"ชัชชาติ" ผุดไอเดียรถเมล์ กทม. มั่นใจแก้ทางม้าลาย-ทางเท้าได้ทันที

สังคม
12 เม.ย. 65
09:25
1,095
Logo Thai PBS
"ชัชชาติ" ผุดไอเดียรถเมล์ กทม. มั่นใจแก้ทางม้าลาย-ทางเท้าได้ทันที
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ชัชชาติ" ผุดไอเดียสร้างรถเมล์วิ่งใน กทม.เอง แก้ปัญหาประชาชนรอรถเมล์ช้า ไม่ครบเส้นทาง มั่นใจช่วยระบบเสริมรถเมล์ ขสมก. ส่วนปัญหาทางม้าลาย ทางเดิน แก้ได้ทันที

วันนี้ (12 เม.ย.2565) เวลา 07.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 8 ลงพื้นที่หาเสียงบริเวณตลาดห้วยขวาง ซึ่งก่อนไปหาเสียงได้ไปสักการะศาลพระพิฆเนศแยกห้วยขวาง โดยแจ้งทีมงานว่า ขอธูป แต่ไม่ให้จุดไฟ เพื่อไม่ต้องการให้เกิดควัน

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นแนวทางทั้งเรื่องทางม้าลาย, ทางเท้า และทางรองรับกลุ่มผู้พิการในทางสาธารณะ นายชัชชาติกล่าวว่า ขนาดเส้นของทางม้าลายและสี ต้องทำให้ชัดเจน บางแยกอาจมีสัญญาณไฟ แต่การทำพื้นที่รองรับผู้พิการยังต้องปรังปรุงเร่งด่วน เช่น บางจุดไม่มีทางลาด ซึ่งอนาคตการออกแบบทางม้าลาย

หากเป็นจุดที่สร้างใหม่ก็ต้องออกแบบทำไว้สำหรับทุกคน แต่หากเป็นทางเท้าทางม้าลายเก่า อาจแก้ไขปรับปรุงยากหน่อย เพราะต้องรื้อโครงสร้าง สิ่งกีดขวาง แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ภาพรวมก็สามารถทำได้ เพราะทราบกันอยู่แล้วว่าทางม้าลายกว่า 3,000 แห่ง อยู่ที่ใดบ้างและต้องพูดคุยกับผู้ใช้ทางม้าลายและทางเท้าให้มาก

 

ส่วนประเด็นทางเท้ากับจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ให้ประชาชน กลุ่มผู้พิการ และผู้สูงวัย คิดว่า กทม. ยังต้องปรับปรุงอีกมาก โดยเฉพาะรถสาธารณะในกรุงเทพฯ เพราะต้องดูตั้งแต่การออกจากบ้านมาขึ้นรถเมล์ แต่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ

หากสร้างระบบเดินทางที่ไม่ดีพอ และรองรับผู้พิการ หรือผู้สูงวัยไม่ได้ อาจทำให้ผู้พิการ หรือผู้สูงวัย เลือกที่จะอยู่บ้านมากขึ้นและเดินทางลดลง และในอนาคตก็อาจจะตัดสินไม่ออกจากบ้าน จะมีผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพร่างกายของคนกลุ่มนี้ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและการเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาล

 

ส่วนเรื่องรถโดยสารสาสาธารณะ หรือรถเมล์ในกรุงเทพฯ มีแนวทางที่จะลดปัญหาการรอคอยนาน หรือเส้นทางขาด ทางกรุงเทพมานครอาจจะทำรถเมล์วิ่งเอง ทำเส้นทางเอง โดยขออนุญาตกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งอาจวิ่งเสริมกับรถโดยสารของ ขสมก. หาก กทม.จะทำเอง

ที่ผ่านมาเคยมีรถ BRT มาแล้ว แต่หากได้เป็นผู้ว่า กทม. ตนเองก็จะไม่ใช่ในรูปแบบ BRT แต่ต้องไปดูว่ามีแนวทางอย่างไรที่เหมาะสม

ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงสงกรานต์นี้ยังคงหาอยู่ทุกวัน แต่ปรับแผนจากชุมชน และตลาด ไปหาเสียงเข้าห้างสรรพสินค้าแทน แต่จะมีบางช่วงเวลาที่แวะไปอยู่กับครอบครัวในช่วงเทศกาล ส่วนการปรับแผนงานลงพื้นที่จะวางแผนวันต่อวัน แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่า ต้องการลงพื้นที่ชุมชนให้มากขึ้น

 

ส่วนปัญหา 3 อันดับที่ลงพื้นที่แล้วประชาชนสะท้อนมา คือ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เศรษฐกิจฐานราก คุณภาพชีวิต เช่น ฝุ่น น้ำเสีย และปัญหา COVID-19 ซึ่งนอกจากปัญหาที่สะท้อนแล้ว ในมิติของการพัฒนากรุงเทพฯ ก็ต้องนำมาสู่การกำหนดทิศทางเมืองทั้งระบบด้วย ไม่ใช่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง