กรมประมง รับมีช่องโหว่คุม "อาโซลอต" พบลอบหิ้วไข่มาเพาะเอง

สิ่งแวดล้อม
11 มิ.ย. 65
16:08
1,232
Logo Thai PBS
กรมประมง รับมีช่องโหว่คุม "อาโซลอต" พบลอบหิ้วไข่มาเพาะเอง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมประมง รับมีช่องโหว่คุม "อาโซลอต" หรือหมาน้ำ สัตว์น้ำยอดฮิตของเด็ก พบถูกย้อมสีฉูดฉาดดึงดูด ซึ่งแม้จะอยู่บัญชี 2 ไซเตสแต่มีขอนำเข้าถูกกฎหมายรายเดียว พบเล็ดรอดแอบนำไข่อ่อนมาเพาะเอง เล็งตรวจฟาร์มเพาะแถวพื้นที่ราชบุรี นครปฐม แต่ไม่ห่วงทำลายนิเวศ

กรณี เพจเฟซบุ๊ก Axolotl Ville TH ออกมาเตือนเรื่องการย้อมสี "หมาน้ำ" หรืออาโซลอต (axolotl) ซึ่งเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในอันดับซาลาแมนเดอร์ชนิดหนึ่งจากประเทศเม็กซิโก หลังได้รับความนิยมเป็นสัตว์เลี้ยงในไทย ล่าสุด พบมีกลุ่มผู้ขายที่นำหมาน้ำไปย้อมสี ทำให้มีการเตือนจากกลุ่มผู้ประกอบการที่เพาะเลี้ยงว่า ไม่สนับสนุนการการกระทำ

วันนี้ (11 มิ.ย.2565) นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า จากข้อมูลการนำเข้าอาโซลอต ซึ่งเป็นสัตว์น้ำอยู่ในบัญชี 2 ไซเตสพบมีเพียงแห่งเดียวที่ขอนำเข้า เป็นสวนสัตว์สาธารณะที่ จ.ภูเก็ต และส่วนหนึ่งมีการนำเข้ามาก่อนที่จะมีกฎหมายควบคุม และเมื่อนำมาแล้วมีการผสมพันธุ์ได้เองภายในประเทศ

 

นายบัญชา กล่าวว่า สำหรับการควบคุมสัตว์ในบัญชีไซเตส ตามหลักการการควบคุมไว้ มี 3 บัญชี คือ 1 ห้ามนำเข้าส่งออก ยกเว้นได้จากการเพาะพันธุ์ เช่น จระเข้ การส่งออกต้องมาจากการเพาะพันธุ์ และต้องมีใบอนุญาตทั้งประเทศปลายทางต้องมียอมรับให้ส่งออก ส่วนบัญชี 2 ชนิดพันธุ์ที่มีน้อย แต่ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น อาโซลอต ในธรรมชาติเหลือไม่มาก แต่เพาะพันธุ์นำเข้าส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนของไทยเช่น ม้าน้ำ

อย่่างไรก็ตาม การนำเข้ามาเป็นสัตว์ต่างถิ่น ไม่ได้ถิ่นกำเนิดในไทย จึงจะมีคณะกรรมการพิจารณาความหลากหลายทางชีวภาพ พิจารณาว่ากระทบกับไทยหรือไม่ การอนุญาตต้องมีเงื่อนไข มีการกำหนดควบคุม ตั้งแต่นำเข้ามา และอยู่ที่ฟาร์ม

ย้อมสีไม่ได้ แต่ไม่มีกฎหมายเอาผิด

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า กรณีของอาโซลอต เมื่อนำเข้ามาแล้วผสมพันธุ์ได้ จำหน่ายได้เพราะไม่ได้ขึ้นบัญชีคุ้มครอง แต่การนำไปทำในวิธีแปลกๆ เช่น ย้อมสี ทำให้ชีวิตสั้นลงเพื่อดึงการค้าไม่ ได้ ขาดความเหมาะสม ไม่ควรทำเพราะสัตว์ชนิดนี้ควรอยู่ในธรรมชาติ 

อาโซลอต มีสีธรรมชาติ 4-5 สี แต่เมื่อนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม ก็ไม่ควรนำไปย้อมสีที่แตกต่างไป การที่ย้อมสีได้ เพราะสัตว์กลุ่มสะเทิ้นสะเทิ้นบกผิวหนัง สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจน มีความพิเศษ การย้อมสี อาจจะเข้าข่ายทำให้ชีวิตสั้นลง กรมประมงไม่ส่งเสริมและแจ้งเตือนขอให้ผู้ที่พบเห็นแจ้งเบาะแส แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายเอาผิดได้ 

อาโซลอต ไม่ได้อยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครอง จึงไม่สามารถเอาผิดได้ แม้จะอยู่ในบัญชี 2 ซึ่งยอมรับมีการนำเข้ามาทั้งที่ถูก และไม่ถูก บางส่วนพบแอบลักลอบหิ้วเข้ามาตอนที่ยังเป็นไข่อ่อน เข้ามาไม่ผ่านกระบวนการขออนุญาต แต่ในประเทศก็ไม่ได้ห้ามครอบครอง

 

ส่วนข้อกังวลว่าจะกลายเป็นสัตว์ที่ทำลายระบบนิเวศหรือไม่ หากคนเลี้ยงเบื่อ แล้วนำไปปล่อยทิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ นายบัญชา กล่าวว่า สัตว์ตัวนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นสัตว์ที่รุกรานสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ เพราะจากข้อมูลพบว่าอาโซลอต เป็นสัตว์ชนิดที่ต้องอยู่ในน้ำสะอาดมากๆ และอุณหภูมิเพียง 15-22 องศา และถ้าหลุดในธรรมชาติก็ตายได้

ขาดข้อมูลแหล่งเพาะ-ปริมาณประชากร

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลในโซเชียล พบความนิยมเลี้ยงอาโซลอตยังอยู่ในกลุ่มเด็กเฉพาะกลุ่ม แต่ยอมรับไม่มีข้อมูลเชิงสถิติร้านค้า หรือฟาร์มที่ชัดเจน ตอนนี้จึงประสานไปยังแหล่งเพาะเลี้ยงพื้นที่ จ.นครปฐม ราชบุรี ที่ผลิตปลาสวยงามขาย ถ้าจะนำอาโซลอตมาเลี้ยงต้องทำตามหลักการ และไม่ทรมานสัตว์ชนิดนี้

ยอมรับว่ายังมีช่องว่างควบคุม กรณีอาโซลอต ยังต้องติดตามข้อมูลที่ชัดเจน เช่น โรค และกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ต้องควบคุม ซึ่งที่ผ่านมากรมประมง มีการประกาศควบคุมสัตว์ที่กระทบต่อนิเวศแล้ว 15 ชนิด เช่น ปลาหมอสีคางดำ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือน "อาโซลอตย้อมสี" อายุขัยเหลือแค่ 1 สัปดาห์-ไม่ชัดสีที่ใช้ย้อม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง