เช็กเงื่อนไขคุม "ใบกัญชา" ปรุงอาหาร?

สังคม
14 มิ.ย. 65
11:07
3,313
Logo Thai PBS
เช็กเงื่อนไขคุม "ใบกัญชา" ปรุงอาหาร?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอนามัย ออกประกาศคุมใช้ใบกัญชาปรุงอาหารแต่ละชนิด กำหนดสถานประกอบการต้องแจ้งผู้บริโภค แสดงรายการ ข้อมูลการใช้กัญชา ห้ามใช้ในเด็กต่ำกว่า 18 ปีคนท้อง ให้นมบุตร กรมอนามัย เตรียมทบทวนเอกสารข้อมูล การวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ขณะที่ยอดคนคลิกแอปกัญทะลุ 37 ล้านคน

วันนี้ (14 มิ.ย.2565) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานสถิติการเข้าใช้งานแอพ ปลูกกัญ จำนวนการลงทะเบียน 785,192 คน ออกใบรับจดแจ้งกัญชา 761,366 ใบ ออกใบรับจดแจ้งกัญชง 23,826 ใบ จำนวนเข้าใช้งานระบบ 37,093,501 ครั้ง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรณีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตั้งแต่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ ยืนยันจุดยืนการใช้ประโยชน์จากสารสกัดกัญชาในทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช้ในเรื่องสันทนาการ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข มอบหมายให้ทบทวนเอกสาร หลักฐานต่างๆ พร้อมทั้งศึกษาวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน

ยืนยันว่าไม่ให้ใช้ในเด็กต่ำกว่า 20 ปี และไม่สนับสนุนในการใช้สันทนาการ หากปวดหัวนอนไม่หลับแนะนำให้ไปคุยกับแพทย์แผนไทย ส่วนกัญชาทางการแพทย์ทางผู้เชี่ยวชาญของกรมการแพทย์มีการศึกษาและแนะนำขอให้ใช้ในกลุ่มที่มีอายุ 25 ปีขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน โดยโรคภาวะที่ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ เช่น ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง การดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย

เช็กเงื่อนไขคุมใบกัญชาปรุงอาหาร 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ออกประกาศกรมอนามัย เรื่องการนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ ให้ยกเลิกความในข้อ 3 เปลี่ยนเป็นกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บ ใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสียแทน

สำหรับข้อกำหนดอื่นๆ ในประกาศยังคงเหมือนเดิม คือสถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร 

  • จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
  • แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
  • แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
  • แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย ในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ

 

  • แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชา ให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือสารแคนนาบิไดออล ควรระวังในการรับประทาน” “อาจทำให้ ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
  • ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค

 

ขณะที่ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ มีมาตรการเฝ้าระวังภาวะเสพติดกัญชาด้วยตนเอง โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้จัดทำ Official Line “ห่วงใย” เพื่อให้ผู้ใช้สารสกัดกัญชาสามารถประเมินการเสพติดกัญชาได้ด้วยตนเอง รวมถึงได้จัดสายด่วน 1165 ในการคำแนะนำ ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงสารสกัดกัญชา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอเตือนเคสกิน "คุกกี้กัญชา" เสียชีวิตได้-จดแจ้งปลูก 7 แสน

10 ข้อควรระวังใช้ผลิตภัณฑ์ "กัญชา"

เช็กปลดล็อก "กัญชา" อะไรทำได้ไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง