เสียชีวิตจากโควิดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสูงอายุ ฉีดเข็มกระตุ้นได้เพียง 37.2%

สังคม
6 เม.ย. 65
07:28
807
Logo Thai PBS
เสียชีวิตจากโควิดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสูงอายุ ฉีดเข็มกระตุ้นได้เพียง 37.2%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โควิดวันนี้ (6 เม.ย.) ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 24,252 คน ผู้ป่วยกำลังรักษา 248,078 คน เสียชีวิตเพิ่ม 94 คน ด้าน สธ.ย้ำ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข้มมาตรการ VUCA ช่วยลดผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจาก "โควิด" หลังสงกรานต์ พร้อมขอ Self clean up ก่อนเดินทาง

วันนี้ (6 เม.ย.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,252 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยจากในประเทศ 24,165 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 87 คน ผู้ป่วยสะสม 1,558,392 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) หายป่วยกลับบ้าน 26,225 คน หายป่วยสะสม 1,339,558 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) ผู้ป่วยกำลังรักษา 248,078 คน เสียชีวิต 94 คน

จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,845 คน เฉลี่ยจังหวัดละ 24 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 27.8

สถานการณ์โควิด ยังเป็นไปตามคาดการณ์

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต มีทิศทางเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นไปตามที่กรมควบคุมโรคคาดการณ์ไว้ โดยช่วงสงกรานต์คาดว่าอาจมีโอกาสการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามขอให้เข้มมาตรการ VUCA ได้แก่ การฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น, ป้องกันตนเองตลอดเวลา ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ไม่ไปสถานที่แออัด เลี่ยงการรับประทานร่วมกัน, องค์กร/หน่วยงานใช้มาตรการ COVID Free Setting และตรวจ ATK เป็นระยะ ซึ่งจะช่วยลดไม่ให้ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิต เพิ่มขึ้น

ไทยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เพียง 34.6%

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เพียง 34.6% เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุฉีดเข็มกระตุ้นได้ 37.2% ถือว่าความครอบคลุมยังน้อย โดยมีเพียง 7 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นกลุ่มผู้สูงอายุตามเป้าหมายได้มากกว่า 70% ได้แก่ น่าน นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต มหาสารคาม ลำพูน และชัยนาท

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้คนฉีดเข็มกระตุ้นน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายหลายมาตรการ ทำให้ประชาชนอาจรู้สึกว่าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเพียงพอแล้ว จึงขอทำความเข้าใจว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ การได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม เมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลง จำเป็นต้องรับวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ซึ่งมีข้อมูลว่าช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ชัดเจน โดยการฉีด 3 เข็ม จะลดอัตราเสียชีวิตได้ 31 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่ได้รับวัคซีน

ดังนั้น ช่วงก่อนสงกรานต์ขอให้กลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากอัตราการฉีดเข็มกระตุ้นยังน้อย คาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์อาจมีการติดเชื้อ มีผู้ป่วยหนัก และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

เด็กอายุ 5-11 ปี ขอให้พามาฉีดวัคซีน

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในเด็ก พบรายงานการติดเชื้อในกลุ่มอายุ 5-11 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยเรียนเป็นระยะ โดยเด็กกลุ่มนี้ยังฉีดวัคซีนเข็มแรกไม่ถึง 50% และเข็ม 2 ยังไม่ถึง 2% ทำให้ยังมีภูมิคุ้มกันน้อย ขณะที่เชื้อพัฒนาตัวเองตลอดเวลา จึงมีความเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว

ทั้งนี้ ขอย้ำให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาไปรับวัคซีนซึ่งมี 3 สูตร คือ ไฟเซอร์-ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) ห่างกัน 8 สัปดาห์, ซิโนแวค-ไฟเซอร์ ห่างกัน 4 สัปดาห์ หรือซิโนแวค-ซิโนแวค ห่างกัน 4 สัปดาห์ และควรฉีดเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ ห่างกัน 4 สัปดาห์

นอกจากนี้ ควรระวังการรวมกลุ่มในสถานที่อากาศปิด เช่น ร้านเกม เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อได้ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเจ้าของร้านเกมเพิ่มความปลอดภัยให้เด็ก โดยการลดจำนวนเครื่องลงและจำกัดเวลาไม่ให้อยู่ในร้านนานเกินไป ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบการติดเชื้อและเสียชีวิตต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ จึงไม่มีภูมิคุ้มกันและมีความเสี่ยงมากกว่าทุกกลุ่มอายุ ดังนั้น สิ่งเดียวที่จะช่วยได้คือการใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคล

self Clean Up ตัวเองก่อนเดินทาง ช่วงสงกรานต์

พญ.สุมนี กล่าวว่า ผู้ที่จะเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ขอให้ทำมาตรการ Self Clean Up เตรียมพร้อมร่างกายตนเองให้ปราศจากเชื้อ 1 สัปดาห์ก่อนเดินทางกลับ โดยสำรวจตัวเองว่ามีอาการทางเดินหายใจหรือไม่ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตัว เป็นต้น หรือไปสถานที่เสี่ยงมีคนติดเชื้อหรือไม่ ถ้ามีอาการหรือมีความเสี่ยง ให้ตรวจด้วย ATK หากพบว่าติดเชื้อให้ระงับการเดินทางและเข้ารับการรักษา แต่หากผลเป็นลบ ระหว่างเดินทางขอให้เข้มมาตรการป้องกันตนเอง และเมื่อถึงบ้านแล้วยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลต่อเนื่อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"5 องค์กรวิชาชีพ" หนุนให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง