นพ.ยง ชี้ "โรคฝีดาษลิง" ยังไม่เคยพบในไทย แต่ควรเฝ้าระวัง

สังคม
20 พ.ค. 65
10:41
364
Logo Thai PBS
นพ.ยง ชี้ "โรคฝีดาษลิง" ยังไม่เคยพบในไทย แต่ควรเฝ้าระวัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ชี้ "โรคฝีดาษลิง" ที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร ไม่ใช่โรคใหม่ แหล่งระบาดจะอยู่ในแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง ยังไม่เคยพบในประเทศไทย แต่ควรเฝ้าระวัง

วันนี้ (20 พ.ค.2565) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า "ฝีดาษลิง" นั้น ไม่ใช่โรคใหม่ พบครั้งแรกในลิงเมื่อปี 2501 และพบในคนตั้งแต่ปี 2513 ในแอฟริกาตอนกลาง และแอฟริกาตะวันตก โดยมีการเรียกชื่อ “ฝีดาษวานร” เพื่อเป็นเกียรติ และระลึกถึงท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ตั้งชื่อโรคนี้ในประเทศไทย

ฝีดาษลิง ไม่เคยพบในประเทศไทย ไม่มีอะไรต้องตื่นตระหนก การติดต่อแพร่กระจายต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด

ศ.นพ.ยง ระบุอีกว่า ฝีดาษลิง คล้ายกับโรคฝีดาษในมนุษย์ แต่ความรุนแรง และการแพร่ระบาดได้น้อยกว่าฝีดาษมาก การติดต่อทราบกันดีว่า คนจะติดมาจากสัตว์ เช่น ลิง สัตว์ตระกูลฟันแทะ กลุ่มหนูในแอฟริกาและกระรอก แหล่งระบาดจะอยู่ในแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง

การพบนอกแอฟริกา ส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางมาจากแอฟริกา และหรือสัมผัสกับสัตว์ที่นำมาจากแอฟริกา โดยการติดต่อระหว่างคนสู่คนเป็นไปได้ แต่ต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น สัมผัสกับน้ำใส ตุ่มหนอง หรือสารคัดหลั่ง ใช้เสื้อผ้าร่วมกัน นอนเตียงเดียวกัน การเลี้ยงสัตว์ต่างถิ่นที่เป็นพาหะโรคนี้อยู่ 

ในอดีตที่ผ่านมายังไม่พบการระบาดใหญ่ พบเป็นกลุ่มในแอฟริกา ยุโรป และอเมริกา เคยมีรายงานผู้ป่วยในสิงคโปร์ ส่วนในอังกฤษครั้งนี้ มีการตั้งข้อสงสัยการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังต้องรอการยืนยัน 

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสเป็นกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ จึงเชื่อว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษ อาจจะป้องกันโรคนี้ได้ คงต้องรอการพิสูจน์ แต่การเฝ้าระวังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง รวมทั้งการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าสู่ประเทศไทย

นักวิจัยระบุ"ฝีดาษลิง"เทียบไม่ได้กับโรคอีสุกอีใส

ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนานักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึง ตอนนี้ที่เริ่มมีคนเอาฝีดาษลิงไปเปรียบกับไวรัสอีสุกอีใส

อีสุกอีใส เรียกว่า Chickenpox ก็จริง แต่ไม่ใช่ Poxvirus เหมือนฝีดาษลิง โดยไวรัสอีสุกอีใสตัวที่แพร่ไวในอากาศได้เป็นตระกูล herpes virus ซึ่งไม่ใช่ Poxvirus เอามาอนุมานเทียบกันไม่ได้

ทั้งนี้ ไวรัสชนิดนี้จริง ๆ มี 2 ชนิด แบ่งได้ตามความรุนแรงตัวที่พบกระจายอยู่ตอนนี้เป็นสายพันธุ์รุนแรงน้อย อัตราเสียชีวิตประมาณโควิด-19 ส่วนตัวที่รุนแรงมากยังเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกาซึ่งความรุนแรงจะสูงกว่าเทียบเท่ากับ SARS-CoV ตัวแรก

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สหราชอาณาจักร พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน

ยุโรป-สหรัฐฯ พบคนติด "ฝีดาษลิง" เร่งหาความเชื่อมโยงการระบาด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง