ผู้เสียหายร้องถูก จนท.ราชทัณฑ์ เรียกรับเงิน แลกดูแลแม่ในเรือนจำ

อาชญากรรม
21 เม.ย. 65
11:19
1,396
Logo Thai PBS
ผู้เสียหายร้องถูก จนท.ราชทัณฑ์ เรียกรับเงิน แลกดูแลแม่ในเรือนจำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กับ รมว.ยุติธรรม อ้างถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษธนบุรี เรียกรับเงิน ค่าดูแลมารดาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ รองปลัดฯ รับเรื่อง พร้อมเผยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหาออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว

วันนี้ (21 เม.ย.2565) นายรณรงค์ แก้วเพชร พร้อมผู้เสียหายกรณีถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรียกรับผลประโยชน์ อ้างเพื่อเป็นค่าดูแลมารดาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เข้าร้องทุกข์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับเรื่องราวร้องทุกข์

ผู้เสียหาย เปิดเผยพฤติกรรมของผู้คุมว่า หลังจากที่แม่ถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ในช่วง พ.ย.2564 ก็ได้รับการติดต่อจากผู้คุมหญิง พร้อมอ้างว่า ขอสนับสนุนค่าอาหาร อาทิ ส้มตำ 1,000 บาท เค้กวันเกิดลูกสาว 1,000 บาท, ค่าปลาเผา 1,000 บาท บางครั้งก็ขอเป็นเงินสดให้นำส่งที่แฟลตบ้านพักเจ้าหน้าที่หลังเรือนจำฯ ซึ่งเป็นการขอต่างครั้งกัน ตลอดระยะเวลาช่วง 3-4 เดือน หลังแม่เข้าไปข้างใน

พร้อมระบุว่า ผู้คุมหญิงคนดังกล่าวอ้างเพื่อเป็นการตอบแทนในการดูแลมารดาให้อยู่ข้างในอย่างสุขสบาย รวมเงินที่จ่ายไปหลายครั้งเป็นเงินประมาณ 6,200 บาท แต่เมื่อสอบถามเรื่องเข้าเยี่ยมกลับ โกหกว่า เป็นช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 งดเยี่ยมญาติ

 

กระทั่งช่วงเดือน ก.พ. เกิดความสงสัยพยายามโทรไปสอบถามที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ก็ไม่เป็นผล โทรสอบถามประชาสัมพันธ์ ก็ยังพบว่าผู้คุมที่เรียกรีบเงินเป็นผู้รับโทรศัพท์ด้วยตัวเองถึง 3 ครั้ง

กระทั่งมีพยานบอกเล่าว่า ผู้คุมคนนี้โกหกและมีพฤติกรรมเรียกรับมาแล้วหลายครั้ง จึงได้ตัดสินใจปรึกษาทนายความและเข้าร้องทุกข์ที่กระทรวงยุติธรรม

 

ด้าน รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากทราบเรื่องมีการดำเนินการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ผู้ถูกกล่าวหาออกจากราชการไว้ก่อนและมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแล้ว โดยขั้นตอนนี้เป็นการดำเนินการทางวินัยหากผิดจริงก็จะถูกลงโทษตามระเบียบกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีกระบวนการทางคดีอาญา ซึ่งทางต้นสังกัดจะเป็นผู้ร้องทุกข์ กับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

สำหรับขั้นตอนการสอบสวนตามระเบียบมีระยะเวลา 180 วัน แต่กรณีนี้ผู้เสียหายมีพยานหลักฐานชัดเจนก็อาจจะใช้เวลาไม่นาน

นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยังระบุถึงกรณีที่ผู้เสียหายกล่าวอ้างว่าพยายามโทรร้องเรียนไปที่เบอร์โทรส่วนกลางของเรือนจำพิเศษธนบุรี แต่ผู้รับสายกลับไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์แต่เป็นผู้คุมคู่กรณี ยอมรับว่าเป็นความผิดปกติเพราะปกติจะต้องเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบหากมีผู้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการสอบสวนด้วย

พร้อมฝากถึงประชาชนหากพบกรณีในลักษณะเดียวกันนี้ หรือไม่ได้รับความสะดวกในกระบวนการยุติธรรม สามารถโทรร้องทุกข์ได้ที่สายด่วน 1111 ต่อ 777 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง