอุตุนิยมไม่ใช่แค่รายงาน แต่ต้องพยากรณ์อากาศ

"Forecasting Love and Weather" เริ่มต้นด้วยเช้าวันหนึ่งที่อากาศสดใส "จินฮาคยอง" กำลังอลวนอยู่กับการจัดงานแต่งงาน ท่ามกลางการรายงานข้อมูล ความเป็นไปได้ที่จะเกิดลูกเห็บตก

แต่ "จินฮาคยอง" กลับเลือกที่จะไม่รายงานหัวหน้า ด้วยเหตุผลว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นมีเปอร์เซ็นต์น้อยเกินไป โดยไม่ได้นำข้อมูลมาคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคต


ช่วงเวลาไม่นาน ลูกเห็บมากมายก็ร่วงลงมาพร้อมกับสายฝน ทำให้กรมอุตุนิยมวิทยา ต้องตอบคำถามสื่อมวลชน และหาสาเหตุของการพยากรณ์คลาดเคลื่อน และการไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า จนทำให้ประชาชนเกิดอุบัติเหตุ ไร่นาพังเสียหาย

อย่าเอาแต่รายงานสภาพอากาศอย่างเดียว พยากรณ์มันด้วยสิ

ประโยคที่ "จินฮาคยอง" และทีมพยากรณ์ถูกตำหนิหลังความผิดพลาดในครั้งนั้น ตอกย้ำให้การทำงานในวันรุ่งขึ้นเข้มข้นมากขึ้น

ระหว่างช่วงระดมสมองประชุมรายวัน "อีชีอู" นักอุตุนิยมวิทยาปฏิบัตการ ส่วนพยากรณ์อากาศเขตปริมณฑล พบความผิดปกติของเมฆที่กำลังก่อตัวใน จ.คังวอน ซึ่งมีแนวโน้มจะพัฒนาเป็นเมฆฝน


แม้จะถูกเสียงคัดค้านว่า บรรยากาศในขณะนั้นแห้งมาก ถึงกลายเป็นเมฆฝนที่ใหญ่พอจนคลื่นความถี่จับได้ แต่จะระเหยไปถ่อนถึงเขตปริมณฑล โดยมีโอกาสเกิดฝนตก 18.7-18.8 % และมีโอกาสระเหยไปในชั้นบรรยากาศมากกว่า 80 %

แต่ "อีชีอู" มั่นใจว่าจะเกิดฝนตกหนักในเขตปริมณฑลภายใน 2-3 ชั่วโมง เพราะเมฆจะดูดซับความชื้นไปเรื่อย ๆ ขณะมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ เนื่องจากอุณหภูมิชั้นล่างของพื้นที่สูงขึ้น ทำให้มีการดูดซึมไอน้ำต่อเนื่อง

เมฆที่ชั่วโมงที่แล้วมีความหนาแค่ 2 กิโลเมตร กลับหนาขึ้น 5-6 กิโลเมตรแล้ว และอุณหภูมิพื้นผิวฝั่งตะวันออกของปริมณฑลมีอุณหภูมิสูง ด้วยบรรยากาศที่ไม่เสถียรทำให้มีโอกาสสูงที่เมฆจะพัฒนามากกว่าจะระเหยไป 

ก่อนภัยพิบัติจะมา มักส่งสัญญาณก่อนเสมอ

ท้ายที่สุดการพยากรณ์ของนักอุตุนิยมวิทยาหนุ่ม ก็ถูกต้อง เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนักในเขตปริมณฑล แต่ด้วยการแจ้งเตือนที่ทันท่วงที พร้อมการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน กรมทางหลวง หรือกรมป้องกันสาธารณภัย จึงทำให้ไม่เกิดความเสียหายที่รุนแรงขึ้น

ขณะที่เรื่องงานคลี่คลายไปได้ด้วยดี แต่ "จินฮาคยอง" ที่เมิน SMS ทวงเงินมัดจำค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ส่งมาอย่างต่อเนื่อง ต้องล้มเลิกงานแต่งงานในที่สุด และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรักครั้งใหม่


"Forecasting Love and Weather" ที่เต็มไปด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อพยากรณ์อากาศในทุก ๆ วัน ฉายการทำงานอย่างเป็นระบบของกรมอุตุนิยมวิทยา และการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อม และดำเนินงานป้องกันภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที

ขณะเดียวกันซีรีส์เรื่องนี้ก็กำลังบอกคนดูว่า ก่อนจะเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ มักจะมีสัญญาณเตือนมาก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอากาศหรือชีวิตคนก็ตาม

อากาศและชีวิต ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้

ซอนยอง นักเขียนบทซีรีส์เรื่องนี้ใช้เวลา 2 ปี 8 เดือน เพื่อเก็บข้อมูล เรียบเรียงศัพท์เทคนิคด้านการพยากรณ์อากาศแบบเจาะลึก เพื่อถ่ายทอดการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ต้องอยู่กับสภาพอากาศที่พยากรณ์ไม่ได้ ไปพร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวความรักที่คาดเดาไม่ได้ของคู่พระนางได้อย่างลงตัว ความทุ่มเทนี้กลายเป็นอีกไฮไลต์สำคัญที่ทำให้ "Forecasting Love and Weather" กลายเป็นกระแสและถูกพูดในโซเชียลมีเดีย

 รู้จัก "หมอดูอากาศ" อาชีพนักอุตุนิยมวิทยาในไทย

นักอุตุนิยมวิทยาเป็นอาชีพที่ท้าทาย เหมือนหมอดูอากาศที่ต้องใช้ข้อมูลมาสนับสนุน อยู่บนหลักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ไปจนถึงเคมี เรียกว่าต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในคนเดียว

ภาพที่ถูกถ่ายทอดผ่านซีรีส์แทบจะไม่แตกต่างจากการทำงานจริง "สมควร ต้นจาน" ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้คำนิยามอาชีพ ซึ่งทำหน้าที่แจ้งเตือนและพยากรณ์ลม ฝน พายุให้ประชาชนทั้งประเทศ เพื่อวางแผนในชีวิตประจำวันว่าเป็นเหมือน "หมอดูอากาศ ที่อยู่บนหลักวิทยาศาสตร์" ซึ่งต้องเป็นคนที่เรียนจบในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ หรือสาขาวิศวกรรมศาสตร์


ภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาไทย แบ่งการพยากรณ์เป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น แบ่งเป็นสั้นมากไม่เกิน 3 ชั่วโมง ระยะสั้นไม่เกิน 12 ชั่วโมง ระยะกลางไม่เกิน 10 วัน และระยะยาว 3-6 เดือน เรียกว่า พยากรณ์รายฤดูลกาล เพื่อให้เกษตรได้วางแผนการเพาะปลูก

อาชีพนี้เริ่มต้นกิจวัตรประจำวันด้วยการรวบรวมข้อมูลจากสถานีต่างจังหวัด ซึ่งมีการตรวจสภาพอากาศทุก ๆ 3 ชั่วโมง วันละ 8 ครั้ง ก่อนจะส่งข้อมูลมาที่กองสื่อสารเป็นโค้ดตัวเลขเพื่อกระจายข่าวและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างประเทศ แล้วแปลงข้อมูลออกมาเป็นแผนที่

จากนั้นนักพยากรณ์จะร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลทั้งจากดาวเทียม เรดาห์ตรวจอากาศ และแบบจำลองต่าง ๆ ก่อนจะพยากรณ์อากาศ แล้วสรุปข้อมูลเพื่อส่งต่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อม

หากมีปรากฏการณ์รุนแรง เช่น นักพยากรณ์คาดการณ์ว่าจะมีพายุ หรืออุณหภูมิลดฮวบลง จะต้องมีการออกประกาศตั้งแต่พายุก่อตัวนอกชายฝั่ง และอัปเดตทุก ๆ 6 ชั่วโมง เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานต่อไป

พยากรณ์อากาศให้ถูกยากเหมือนกับซื้อหวย

ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง ยอมรับว่า ขณะนี้ไทยมีสถานีตรวจวัดอากาศทั่วประเทศเพียง 100 กว่าสถานี ซึ่งถือว่าน้อยหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ แต่เตรียมเพิ่มอีก 1,000 สถานี ภายใน 4 ปี และหากต้องรายงานข้อมูลอย่างเรียลไทม์มากขึ้น ต้องมีมากถึง 4,000-5,000 สถานี ส่วนในอนาคตอาจมีเครื่องมือช่วยให้สังเคราะห์ข้อมูลได้เร็วขึ้น


อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์อากาศระยะสั้นในประเทศไทยถือว่ามีความถูกต้องแม่นยำ 80 % ขึ้นไป ส่วนการพยากรณ์ระยะกลางอยู่ที่ประมาณ 70 % ขึ้นไป ด้วยปัจจัยสถานีตรวจวัดที่ยังถือว่าน้อย แต่อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะพยากรณ์ให้ถูกต้องแม่นยำต้องเพิ่มความถี่ของสถานีมากกว่านี้

สิ่งที่ท้าทายนักพยากรณ์ คือ ความแม่นยำ การพยากรณ์ว่าฝนจะตกเมื่อไหร่ หรือตกที่ไหนยากเหมือนกับการซื้อหวยให้ถูก เพราะอากาศแปรปรวนตลอดเวลา โดยเฉพาะในเขตร้อนอย่างประเทศไทย

"สมควร ต้นจาน" ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า พายุไม่มีรูปแบบ และธรรมชาติไม่สามารถคาดเดาได้ สิ่งที่นักอุตุนิยมวิทยาทำได้ คือ การเข้าใจและอยู่กับมันให้ได้

หากอากาศเปลี่ยน เราก็เปลี่ยน ยืดหยุ่นไปกับข้อมูลที่หลากหลายและรอบด้าน เพื่อพยากรณ์ให้แม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อดูแลและรักษาชีวิตประชาชน

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดูซีรีส์เป็นอาชีพ : "Our Beloved Summer" อาชีพหลังกล้องมองชีวิตผ่านเลนส์

ดูซีรีส์เป็นอาชีพ : IDOL : The Coup ตีแผ่อีกมุม K-POP กับ "ไอดอล" ผู้ล้มเหลว?

ดูซีรีส์เป็นอาชีพ : From Five To Nine เมื่อ "พระญี่ปุ่น" แต่งงานได้และรวยมาก

ดูซีรีส์เป็นอาชีพ : Jirisan จอนจีฮยอน-จูจีฮุน นำทีมลุ้นระลึกกับภารกิจเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง