เตือนต่ำกว่า 18 เลี่ยงทำ IF ลดน้ำหนักกระทบสุขภาพ-ยับยั้งโต

สังคม
29 มี.ค. 65
17:03
3,448
Logo Thai PBS
เตือนต่ำกว่า 18 เลี่ยงทำ IF  ลดน้ำหนักกระทบสุขภาพ-ยับยั้งโต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอนามัย เตือนเด็กต่ำกว่า 18 เลี่ยงทำ IF ลดน้ำหนัก ชี้กระทบสุขภาพและการอดอาหารจะยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และการยืดยาวของกระดูก ส่วนกลุ่มคนท้อง ให้นมบุตร จะส่งผลให้แม่และเด็กขาดสารอาหารได้

วันนี้ (29 มี.ค.2565) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีมีข่าวด.ญ.วัย 14 ปีทำ IF แบบกิน 1 ชั่วโมง งด 23 ชั่วโมง จนร่างกายพังกระทบสุขภาพว่า กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการทำ IF ได้แก่ เด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี เพราะการอดอาหารนานเกินไปจะยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และการยืดยาวของกระดูก

ส่วนกลุ่มที่ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เพราะการอดอาหารระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้แม่และเด็กในครรภ์ขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโฟเลทและธาตุเหล็ก ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ส่วนหญิงให้นมบุตร เนื่องจากทารกได้รับสารอาหารคือน้ำนมแม่ ถ้าร่างกายแม่ขาดสารอาหารที่สำคัญ เช่น วิตามิน และแร่ธาตุ ลูกก็จะขาดสารอาหารไปด้วย

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า คนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคกระเพาะอาหาร การอดอาหารนาน จะทำให้อาการแย่ลงเพราะกรดในกระเพาะเพิ่มมากขึ้น โรคเบาหวาน เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสัมพันธ์กับอาหาร หากอดอาหารนานระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก อาจเป็นอันตรายได้

ส่วนผู้ที่มีภาวะเครียดสะสมหรือผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ เช่น คลั่งผอม ล้วงคอ กินไม่หยุด พฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติสัมพันธ์กับสภาวะจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเรื่องอาหาร รูปร่าง น้ำหนักตัว ส่งผลให้เกิดโรคตามมา เช่น โรคขาดสารอาหาร โรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร หากมีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทำให้เสียชีวิตได้

กลุ่มไหนไม่เหมาะกับการทำ IF?

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ต้องระวังในการทำ IF ได้แก่ บุคคลที่มีรูปแบบการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันไม่แน่นอน เช่น บุคคลที่จำเป็นต้องพบปะผู้คนตลอดวัน บุคคลที่มีช่วงเวลาทำงานหลากหลาย (เข้าเวร) ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากการอดอาหารนานเกินไปอาจส่งผลกับการมีรอบเดือนได้

สำหรับผู้ชายวัยทำงานที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงหากสามารถบริหารจัดการเวลาได้ ไม่กระทบกับการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ และต้องการค้นหาวิธีใหม่ในการดูแลรูปร่าง

เลือกใช้วิธี IF ควรปฏิบัติและมีข้อระมัดระวัง 

  • ผู้ที่เริ่มต้นแนะนำให้เริ่มอดอาหาร 12 ชั่วโมง โดยเลื่อนการกินมื้อแรกให้ครบ 12 ชั่วโมงจากมื้อสุดท้ายของวันก่อนหน้าแล้วค่อยๆ เลื่อนออกไปทีละชั่วโมงในสัปดาห์ถัดไป
  • ควรเริ่มจากงดอาหารเช้า เพราะหากงดอาหารเย็น ตื่นขึ้นมาอาจจะมีอาการหิวได้ง่ายกว่า
  • สามารถออกกำลังกายในช่วงการทำ IF ได้ตามปกติ
  • ควรจัดสรรเวลาการอดอาหารให้เหมาะสมกับกิจกรรมประจำวัน โดยคำนึงถึงเวลาการทำงานเป็นหลัก
  • เมื่อเราเกิดความชำนาญมากขึ้นสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำ Fasting ตามความเหมาะสม
  • ต้องบริโภคอาหารเพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ
  • ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
  • หากไม่ไหว อย่าฝืน เพราะหากร่างกาย ยังไม่พร้อมก็อาจก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพตามมาได้
  • สภาพร่างกายของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ควรศึกษาข้อมูล อย่างละเอียดหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งตรวจร่างกายก่อนเสมอ

แนะออกกำลังกาย-พักผ่อนให้เพียงพอ

พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กล่าวว่า การทำ IF ในบางรายอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม จึงแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ด้วยการเลิกกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรืออาหารที่ให้โทษต่อร่างกาย เช่น ของมัน ของทอด ของหวาน ขนมกรุบกรอบต่างๆ และเมื่อกินอาหารแต่ละมื้อ ให้ลดเค็มหรือโซเดียมให้น้อยลง ลดหวานโดยเฉพาะน้ำตาล ไม่กินจนอิ่มแน่น

เลือกอาหารที่มีแคลอรีต่ำ โปรตีนสูง เช่น ข้าวไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื่องจากมีไขมันน้อยและย่อยได้ง่าย หันมาเลือกเมนู ต้ม นึ่ง ย่าง และเพิ่มผัก ผลไม้เข้าไปในทุกมื้อจะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน แร่ธาตุ ออกกำลังกายเป็นประจำ และดื่มน้ำเปล่าสะอาด รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อให้การดูแลสุขภาพเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่ยั่งยืน ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง