รู้จัก! "ฝีดาษลิง" โรคติดจากสัตว์สู่คน ที่สหราชอาณาจักรเริ่มพบผู้ติดเชื้อ

สังคม
18 พ.ค. 65
10:55
2,981
Logo Thai PBS
รู้จัก! "ฝีดาษลิง" โรคติดจากสัตว์สู่คน ที่สหราชอาณาจักรเริ่มพบผู้ติดเชื้อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จัก "โรคฝีดาษลิง" โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน พบมากในแอฟริกากลางและตะวันตก แม้โอกาสติดจะมีน้อย แต่ควรระวัง หลังล่าสุด สหราชอาณาจักรรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่มอีก 4 คน

จากกรณีสหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน หลังก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อมีประวัติเดินทางไปยังแอฟริกาตะวันตก ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนมารู้จักกับ "โรคฝีดาษลิง" หรือ Monkeypox ที่ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สหราชอาณาจักร พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน)

ฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น vaccinia virus, cowpox virus, variola virus เป็นต้น เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ มีอัตราการตายสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 10

โรคฝีดาษลิง พบมาในแอฟริกากลางและตะวันตก

โรคฝีดาษลิง พบมากในแอฟริกากลางและตะวันตก รายงานผู้ป่วยของประเทศซาอีร์ แสดงถึงรูปแบบใหม่ของโรค monkeypox ซึ่งมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป กระทรวงสาธารณสุขของซาอีร์ จึงได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก สอบสวนรายละเอียดการระบาดในเดือน ก.พ.2540

ในอดีตการระบาดของโรคนี้ในซาอีร์จะไม่แพร่ขยายลึกเข้าไปในหมู่บ้าน และจะไม่ระบาดอยู่นาน เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยคนแรกหายจากโรคแล้ว มักจะไม่มีการแพร่ระบาดติดต่อไปยังคนอื่น ๆ มากนัก

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่า โรค monkeypox ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการแพร่ติดต่อในคน โดยมีอัตราการติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนสูงขึ้น และมีการแพร่ติดต่อกันเป็นลูกโซ่ต่อ ๆ กันได้หลายรุ่น ทำให้การระบาดครั้งหนึ่ง อาจยืดยาวอยู่ได้นานเกินกว่า 1 ปี 

อาการและการก่อโรค

โรคฝีดาษลิง พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อได้ โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน

อาการป่วยคือมีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และอ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ อัตราตายของโรคพบสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 10

การควบคุมและป้องกันโรค

สำหรับการควบคุมและป้องกันโรค เริ่มต้นด้วยการเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณร้อยละ 85 ก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ซึ่งไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ


ที่มา : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง