FINA ประกาศจำกัดการลงแข่งขันว่ายน้ำของ "นักกีฬาข้ามเพศ"

กีฬา
21 มิ.ย. 65
06:00
422
Logo Thai PBS
FINA ประกาศจำกัดการลงแข่งขันว่ายน้ำของ "นักกีฬาข้ามเพศ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สหพันธ์ว่ายน้ำโลก (FINA) ลงมติให้จำกัดการลงแข่งขันว่ายน้ำหญิง สำหรับนักกีฬาข้ามเพศ ระบุ เพื่อปกป้องความเป็นธรรมในการแข่งขัน

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2565 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สหพันธ์ว่ายน้ำโลก (FINA) ลงมติให้จำกัดการลงแข่งขันว่ายน้ำหญิง สำหรับนักกีฬาข้ามเพศ ซึ่งการลงมติดังกล่าวได้รับคะแนนเสียงข้างมากถึง 71% จาก 152 ประเทศสมาชิก ในการประชุมที่ปุสกัส อารีนา ประเทศฮังการี

ประธาน FINA ยืนยันว่า ต้องการปกป้องสิทธิ์ของนักกีฬาในการแข่งขัน แต่ขณะเดียวกันสหพันธ์ว่ายน้ำโลกก็ต้องปกป้องความเป็นธรรมในการแข่งขันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแข่งขันว่ายน้ำประเภทหญิง พร้อมย้ำว่า แนวทางของการตัดสินใจต่าง ๆ ของ FINA เกิดขึ้นบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และความเป็นธรรม

สำหรับการลงมติดังกล่าว เกิดขึ้นหลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน เนื่องจาก "ลีอา โธมัส" (Lia Thomas) นักว่ายน้ำข้ามเพศ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียกลายเป็นแชมป์ NCAA Division I จากการแข่งขันว่ายน้ำหญิง ประเภทฟรีสไตล์ 500 หลา เมื่อต้นปี 2565

"โธมัส" เคยประกาศเป้าหมายว่าต้องการเข้าแข่งขันเพื่อชิงเหรียญในโอลิมปิกเกมส์อีกด้วย แต่กฎใหม่ของ FINA ที่ออกมานั้น ราวกับกำลังปิดประตูสู่เส้นทางการเข้าร่วมแข่งขันว่ายน้ำประเภทหญิงของเธอ ในมหกรรมกีฬาระดับโลก

ทั้งนี้ ข้อกำหนดคุณสมบัติใหม่สำหรับการแข่งขันของ FINA ระบุว่า นักกีฬาข้ามเพศชายเป็นหญิงที่มีสิทธิ์ลงแข่งขันได้ ต้องเป็นวัยรุ่นที่ไม่เคยมีพัฒนาการทางเพศส่วนใดส่วนหนึ่งในวัยแรกรุ่นเกินกว่าระดับ Tanner Stage 2 หรือก่อนอายุ 12 ปี

หมอชี้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ นักกีฬาข้ามเพศได้เปรียบ

ขณะที่ นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ ระบุว่า Tanner Stage 2 คือ พัฒนาการเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยแรกรุ่น โดยการเริ่มมีพัฒนาการทางเพศของร่างกายที่เริ่มชัดเจนขึ้น เช่น เด็กผู้ชายที่เริ่มมีลูกอัณฑะโตขึ้นและเริ่มมีขนหัวหน่าว

ในช่วงเวลานี้ หากเด็กมีความรู้สึกไม่อยากมีพัฒนาการแบบเพศทางชีววิทยาของตัวเอง ก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการประเมิน และนำไปสู่การให้ยายับยั้งการเข้าสู่วัยรุ่นได้

ส่วนการตัดสินใจข้ามเพศนั้น ในต่างประเทศจะกำหนดให้ใช้ฮอร์โมนข้ามเพศในช่วงอายุ 16 ปี ขณะที่ในประเทศไทยกำหนดอายุ 18 ปี โดยต้องมีผู้ปกครองอนุญาต อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนักกีฬาข้ามเพศเริ่มมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องของสรีระทางร่างกายของหญิงข้ามเพศที่แตกต่างจากผู้หญิง ซึ่งมีความเป็นไปได้ในกรณีที่ไม่ได้มีการกดฮอร์โมน หรือใช้ฮอร์โมนเพศหญิงตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
 
ทั้งนี้ นพ.ธนภพ ระบุว่า เรื่องการออกกฎหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ในวงการกีฬาแต่ละประเภท แต่ละองค์กรและแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป แต่ปัจจุบันในวงการแพทย์นั้น ยังไม่มีงานวิจัยมากเพียงพอที่จะตอบคำถามได้ชัดเจนว่า นักกีฬาข้ามเพศได้เปรียบกว่าในการแข่งขันกีฬาทุกประเภทจริงหรือไม่ ดังนั้น การรอข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้

 

ที่มา : Reuters, BBC

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"แปลงเพศ" เปลี่ยนกายให้ตรงใจ แต่ใช่ว่าจะถึงฝันในทุกคน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง