กรมศิลป์ ย้ำ "ภาพเขียนสีเขายะลา" อยู่ในเขตโบราณสถาน

สังคม
14 มี.ค. 65
16:09
535
Logo Thai PBS
กรมศิลป์ ย้ำ "ภาพเขียนสีเขายะลา" อยู่ในเขตโบราณสถาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมศิลปากร ย้ำ "ภาพเขียนสีเขายะลา" อยู่ในเขตโบราณสถาน หลังเพิกถอนประกาศแก้ไขเขตที่ดินฯ ตั้งแต่ปี 2563 หวั่นประชาชนเข้าใจผิดหลังพบโซเชียลจัดแคมเปญรณรงค์ยกเลิกประกาศดังกล่าวอีกครั้ง

วันนี้ (14 มี.ค.2565) นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่ยังปรากฏแคมเปญรณรงค์ ยกเลิกประกาศสั่งถอนพื้นที่โบราณคดีภาพเขียนสีเขายะลาในสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนอยู่นั้น กรมศิลปากรขอย้ำว่า ได้ประกาศเพิกถอนการประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2563 และเผยแพร่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2563

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า แต่เดิมมีการประกาศลดขนาดพื้่นที่โบราณสถาน ซึ่งส่วนนี้อาจอยู่นอกเขต แต่ต่อมาได้ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว เนื่องจากหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ทำให้ขณะนี้ทุกอย่างกลับไปเช่นเดิม ทำให้ภาพเขียนที่สำรวจพบอยู่ในเขตโบราณสถานทั้งหมด อีกทั้งมีเงื่อนไขว่าในการทำงานของผู้ทำเหมืองหากพบจุดที่มีลักษณะร่องรอยทางโบราณคดีต้องแจ้งกรมศิลปากร

เมื่อตรวจสอบเพิ่มและพบว่าเป็นแหล่งสำคัญ ได้ยกเลิกประกาศที่ลดขนาดพื้นที่ โดยปี 2563 ให้คืนพื้นที่ตามประกาศครั้งแรกและครอบคลุมทั้งหมด

 

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง เพิกถอนการประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ความว่า ตามที่กรมศิลปากรได้ประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา โดยประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ลงวันที่ 30 ก.ย.2562 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 137 ตอนพิเศษ 45 ง วันที่ 26 ก.พ.2562 นั้น เนื่องจากได้มีประชาชนในท้องที่ ต.ยะลา และ ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา

ตลอดจนองค์กรพัฒนาภาคเอกชน และคณะกรรมาธิการในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ได้ร้องขอให้กรมศิลปากรควรพิจารณาทบทวนและเพิกถอนประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ลงวันที่ 30 ก.ย.2562 เนื่องจากบริเวณพื้นที่ที่กรมศิลปากรประกาศแก้ไขเขตที่โบราณสถานเป็นบริเวณที่มีการประกอบกิจการเหมืองแร่ โดยการประกอบกิจการเหมืองแร่ในบริเวณดังกล่าวอาจเกิดแรงสั่นสะเทือนและส่งผลกระทบต่อโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งเป็นโบราณสถานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่ภาคใต้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำรวจเหมืองหินรอบเขตโบราณสถานยะลา  

ฟ้องกรมศิลป์ อดีตอธิบดีเซ็นทิ้งทวน ยกพื้นที่โบราณสถานให้โรงโม่ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง