องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมช่วย "ชัชชาติ" แก้ทุจริต

การเมือง
6 มิ.ย. 65
20:02
516
Logo Thai PBS
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมช่วย "ชัชชาติ" แก้ทุจริต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เผย "ชัชชาติ" ผู้ว่าฯ กทม.เดินหน้าแก้ปัญหาต่อต้านคอร์รัปชันภายใน กทม.เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้ใจจากประชาชนให้กลับคืนมา โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จะช่วยวางระบบการเปิดเผยข้อมูลให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

วันนี้ (6 มิ.ย.2565) นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยถึงการหารือกรณีการต่อต้านคอร์รัปชันใน กทม. กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ว่า นายชัชชาติ ยอมรับว่า กทม.เสียความเชื่อมั่นในสายตาประชาชนอย่างมาก ซึ่ง กทม.ต้องแก้ไข

 

นายมานะระบุว่า ที่ผ่านมา กทม.มีปัญหาเชิงระบบของตัวเอง เริ่มตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง ตัวเลขการจัดซื้อและการใช้เงิน กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ไม่มีตัวเลขในระบบ EGP ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ และการจัดซื้อก็กระจัดกระจายหาข้อมูลได้ยากมาก จึงจำเป็นต้องมีการปรับแก้ไขใหม่ ทำไมไม่วางระบบของตัวเองให้ดี ที่ผ่านมาผู้บริหารตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างไร

อีกปัญหาคือ ส่วยสินบน ที่ประชาชนเดือดร้อน รวมถึงกิจการเชิงพาณิชย์ที่ผ่านกรุงเทพธนาคม ในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว, สายสัญญาณโทรคมนาคม, โรงกำจัดขยะ ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่เห็ดชัดเจนว่า มีจุดอ่อนและช่องโหว่ขนาดใหญ่

นายมานะ ระบุว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันมีอาสาสมัครในการทำข้อมูล ล่าสุดเห็นข้อมูลการใช้เงินของ กทม.ไม่น้อยกว่า 90 % ซึ่งสามารถวิเคราะห์เป็นเรื่อง ๆ ได้ เช่น การลอกท่อลอกคลองพบว่า หากยังดำเนินการเหมือนเช่นที่ผ่านมา จะต้องใช้เวลาลอกคลองทั้งหมด 24 ปี ถึงจะทำได้หมด

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเห็นว่า เงินไปอยู่ที่ไหน การใช้งบผูกพันของ กทม.ไปจมอยู่โครงการไหน เท่าไหร่ และอะไรที่ไม่ยอมลดลงตามสัดส่วนของการใช้ประโยชน์จริง

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะเข้ามาช่วยผู้บริหาร กทม.วางระบบการเปิดเผยข้อมูล วางระบบการทำงานของ กทม.ให้เกิดประโยชน์และมีความคล่องตัวมากที่สุด

 

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวถึงอุปสรรคและความท้าทายของ ผู้ว่าฯ กทม. ในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน คือ เจ้าหน้าที่หลายระดับเคยชินกับเรื่องผลประโยชน์

ขณะเดียวกัน กทม. เป็นหน่วยงานใหญ่ที่โครงสร้างงบประมาณไม่เหมือนกับหน่วยงานอื่น ๆ ของประเทศ งบประมาณส่วนใหญ่ จะอยู่ที่การจัดซื้อจัดจ้าง แต่งบจัดซื้อจัดจ้างกลับไปซ้อนอยู่ในงบหมวดอื่น ๆ ซึ่งไม่รู้เลยว่า ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครหรือไม่ หรือผ่านระบบการตรวจสอบอย่างดีแล้วหรือไม่

เป็นปัญหาที่น่าหนักใจ ผู้ว่าฯ กทม.จะสามารถเจาะข้อมูลและเอาชนะพฤติกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง