สำเร็จ! กรมประมงเพาะพันธุ์ “ปลากระทิงไฟ” สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์

Logo Thai PBS
สำเร็จ! กรมประมงเพาะพันธุ์ “ปลากระทิงไฟ” สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสุพรรณบุรี กรมประมง ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ “ปลากระทิงไฟ” สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์สำเร็จแล้ว หลังวิจัยมาตั้งแต่ปี 2561 โดยเริ่มปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

วันนี้ (5 เม.ย.2565) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า  จากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่รับสั่งให้กรมประมงฟื้นฟู และอนุรักษ์พันธุ์ปลาไทยหายากไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2533 จนปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์และปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้มากกว่าพันล้านตัว

โดยปลากระทิงไฟ เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง พบได้ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคกลางและภาคใต้ และได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงปลาสวยงามทั่วโลก แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ปลากระทิงไฟมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ทำให้ปลาในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว 

ภาพ:กรมประมง

ภาพ:กรมประมง

ภาพ:กรมประมง

 

นายธเนศ พุ่มทอง ผอ.กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสุพรรณบุรี ประสบความสำเร็จในการวิจัย เพื่อขยายพันธุ์ปลากระทิงไฟ สัตว์น้ำประจำถิ่นหายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ได้สำเร็จแล้ว หลังจากเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561

ศูนย์วิจัยรวบรวมพันธุ์ปลากระทิงไฟ จากแหล่งน้ำธรรมชาติบริเวณ จ.สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม และราชบุรี เพื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์มาเพาะด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนกระตุ้น จนสามารถเพาะลูกปลากระทิงได้สำเร็จ 

 

ภาพ:กรมประมง

ภาพ:กรมประมง

ภาพ:กรมประมง

สำหรับปลากระทิงไฟ (Fire spiny eel) ชื่อวิทยาศาสตร์ Mastacembelus erythrotaenia มีลักษณะรูปร่างคล้ายงูหรือปลาไหล ลำตัวเรียวยาว แบน มีความยาวประมาณ 15–90 ซม. ส่วนหัวยาวแหลม ตามีขนาดเล็ก มีจะงอยปากล่างยื่นยาวกว่าจะงอยปากบน ลำตัวสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำและมีเส้นหรือจุดสีแดงเรียงตลอดความยาวลำตัว

ครีบมีสีแดงสดเชื่อมติดกันเป็นครีบเดียว ขอบครีบเป็นกระดูกแหลมแข็งใช้สำหรับป้องกันตัวจากศัตรู ครีบหลังส่วนหน้ามีลักษณะเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อยขนาดเล็ก ปลายหางโค้งมน มีนิสัยก้าวร้าวหวงถิ่น อาศัยอยู่ตามไม้น้ำ ซอกหินหรือซากปรักหักพังใต้น้ำ มักอยู่รวมกันเป็นฝูง และออกหากินในเวลากลางคืน อาหารส่วนใหญ่เป็นปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก 

ทั้งนี้เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 2 เม.ย.นี้ กรมประมง น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพันธุ์ปลากระทิงไฟ ขนาด 5 ซม.จำนวน 900 ตัว และปลาไทย 9 ชนิด จำนวน 590,000 ตัว เพื่อปล่อยเป็นพระราชกุศล  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง