ยุโรป-สหรัฐฯ พบคนติด "ฝีดาษลิง" เร่งหาความเชื่อมโยงการระบาด

ต่างประเทศ
20 พ.ค. 65
07:21
6,818
Logo Thai PBS
ยุโรป-สหรัฐฯ พบคนติด "ฝีดาษลิง" เร่งหาความเชื่อมโยงการระบาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การแพร่ระบาดของ "ฝีดาษลิง" ทยอยพบผู้ติดเชื้อในอังกฤษ ยุโรป ลามไปถึงสหรัฐฯ ขณะที่แพทย์อยู่ระหว่างตรวจสอบความเชื่อมโยงการระบาด

เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2565 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า แพทย์ในสหรัฐอเมริกา รายงานพบผู้ติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" คนแรกของปี 2565 จากผู้ที่มีประวัติเดินทางไปแคนาดาเ มื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยแพทย์ระบุว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบความเชื่อมโยงกับการระบาดของฝีดาษลิงที่พบในยุโรป แต่ยังไม่จัดเป็นอันตรายต่อสาธารณชนเป็นวงกว้าง

ขณะที่ในยุโรป พบการระบาดในหลายประเทศ จากช่วงต้นสัปดาห์ที่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อในอังกฤษ ต่อมาพบระบาดในสเปน โปรตุเกส ล่าสุดมีรายงานพบผู้ติดเชื้อคนแรกในสวีเดนและอิตาลี ซึ่งสเปนกำลังตรวจสอบ 23 คนเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ส่วนในทวีปอเมริกาพบที่แคนาดาและสหรัฐฯ

องค์การอนามัยแพนอเมริกัน เปิดเผยว่า หน่วยงานสาธารณสุขในโปรตุเกสพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 5 คน ส่วนมากเป็นผู้ชายอายุน้อย มีแผลพุพองตุ่มหนอง อาการทรงตัว แต่ไม่ได้เปิดเผยว่ามีประวัติการเดินทางไปทวีปแอฟริกาหรือไม่ โดยโปรตุเกสตั้งคณะทำงานติดตามการระบาดของฝีดาษลิง เพราะกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด แต่ขอให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนก เพราะความเสี่ยงเกิดการระบาดต่ำ

ฝีดาษลิงพบการระบาดในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ ได้ไม่บ่อยนัก หากพบผู้ติดเชื้อจะพบความเชื่อมโยงกับการเดินทางไปประเทศที่พบการระบาดเป็นประจำ ทั้งในแอฟริกากลาง แอฟริกาตะวันตก

 

การระบาดครั้งนี้สร้างความกังวลว่าโลกอาจต้องเจอกับการระบาดใหญ่อีกหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่าต่างจากโควิด-19 เพราะแพร่ระบาดจากคนสู่คนยากกว่า และต้องไม่สับสนระหว่างฝีดาษลิง Monkeypox ไม่ใช่โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ Smallpox แม้เป็นไวรัสวงศ์เดียวกัน แต่ความรุนแรงต่างกันมากพอสมควร ซึ่งเป็นข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC)

ฝีดาษลิงพบระบาดครั้งแรกในลิงที่เลี้ยงไว้เพื่อการวิจัยเมื่อปี 2501 แต่ปัจจุบันพาหะนำโรคคือ หนู ที่เป็นสัตว์ฟันแทะ โดยมีรายงานว่าพบในโลกตะวันตกครั้งแรกเมื่อปี 2546

การแพร่ระบาดเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดแบบใช้เวลาอยู่ร่วมกันนานๆ ระบาดระหว่างสัตว์ด้วยกัน สัตว์สู่คน และคนสู่คนได้ จากการสัมผัสถูกแผลพุพอง ตุ่มหนอง จะได้รับไวรัส หรือผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ น้ำลาย เป็นต้น ต่างจากโควิด-19 ที่ติดจากละอองฝอยขนาดเล็กที่ลอยฟุ้งในอากาศ

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางประเทศตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดครั้งนี้อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญบางส่วนยังสรุปไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่างในอังกฤษที่ผู้ติดเชื้อบางคนไม่มีความเชื่อมโยงกัน

ข้อมูลจาก National Health Service (NHS) หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ ระบุว่า อาการคือเป็นไข้ ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดหัว เป็นผื่น ตุ่มหนองพุพอง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เหนื่อย หนาวสั่น อาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัด คล้ายโควิด-19 ทำให้แพทย์บางส่วนเตือนให้ประชาชนสังเกตอาการตัวเอง ซึ่งผื่นจะขึ้นหลังเริ่มมีอาการป่วยราว 1-5 วัน คล้ายผื่นอีสุกอีใส

ขณะที่การรักษาโดยตรงยังไม่มี เป็นการรักษาตามอาการเพื่อบรรเทา ส่วนมากไม่ได้ป่วยหนัก อาการต่างๆ จะหายไปใน 2-4 สัปดาห์ วิธีรับมือที่ดีที่สุดยังเป็นการป้องกัน โดยใช้วัคซีนไข้ทรพิษ ซึ่งได้ผลราว 85%

สำหรับโรคฝีดาษ องค์การอนามัยโลก ประกาศว่า ถูกกวาดล้างหมดไปจากโลกนี้แล้วตั้งแต่ปี 2523 อย่างไรก็ตามยังคงมีการเก็บเชื้อไว้ในห้องปฏิบัติการภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อศึกษาวิจัย เนื่องจากมีความกังวลว่าเชื้ออาจกลับมาระบาดอีกครั้ง

ที่มา : Reuter,s BBC, AFP, AP, CDC, NHS, Washington Post

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สหราชอาณาจักร พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน

นพ.ยง ชี้ "โรคฝีดาษลิง" ยังไม่เคยพบในไทย แต่ควรเฝ้าระวัง

เฝ้าระวัง "ฝีดาษลิง" ติดจากสัตว์สู่คนได้ แม้โอกาสติดน้อย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง