รายงานพิเศษ : “อุโมงค์ยักษ์” ไม้ตาย ระบายน้ำท่วม แต่น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์

การเมือง
20 พ.ค. 65
16:21
891
Logo Thai PBS
รายงานพิเศษ : “อุโมงค์ยักษ์” ไม้ตาย ระบายน้ำท่วม แต่น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เมื่อดูจากแผนการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปี 2565 นี้ กทม. มีแผนและเครื่องมือแก้ไขน้ำท่วมอยู่หลายเครื่องมือ ยกตัวอย่างให้เห็นได้ เช่น
- ติดตามพยากรณ์อากาศ เตรียมคน 24 ชั่วโมง
- ใช้ระบบโทรมาตร ตรวจระดับน้ำ จากสถานีเครือข่าย
- มีระบบการตรวจวัดระดับน้ำ ในเจ้าพระยาและคลอง 255 แห่ง
- ระบบตรวจวัดปริมาณฝน 130 แห่ง
- ระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน 100 แห่ง
- ระบบตรวจวัดน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอด 8 แห่ง
- ตรวจสอบประสิทธิภาพของอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง
- ตรวจสถานีสูบน้ำ 190 แห่ง
- มีประตูระบายน้ำ 244 แห่ง
- บ่อสูบน้ำ 316 แห่ง
- ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยง และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม
- มีแผนเตรียมลดระดับน้ำ ในคูคลองและบ่อสูบน้ำต่าง ๆ
- ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ
- ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล
- จัดเก็บขยะวัชพืช
- เตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ พร้อมรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง

อุโมงค์ยักษ์

เครื่องมือสำคัญ ที่เปรียบเสมือนเป็นท่าไม้ตาย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ กทม. คือ ระบบระบายน้ำด้วยอุโมงค์ยักษ์

“อุโมงค์ยักษ์” ระบายน้ำ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-5.0 เมตร ก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร และมีแผนสร้างอีก 6 แห่ง ความยาวรวม 39.625 กิโลเมตร คาดว่าใช้เงิน งบประมาณทั้งหมดอยู่ที่ 26,580 ล้านบาท

เมื่อศึกษาจากข้อมูลในช่วงเวลา 8 ปี การลงทุนเพื่อใช้เงินเป็นไปตามแผนงานเพื่อแก่ไขน้ำท่วมของ กทม. เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันว่า น้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่ให้คนในเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน และปัญหาน้ำท่วมก็มีแนวโน้มมากขึ้น

ดังนั้นการลงทุนด้วยงบประมาณ เพื่อก่อสร้าง “อุโมงค์ยักษ์” เป็นหนทางหนึ่งเพื่อลดความเสียหายจากน้ำท่วม

ในรอบ 8 ปี พบการใช้งบประมาณไปกับอุโมงค์ยักษ์ คืออุโมงค์ยักษ์ มูลค่า 8,200 ล้านบาท ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัว ไปแม่น้ำเจ้าพระยา ในปีงบประมาณ 2564 ที่ผู้ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้าไอทีดี-เอ็นดับเบิลยูอาร์

อีกโครงการใช้งบประมาณ ไตรมาสแรก ปี 2565 เป็นอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 มูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูล คือ กิจการร่วมค้า เอสจี-พีซีอี

งบประมาณเพื่อการระบายน้ำ

เมื่อพูดถึงอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่แนวทางระบายน้ำแก้ไขปัญหา น้ำท่วม กทม. ยังมีเครื่องมือระบายน้ำอีกหลายวิธี

ประเด็นที่จะกล่าวถึงคือ แต่ละเครื่องมือของการระบายน้ำ กทม.ใช้งบประมาณไปกับโครงการอะไรบ้าง จะยกตัวอย่างจากเครื่องมือที่ใช้งบประมาณที่ ค้นหาเพื่อให้เป็นที่น่าสังเกต โดยเฉพาะบ่อพักกับท่อระบายน้ำ

ไม่ใช่แค่อุโมงค์ยักษ์ ที่กทม. ลงทุนไปเพื่อการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่กทม. ยังมีโครงการ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกมาก ทั้งการลงทุน เพื่อจัดการกับบ่อพัก และท่อระบายน้ำ ในช่วงระยะ 8 ปี (ปี 2558-2565) มีจำนวน 212 โครงการ ซึ่งมากที่สุดเกิดจากโครงการที่เกี่ยวข้องกับบ่อพักและท่อระบายน้ำ ซึ่งจะเรียงลำดับการใช้งบประมาณ 10 อันดับ ที่ใช้งบประมาณตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป มีตัวอย่างดังนี้

- โครงการระบบระบายน้ำบริเวณถนน งบประมาณ กว่า 600 ล้านบาท (694,726,000)
- โครงการบริหารจัดการอุโมงค์ระบายน้ำ งบประมาณ 590 ล้านบาท (590,000,000)
- โครงการทำความสะอาดท่อระบายน้ำ งบประมาณ 494 ล้านบาท (494,952,865)
- โครงการบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน งบประมาณ 355 ล้านบาท (355,000,000)
- โครงการประตูระบายน้ำ งบประมาณ 308 ล้านบาท (308,169,306)
- โครงการปรับปรุงรางระบายน้ำ งบประมาณ 227 ล้านบาท (227,139,200)
- โครงการบ่อสูบน้ำ งบประมาณ 222 ล้านบาท (222,567,768)
- โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำ งบประมาณ 196 ล้านบาท (196,095,000)
- โครงการบำรุงรักษาศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร งบประมาณ 149 ล้านบาท (149,960,000)
- โครงการท่อส่งน้ำ (Column Pipe) งบประมาณ 109 ล้านบาท (109,683,471)

ระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย

ไม่ใช่แค่อุโมงค์หรือบ่อพักและท่อระบายน้ำ แต่ กทม.ยังลงทุนไปกับการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียด้วย รวมทั้งการจัดการเพื่อการขุดลอกคูคลองและการระบายน้ำต่าง ๆ ก็เพื่อทำให้คน กทม. ได้รับความเสียหายให้น้อยที่สุด จากน้ำท่วมแต่ละปี

แต่ก็เป็นคำถามกลับไปที่ กทม.ว่า ลงทุนมากมายขนาดนี้ แต่ทำไมยังคงมีน้ำท่วม และเป็นข้อเรียกร้องให้คน กทม.ได้ทุกปี หรือเกือบทุกครั้ง เมื่อมีฝนตก น้ำท่วม และต้องรอการระบาย กลายเป็นคำถามว่า กทม. ลงทุนไปถูกต้อง ถูกวิธี และคุ้มค่ากับการใช้เงินหรือไม่ มาดูกันว่า กทม. ลงทุนจัดการเรื่องขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำอย่างไร

งบประมาณ 8 ปีสำหรับโครงการ ที่เกี่ยวน้องกับการขุดลอกคลอง และทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ใช้งบประมาณ ไปกว่า 1,200 ล้านบาท (1,243,075,840) ประกอบไปด้วย ขุดลอกคลอง ,ขุดลอกคูน้ำ ,ขุดลอกบึง ,ขุดลอกบึง ,ขุดลอกลำกระโดง ,ขุดลอกลำราง ,ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ฯลฯ มาดูตัวเลขการใช้เงินครับว่า หน่วยงานไหนในสังกัด กทม. ใช้เงินมากที่สุด ใน 10 อันดับ

อันดับ 1 เป็นสำนักการระบายน้ำ เพราะอาจถือได้ว่า เป็นหน่วยงานหลักที่ต้องทำหน้าที่ เกี่ยวกับการระบายน้ำ ตามชื่อที่ตั้งของหน่วยงาน ใช้เงินไป 8 ปี ( ปี 2558-2565) 391 ล้านบาท (391,637,860) และปีที่ใช้เงินมากที่สุด คือในปี 2563 ประมาณ 104 ล้านบาท (104,548,600)

อันดับ 2 เป็นสำนักงานเขตหนองจอก 68 ล้านบาท (68,149,178)
อันดับ 3 สำนักงานเขตจอมทอง 55 ล้านบาท (55,676,100)
อันดับ 4 สำนักงานเขตบางแค 49 ล้านบาท (49,324,600)
อันดับ 5 สำนักงานเขตมีนบุรี 48 ล้านบาท (48,892,600)
อันดับ 6 สำนักงานเขตภาษีเจริญ 43 ล้านบาท (43,078,800)
อันดับ 7 สำนักงานเขตสายไหม 41 ล้านบาท (41,139,200)
อันดับ 8 สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ 32 ล้านบาท (32,120,418)
อันดับ 9 สำนักงานเขตบางกะปิ 31 ล้านบาท (31,060,239)
อันดับ 10 สำนักงานเขตบางเขน 30 ล้านบาท (30,110,871)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง