"แอมเนสตี้" เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย ปี 64/65

สังคม
29 มี.ค. 65
10:55
198
Logo Thai PBS
"แอมเนสตี้" เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย ปี 64/65
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แอมเนสตี้ เปิดรายงานปี 64/65 ระบุ รัฐบาลเพิ่มความพยายามเพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบ ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม ร่างกฎหมายว่าด้วยการทรมานและการบังคับให้สูญหายเนื้อหาไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยในด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

วันนี้ (29 มี.ค.2565) นายเอร์วิน วาน เดอ บอร์ก รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เปิดรายงานประจำปี 2564/2565 AMNESTํY INTERNATIONAL สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก โดยสถานการณ์ของไทยมี ดังนี้

ข้อมูลพื้นฐาน

การชุมนุมที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำมีความเข้มแข็งมากขึ้นและการชุมนุมก็เพิ่มจำนวนขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา ทางการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อรับมือกับจำนวนของการติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการดำเนินการที่ล่าช้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน อีกทั้งเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากการประกาศมาตรการที่จำกัดอันเนื่องจากโรคโควิด-19

สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม

แม้ทางการจะจำกัดการชุมนุมสาธารณะอย่างเข้มงวด โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในช่วงตลอดปีที่ผ่านมายังมีการชุมนุมเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศจำนวน 1,545 ครั้ง

ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม มีทั้งเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ การยุบสภา การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย ทางการดำเนินคดีในหลายข้อหาต่อแกนนำผู้ชุมนุม จากการละเมิดข้อจำกัดที่ห้ามการชุมนุม

ตำรวจปราบจลาจลใช้กำลังเกินขอบเขตระหว่างการชุมนุม มีการยิงกระสุนยางโดยไม่เลือกเป้าหมาย และการยิงแก๊สน้ำตาในระยะประชิดใส่ผู้ชุมนุม ผู้คนที่อยู่ในบริเวณโดยรอบ และสื่อมวลชน

หลายคนระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่เตะ ถูกตีด้วยไม้กระบอง และถูกรัดข้อมือด้วยสายพลาสติกอย่างแน่นหนาเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทั้งในระหว่างการจับกุมและการควบคุมตัว ทางการมักไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวอีกทั้งยังขัดขวางไม่ให้ติดต่อทนายความ

ในเดือน ส.ค. เจ้าหน้าที่มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ทั้งนี้ แม้ตำรวจปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้กระสุนจริง แต่เยาวชนชายอายุ 15 ปี กลับถูกยิงบริเวณลำคอ จนร่างกายเป็นอัมพาตและต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3 เดือนก่อนจะเสียชีวิต เยาวชนชายอีกสองคนอายุ 14 และ 16 ปีได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนเช่นกัน

ระหว่างเดือน ส.ค. - ก.ย. มีเยาวชนอย่างน้อย 270 คน ถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุม รวมทั้งเยาวชนชายอายุ 12 ปี เยาวชนบางรายยังถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มาตราอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

 

สิทธิในเสรีภาพการสมาคม

ในเดือน ธ.ค.รัฐบาลเห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ.... ซึ่งกลุ่มภาคประชาสังคมวิจารณ์ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ มีข้อห้ามหลายประการต่อการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม หรือ เอ็นจีโอ เนื้อหามีความกว้างขวางเกินไปและอาจครอบคลุมถึงการสั่งห้ามการดำเนินงานที่ชอบธรรมและกิจกรรมที่ควรได้รับการคุ้มครอง

หากร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบและผ่านมติคณะรัฐมนตรี องค์กรภาคประชาสังคมอาจถูกบังคับให้ต้องรายงานและเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางและเกินขอบเขตแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ

อีกทั้งทางการยังสามารถใช้อำนาจควบคุมแหล่งทุนที่กลุ่มเหล่านี้ได้รับมาจากต่างประเทศ ส่วนมาตราอื่น ๆ ที่ยังเป็นข้อกังวล ครอบคลุมถึงค่าปรับและบทลงโทษที่รุนแรงต่อองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งย่อมส่งผลให้บุคคลเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าที่จะรวมตัวเป็นองค์กร 

 

สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก

ทางการยังคงใช้กฎหมายรวมทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่าด้วย ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) และกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลและการดูหมิ่นศาล เพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกอย่างไม่เป็นธรรม

ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อบุคคลอย่างน้อย 1,460 คน รวมทั้งนักเรียนและนักศึกษา เนื่องจากการแสดงความเห็นที่ถูกมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาล แกนนำการชุมนุมอย่าง พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก รวมทั้งบุคคลอื่น ๆ อีกมาก อาจต้องเชิญกับโทษจำคุกตลอดชีวิตหากศาลเห็นว่ามีความผิด ทางการยังคงควบคุมตัวโดยพลการและปฏิเสธการประกันตัวของผู้วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ในเดือน ก.ค.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ข้อกำหนด ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี สำหรับการเผยแพร่ “ข่าวอันเป็นเท็จ” ที่ “ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและกระทบต่อความมั่นคงรัฐ” อย่างไรก็ดี ในเดือน ส.ค. ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ระงับการใช้ข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งอนุญาตให้มีการเซ็นเซอร์ทางอินเตอร์เน็ตและการสั่งพักการปฏิบัติงานขององค์กรสื่อ โดยเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิจนเกินขอบเขต

 

ทางการขู่ที่จะดำเนินคดีต่อเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มรายอื่น ๆ เพื่อบังคับให้พวกเขายอมจำกัดเนื้อหาที่ถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทางการยังปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ Change.org หลังมีผู้จัดทำการรณรงค์และมีผู้ลงชื่อกว่า 130,000 คน เพื่อเรียกร้องให้มีการประกาศให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ เป็นบุคคลห้ามเข้าเมืองสำหรับเยอรมนี

หลังระงับไป 2 ปี ทางการได้เริ่มใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อีกครั้ง ในระหว่างเดือน ม.ค. และเดือน พ.ย.มีบุคคลอย่างน้อย 116 คน รวมทั้งเยาวชนอย่างน้อย 3 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยในจำนวนนี้มี “อัญชัญ” อดีตข้าราชการซึ่งถูกศาลสั่งจำคุก 87 ปี จากการแชร์คลิปเสียงในโซเชียลมีเดีย ศาลลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ในเดือน มี.ค. ตำรวจมีการจับกุมและดำเนินคดี กับเยาวชนหญิง 2 คน อายุ 14 และ 15 ปี จากการเผาพระบรมฉายาลักษณ์

ในเดือน ก.ค.มีผู้ถูกสั่งปรับ 5 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หลังเข้าร่วมเป็นวิทยากรเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับชะตากรรมของนักกิจกรรมไทย ซึ่งถูกลักพาตัวในประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2559

วิทยากรต่างแสดงความกังวลเนื่องจากไม่มีการสอบสวนอย่างต่อเนื่องต่อกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย.2563 ระหว่างที่เขาอยู่ในประเทศกัมพูชา รวมทั้งการที่ทางการไทยไม่สามารถระบุที่อยู่ของนักกิจกรรมที่ลี้ภัยอีกจำนวนแปดคน ซึ่งยังคงเป็นผู้สูญหายต่อไป

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย

ในเดือน ส.ค. นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ เสียชีวิตภายในสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์จากการถูกทรมาน หลักฐานที่เป็นภาพวิดีโอแสดงภาพตำรวจขณะที่ใช้ถุงพลาสติกสีดำคลุมศีรษะเพื่อให้ขาดอากาศหายใจ จนเขาแน่นิ่งและเสียชีวิตในที่สุด

การบังคับบุคคลให้สูญหาย

ในเดือน ก.ย. เป็นครั้งแรกที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายที่เอาผิดทางอาญากับทั้งการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้ไม่ครอบคลุมองค์ประกอบที่สำคัญและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงความครอบคลุมของ “บุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งดำเนินการโดยได้รับการสั่งการ การสนับสนุน หรือโดยความรู้เห็นเป็นใจของรัฐ” ในฐานะเป็นผู้ก่อให้เกิดการบังคับบุคคลให้สูญหาย การกำหนดโทษต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมายที่อาจมีลักษณะเป็นการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และข้อบทว่าด้วยสภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของอาชญากรรมเช่นนี้

สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ

ภายหลังการทำรัฐประหารเดือน ก.พ.ในเมียนมา ผู้สื่อข่าว 3 คน ที่หลบหนีมายังประเทศไทย ถูกทางการจับกุมในข้อหา ‘ลักลอบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย’ เจ้าหน้าที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาได้ผลักดันชาวกะเหรี่ยงประมาณ 2,000 คน ให้กลับเข้าสู่ประเทศเมียนมา หลังจากพวกเขาหลบหนีการทิ้งระเบิดทางอากาศของกองทัพเมียนมามายังประเทศไทย และในเดือน พ.ย. ทางการไทยยังได้บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังประเทศกัมพูชาด้วย

สิทธิด้านสุขภาพ

ในเดือน เม.ย. ประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในขณะที่การดำเนินการฉีดวัคซีนของรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้า และถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่วิกฤตดังกล่าว รวมทั้งการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี

ตามตัวเลขที่บันทึกโดยหน่วยงานรัฐบาล ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้กว่า 20,000 คน และมีรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อระหว่างอยู่ในเรือนจำประมาณ 87,000 คน ซึ่งเรือนจำมีความแออัดและขาดสุขอนามัยเป็นอย่างมาก ส่งผลให้มีผู้ต้องขังอย่างน้อย 185 คนที่เสียชีวิต

สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง

ในเดือน ก.พ.ชาวกะเหรี่ยงได้ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะกลับไปยังที่ดินทำกินของบรรพชนที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งพวกเขาเคยอยู่อาศัยมาหลายทศวรรษก่อนจะถูกบังคับโยกย้ายเมื่อปี 2554 ในวันที่ 22 มี.ค. มีชาวกะเหรี่ยงถูกจับกุมและควบคุมตัวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในข้อหาบุกรุก โดยตำรวจไม่อนุญาตให้ทนายความของพวกเขาอยู่ร่วมรับฟังระหว่างการซักถาม

สิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์

ในเดือน ก.พ. รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ส่งผลให้การทำแท้งถูกกฎหมายกรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทั้งยังมีการลดโทษจำคุกของผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ภายหลังมีอายุครรภ์ครบไตรมาสแรก โดยลดโทษจำคุกลงจาก 3 ปี เหลือโทษจำคุก 6 เดือน แต่การทำแท้งหลังอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ยังคงเป็นความผิดทางอาญา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง