ตร.เปิดโครงการ "ลบประวัติ ล้างความผิด" แก้ประวัติอาชญากร

อาชญากรรม
3 พ.ค. 65
17:17
48,704
Logo Thai PBS
ตร.เปิดโครงการ "ลบประวัติ ล้างความผิด" แก้ประวัติอาชญากร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งแก้ประวัติอาชญากร ผู้เคยต้องคดีอาญา และศาลยกฟ้องแล้ว เพื่อลดภาระประชาชน และเพิ่มโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ พร้อมปรับแก้ระเบียบการนำประวัติผู้ต้องหาเข้าสู่ระบบแยกเป็นทะเบียนผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว และยังไม่มีคำพิพากษา

วันนี้ (3 พ.ค.2565) พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เปิดโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่เคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญา แต่ศาลยกฟ้อง ซึ่งยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้อาจถูกตัดสิทธิ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เนื่องจากตามปกติ หากคดีสิ้นสุด โดยอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยตัวเอง เพื่อคัดชื่อออกจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร แต่โครงการนี้จะทำการคัดแยก หรือ ทำลายรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ เพื่อลดภาระประชาชน ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมอบหมายให้สายตรวจในพื้นที่ แจ้งให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประวัติทราบต่อไป


โดยข้อมูลจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ณ วันที่ 28 เม.ย.2565 มีผู้ที่คดีถึงที่สุดกว่า 7.8 ล้านราย จากที่มีประวัติคดีทั้งหมดกว่า 12 ล้านราย โดยเหลืออีกกว่า 4.6 ล้านราย ที่ยังไม่มีการรายงานข้อมูลคดีถึงที่สุด จึงมอบหมายให้ทุกสถานีตำรวจ เร่งสำรวจข้อมูลคดีอาญาถึงที่สุด ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ มุ่งเน้นการคัดแยกประวัติอาชญากรรมที่เข้าเกณฑ์ เช่น คดีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดีอาญา ศาลสั่งยกฟ้อง หรือไม่ประทับรับฟ้อง และ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง

ด้าน ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดให้ผู้ที่ถูกแจ้งข้อหาทุกคน ต้องมีการพิมพ์ลายนิ้วมือและบันทึกประวัติเข้าสู่ทะเบียนประวัติอาชญากร แต่เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือ ศาลยกฟ้อง ยังไม่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน และไม่มีการลบข้อมูลประวัติอาชญากรอัตโนมัติ ทำให้ตัวจำเลยหรือผู้ต้องหา ต้องเป็นผู้ยื่นเรื่องขอคัดแยกประวัติ ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร

ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างปรับแก้ระเบียบ ให้มีการนำประวัติผู้ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา เข้าสู่ทะเบียนผู้ต้องหา ส่วนผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ถึงจะเข้าสู่ทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งยืนยันว่า ไม่ใช่การล้างความผิด แต่เป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องคดี ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือ ศาลยกฟ้อง


ขณะเดียวกัน ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยังแถลงผลการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ปลอมเอกสารตรวจสอบประวัติอาชญากร 2 คน คดีแรกจับกุมนายวรพล ทรงสละบุญ ซึ่งโพสข้อความผ่านเฟสบุ๊กกลุ่มไรเดอร์ต่าง ๆ ว่าสามารถตรวจสอบ ลบข้อมูลประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ โดยคิดค่าบริการรายละ 200-2,000 บาท แต่พบว่า เอกสารที่ผู้ต้องหาทำขึ้น เป็นเอกสารปลอม และไม่มีการลบประวัติอาชญากรรมตามที่กล่าวอ้าง อีกคดี จับกุม นายจำลอง ยิ่งตระกูล พนักงานชั่วคราวของบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีพฤติกรรมลักษณะเดียวกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง