“พนิต” แนะ กก.บห.ลาออก ชี้ไม่ใช่หนีปัญหา แต่รับผิดชอบกรณี "ปริญญ์"

การเมือง
24 เม.ย. 65
12:11
340
Logo Thai PBS
“พนิต” แนะ กก.บห.ลาออก ชี้ไม่ใช่หนีปัญหา แต่รับผิดชอบกรณี "ปริญญ์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"พนิต” เรียกร้องกก.บห.พรรคประชาธิปัตย์ “Accountability” หลังสังคมต้องการมากกว่าคำขอโทษ ยกอดีตบิ๊กปชป.เคยไขก๊อกรับผิดชอบเหตุการณ์-การกระทำ เพื่อกู้ศรัทธาพรรคมาแล้ว ชี้การลาออกไม่ใช่หนีปัญหา เพราะพรรคยังอยู่

วันนี้ (24 เม.ย.2565) นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว Panich Vikitsreth - พนิต วิกิตเศรษฐ์ เรื่อง “Accountability” เพื่อรับผิดชอบ ไม่ใช่หนีปัญหา! " ว่า ตนเชื่อมาเสมอว่า สิ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยังยืนหยัดอยู่ตรงนี้มานานหลายสิบปี จนได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการเมืองที่มีรากฐานมั่นคงที่สุดคือ ความศรัทธา และความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อเรา

วันนี้พรรคกำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ และเราจะผ่านวิกฤตไปได้ ก็ต่อเมื่อได้ทำให้สังคมและประชาชนกลับมาศรัทธาและเชื่อมั่นเราเหมือนเดิม

ตั้งแต่เกิดเรื่องในช่วงสงกรานต์ ต่อเนื่องมาปฏิกิริยาของผู้บริหารพรรคที่ออกมาขอโทษและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ผ่านมาแล้วหลายวัน คำถามของสังคมและประชาชนที่มีต่อเรายังคงอยู่ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า จบแบบนี้ใช่หรือไม่?

ตนเห็นด้วยที่ผู้บริหารพรรคที่กล้าออกมาขอโทษต่อสังคม แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นปฏิกิริยาที่ช้าเกินไปก็ตาม แต่ในฐานะสมาชิกพรรค ตนให้กำลังใจ การมองว่า ช้า หรือ ไม่ช้า นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ ช้า แล้วเพียงพอที่จะเรียกศรัทธาและความเชื่อมั่นของพรรคให้กลับมาได้หรือไม่ต่างหากเป็นเรื่องสำคัญ

“เพราะวันนี้มีหลายคนมองว่า สิ่งที่ดำเนินการไปยังไม่เพียงพอ จนทำให้ประชาชนอาจไม่เชื่อว่า พรรคแก้ไขปัญหานี้ได้ในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว พูดง่ายๆ คือ คนยังไม่เชื่อใจพวกเรา หากเป็นธนาคาร พวกเขายังคงถอนเงินออกอย่างต่อเนื่องอยู่ เพราะไม่มั่นใจว่า เราจะบริหารสินทรัพย์ได้ดี”

นายพนิตระบุว่า ประชาชนต้องการความมั่นใจมากกว่านี้ ดังนั้นเราต้องคิดให้ออกว่า ยังมีอะไร หรือมีมาตรการอะไรที่ชัดเจนว่า เราจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงความรับผิดชอบอะไรที่จะทำให้พวกเขากลับมาศรัทธาได้เหมือนเดิม

ในภาษาอังกฤษ มีคำอยู่ 2 คำ ที่เกี่ยวกับเรื่อง ‘ความรับผิดชอบ’ คำแรกคือ Responsibility หรือ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ กับอีกคำคือ Accountability หรือ ความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือความรับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้อง

2 คำนี้แตกต่างกันพอสมควร และสำหรับ Responsibility ไม่น่าจะเพียงพอกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเราอยู่ เพราะสังคมต้องการอะไรที่มากกว่า Responsibility ไปแล้ว

สังคมต้องการมากกว่าคำพูดว่า “รับผิดชอบ” แต่พวกเขาต้องการให้เรารับผิดชอบและดำเนินการกับสิ่งที่ได้ทำลงไปจากกรณีการแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาและเกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Accountability

แต่ในกรณีที่มีหลายคน Responsible ไม่จำเป็นว่า ทุกคนจะต้อง Accountable ในต่างประเทศหรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำที่จะต้องรับภาระนี้ ตัวอย่างที่ดีคือ การที่หัวหน้าโครงการก่อสร้างอาจจะไม่ได้เป็นคนที่ Responsible สำหรับงานสร้างในทุกส่วนของโครงการ แต่จะต้องเป็นคนที่ Accountable เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในแต่ละภาคส่วน

นายพนิตกล่าวต่อว่า ในอดีตคนในพรรคประชาธิปัตย์เอง เคยแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ หรือรับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้องมาหลายคนแล้ว ยกตัวอย่าง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. คุณวิฑูรย์ นามบุตร อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

แม้แต่ล่าสุดที่ คุณวิทยา แก้วภราดัย อดีตส.ส.หลายสมัยของพรรคเรา ตัดสินใจลาออกจากสมาชิกและกรรมการบริหารพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน ในฐานะที่กรรมการบริหารพรรคเป็นคนชักจูง คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ มาอยู่ในพรรค

“สำหรับผมไม่มองว่า การรับผิดชอบด้วยการลาออก จะเป็นการทิ้งปัญหา หรือหนีปัญหา เพราะพรรคประชาธิปัตย์คือสถาบันการเมือง ที่ขับเคลื่อนและยืนหยัดในหลักการไม่ใช่ตัวบุคคล ผมคิดเพียงแต่ว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจว่า เราคือสถาบันทางการเมืองที่ไว้วางใจได้” นายพนิต กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง