"อนุชา" เผยผลสอบ "หมอปลา" ชี้ไม่มีอำนาจเข้าตรวจสอบ "พระภิกษุ"

สังคม
28 พ.ค. 65
13:23
373
Logo Thai PBS
"อนุชา" เผยผลสอบ "หมอปลา" ชี้ไม่มีอำนาจเข้าตรวจสอบ "พระภิกษุ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"อนุชา" เผยผลสอบ "หมอปลา" พร้อมคณะ ชี้ไม่มีอำนาจเข้าตรวจสอบพระภิกษุ และเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ทำให้พระภิกษุไม่ได้รับความเป็นธรรม

วันนี้ (28 พ.ค.2565) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณี นายจีรพันธ์ เพชรขาว (หมอปลา) กับพวกนําคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่วัดต่าง ๆ โดยอ้างว่า เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระภิกษุ โดยนำคณะบุกเข้าไปในวัด ที่พักสงฆ์ และกุฏิที่พำนักของสงฆ์หลายพื้นที่

จากการหารือของคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การกระทำการ ดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง กฏและมติมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้องหลายข้อ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 และข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553

ในส่วนการดำเนินการของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ การลงโทษพระภิกษุสงฆ์กรณีที่ละเมิดพระธรรมวินัย เป็นไปตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 หลักเกณฑ์การลงนิคหกรรมนั้นต้องเป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ออกตามความมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งตามกฎมหาเถรสมาคม ผู้มีอำนาจ คือ ผู้พิจารณากับคณะผู้พิจารณาชั้นต้น คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์และคณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งพระสังฆาธิการทั้งหมด ผู้ที่ไม่ใช่บุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบพระภิกษุได้ การกระทำของนายจีรพันธ์ (หมอปลา) และพวกจึงไม่เหมาะสม และส่งผลให้พระภิกษุไม่ได้รับความเป็นธรรม

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการและกำชับให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยย้ำให้ประสานความร่วมมือกับพระสังฆาธิการในพื้นที่ปกครอง สอดส่อง ดูแลพระภิกษุที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมดังเช่นกรณีดังกล่าว เพื่อป้องกันกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีที่คิดร้ายต่อพระพุทธศาสนา

ในส่วนของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคณะสงฆ์ เป็นอำนาจตามกฎมหาเถรสมาคมที่จะพิจารณาความผิดและบทลงโทษ ดังนั้น การที่ฆราวาสจะเข้าไปก้าวก่ายและเอาผิดเรื่องของสงฆ์ไม่สามารถทำได้ ซึ่งสิ่งนี้ถือปฏิบัติมากว่า 2,500 ปีแล้ว การกระทำของนายจีรพันธ์ (หมอปลา) และพวกจึงถือเป็นการทำให้พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาหลักของชาติเสื่อมเสีย และไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หากพุทธศาสนิกชนท่านใดพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ขอให้รีบแจ้งไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ต่อไป 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง