เตือนมุกใหม่ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" หลอกลวงขโมยเงินรูปแบบใหม่

อาชญากรรม
2 พ.ค. 65
10:39
990
Logo Thai PBS
เตือนมุกใหม่ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" หลอกลวงขโมยเงินรูปแบบใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจเตือน "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ใช้มุกใหม่ ส่งลิงค์แอปฯ ควบคุมการใช้มือถือเหยื่อ กวาดเงินเกลี้ยงบัญชี

วันนี้ (2 พ.ค.2565) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ PCT หรือ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากฝ่ายรับแจ้งความออนไลน์ ว่ามีผู้เสียหายถูกแก็งคอลเซ็นเตอร์ หลอกว่าส่งของผิดกฎหมาย อ้างเป็นตำรวจ สภ.เชียงราย ให้ผู้เสียหายกดลิงค์แอปฯ ที่สามารถควบคุมเครื่องระยะไกล เพื่อแจ้งความออนไลน์ ผู้เสียหายได้โหลดลิ้งค์และบอกรหัส 9 ตัว ให้กับผู้ก่อเหตุ ซึ่งเชื่อว่าเป็นรหัสควบคุมเครื่อง จากนั้นผู้ก่อเหตุให้คว่ำหน้าจอโทรศัพท์ไว้เป็นเวลา 15 นาที เมื่อเปิดขึ้นมาปรากฏว่าเงินหายไปจากบัญชีธนาคารรวม 4 บัญชี เป็นเงินทั้งสิ้น 2 ล้านกว่าบาท

แอปฯที่ผู้ก่อเหตุนำมาใช้นั้น เป็นแอปฯที่มีประโยชน์ ช่วยให้เข้าไปควบคุมคอมพิวเตอร์อีกเครื่องได้ เสมือนเราไปนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น แต่หากมิจฉาชีพนำไปใช้ในทางที่ผิด มันก็อาจก่อความเสียหายกับเราได้อย่างมหันต์ ยกตัวอย่างว่า หากมิจฉาชีพโทรมาด้วยมุกอะไรก็ตาม แล้วส่งลิงก์แอปฯ ประเภทนี้ ซึ่งมีอยู่มากมายใน Play Store หรือ App Store แล้วเราติดตั้งลงไป

ประการแรกแอปฯจะสามารถควบคุมมือถือระยะไกล โดยจะมีขั้นตอนที่ผู้ก่อเหตุอาจจะบอกให้กรอก ตัวเลข หรือ ตัวอักษรสักชุด หลอกถามเอาตัวเลขชุดนั้นจากเรา ทันใดนั้นก็จะควบคุมเครื่องของเราได้ทันที บังคับคลิกได้ทุกปุ่ม ทุกแอปฯ

ประการที่สอง แอปฯประเภทแชร์หน้าจอ วิธีการใช้เหมือนแอปฯควบคุมมือถือ แต่อันนี้ผู้ก่อเหตุจะดูหน้าจอเราได้ เช่น หลอกให้เราเปิดแอปฯสักแอปฯ ผู้ก่อเหตุก็จะเห็นข้อมูลเราทั้งหมด เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็อาจมีแผนสองหลอกเราต่ออีกครั้งในขั้นตอนต่อไปก็ได้

สำหรับกรณีดังกล่าวข้างต้น ผู้ก่อเหตุหลอกให้โหลดแอปฯ จากนั้นหลอกให้บอกรหัส 9 ตัว คว่ำหน้าโทรศัพท์ 15 นาที อ้างรอตรวจสอบข้อมูล ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นช่วงดูดข้อมูล เมื่อเปิดหน้าจอมาเงินหายหมด เชื่อว่าผู้ก่อเหตุขอเปลี่ยนรหัสเข้าบัญชีเอง เพราะมีเลข OTP ส่งจากธนาคารมาที่โทรศัพท์ผู้เสียหาย แต่ผู้ก่อเหตุสามารถเห็นได้ที่หน้าจอเอง แล้วทำรายการโอนเงินที่เครื่องทุกบัญชีที่มีอยู่ในโทรศัพท์

การที่คนอื่นควบคุมโทรศัพท์เราได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับเรายื่นโทรศัพท์ให้เขา

ผู้อำนวยการศูนย์ PCT กล่าวว่า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เงินในบัญชีเราจะหายได้ทันทีทันใด เพราะคนก่อเหตุก็ยังไม่รู้รหัสการทำธุรกรรมกับ e-banking ของเราอยู่ดี ถ้ามีสติ ไม่บอกรหัส ก็ยากที่คนร้ายจะโอนเงิน ผ่าน ช่องทางดังกล่าว

ทั้งนี้ฝากเตือนประชาชนว่า สำนักตำรวจแห่งชาติไม่มีนโยบายให้ตำรวจหน่วยงานต่างๆ ติดต่อผู้เสียหายทางไลน์ หรือให้โหลดแอปฯ หรือให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ เพราะฉะนั้นอย่าหลงเชื่อบอกข้อมูลส่วนตัวให้ใครง่ายๆ โดยเฉพาะรหัส OTP หรือรหัสควบคุมเครื่อง

หากสงสัยหรือแจ้งเบาะแส ได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 หรือ 191 ทั่วประเทศ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง