"กนกรัตน์ เลิศชูสกุล" วิเคราะห์การกลับมาของ “กลุ่มทะลุแก๊ส”

การเมือง
20 มิ.ย. 65
13:44
1,272
Logo Thai PBS
"กนกรัตน์ เลิศชูสกุล" วิเคราะห์การกลับมาของ “กลุ่มทะลุแก๊ส”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การกลับมาของพลุ ดอกไม้ไฟ โมโลตอฟ กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นที่นี่ การกลับมาครั้งนี้ของกลุ่มทะลุแก๊ส ต้องการส่งสัญญาณอะไร และปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สอีกครั้งคืออะไร

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาการก่อตัวและพัฒนาการความเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊สตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา

กลุ่มทะลุแก๊สคือใครและเรียกร้องอะไร

จากการรวบรวมข้อมูลและการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส โดย ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยวิจัย ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย “การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564” พบว่า ผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊สแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก เยาวชนชนชั้นล่างสุดของสังคม มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เผชิญกับความเปราะบางทางอาชีพและที่อยู่อาศัย บางคนหลุดจากการศึกษา เพราะปัญหาความยากจน หรือมองว่าระบบการศึกษาไม่ใช่ทางรอด บางคนเป็นเยาวชนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่ทำงานหล่อเลี้ยงสังคมเมือง มีค่าแรงถูก และเข้าไม่ถึงสวัสดิการใดๆ ของรัฐอย่างที่ผู้ใหญ่เข้าถึง ยกตัวอย่างเช่น อาชีพรับจ้างทั่วไป ไรเดอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีบางคนที่เคยมีประสบการณ์ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ ไม่ว่าจะเป็น ถูกรีดไถค่าคุ้มครอง ถูกยัดคดียาเสพติด หรือถูกตรวจค้นตัวและยานพาหนะบ่อยครั้ง เมื่อเทียบกับกลุ่มคนชนชั้นอื่นๆ

ผู้ชุมนุมมีอายุประมาณ 15-27 ปี แต่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีอายุไม่ถึง 18 ปี และอายุน้อยสุดที่พบคือ 13 ปี พวกเขาเติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นล่าง มีฐานะยากจน ประมาณร้อยละ 60 จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 และไม่มีสักคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี


การระบาดของโควิด-19 ทำให้เยาวชนจากชนชั้นล่าง ที่เคยลืมตาอ้าปากดูแลตัวเองได้ กลายเป็นคนตกงาน และกลายเป็นคนยากจนทันที ในช่วงการระบาด พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนและการเยียวยาของภาครัฐได้ จากเดิมที่มีปัญหาที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ก็กลายเป็นคนไร้บ้าน เยาวชนจากชนชั้นล่างไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะเข้าถึงการเรียนออนไลน์ในช่วงการระบาด ทำให้พวกเขาจำนวนมากเสียโอกาส และหลุดออกจากระบบการศึกษา

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มเยาวชน ชนชั้นกลางที่เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 และมองว่าการชุมนุมอย่างสันติวิธี และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้มีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มที่หนึ่ง

 

รูปแบบการประท้วงของกลุ่มทะลุแก๊ส ต้องการส่งข้อความไปยังรัฐว่า พวกเขามีตัวตน และต้องการให้รัฐรับฟัง และแก้ไขปัญหาของพวกเขา โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจและความรุนแรงที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

มากกว่านั้น พวกเขายังต้องการให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก เพราะมองว่า เป็นผู้รับผิดชอบหลักต่อนโยบายต่าง ๆ ที่ผิดพลาด และพวกเขามองว่า การเปลี่ยนตัวผู้นำคือสัญญาณใหม่ในการเริ่มต้นแก้ปัญหา

การกลับมาของ “กลุ่มทะลุแก๊ส”

เราต้องยอมรับก่อนว่า เขาเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในสังคมเมือง ท่ามกลางความพลิกผันของโควิด พวกเขาคือแรงงานกลุ่มแรกที่ถูกเอาออกจากภาคบริการซึ่งเป็นภาคที่โดนผลกระทบหนักที่สุด พวกเขาเป็นแรงงานนอกระบบและส่วนมากยังเป็นเยาวชน ในช่วงปีที่แล้วที่เขาออกมาประท้วง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของพวกเขาแย่มาก ๆ


ถามว่าหลังจากการชุมนุมจบลงในปีที่แล้ว ทำไมพวกเขาจึงได้กลับมาในจังหวะนี้ ตอนนี้ หนึ่ง ก็คือ ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ทั้งในแง่การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ฯลฯ แต่เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น

แน่นอนว่าหลายภาคส่วน อาจจะเข้าไปสู่การจ้างงานแล้ว แต่พวกเขาเป็นแรงงานนอกระบบและยังเป็นเยาวชน ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับการจ้างงาน พวกเขาหลายคนยังเผชิญปัญหาเหล่านี้อยู่

มาตรการเยียวยาต่าง ๆ ของรัฐ พวกเขาก็ไม่เคยเข้าถึง เพราะอายุไม่ถึง 18 ปี ดังนั้น เมื่อเขาเป็นคนกลุ่มแรก ที่ถูกให้ออกจากภาคบริการ และกลายเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะถูกจ้างงาน พวกเขาจึงเป็นผู้ที่ไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจ และนั่นอาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขาต้องออกมาเรียกร้องในตอนนี้


สอง ที่สำคัญคือ ข้อเรียกร้องของเขาที่มีมาโดยตลอด ไม่ได้รับการเยียวยาเลย ไม่ได้รับการแก้ไข

สิ่งที่พวกเขาตะโกนเมื่อปีที่แล้ว มันไม่ได้รับการได้ยินเลย คือมันปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาที่รัฐพยายามจะตอบสนอง มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ถึงแม้จะเป็นผู้ใหญ่จนก็ตาม แต่ไม่ใช่เด็กจน เด็กจนเปราะบางกว่านั้นมาก

เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ๆ เมื่อเขาหลุดออกจากระบบทั้งหมด เมื่อเขากลายเป็นคนไร้บ้าน เมื่อเขากลายเป็นคนที่ไม่มีที่อยู่แล้ว เมื่อเขากลายเป็นคนที่ไม่มีรายได้แล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันทำให้ชีวิตของเขาถลำสู่ปัญหาที่ดึงพวกเขากลับมายากมาก

อย่างที่สาม ที่คิดว่าน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญก็คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ก่อนหน้านี้มีเยาวชนทะลุแก๊สจำนวนหนึ่ง ได้ลงไปช่วยทำงานรณรงค์หาเสียงให้กับผู้สมัครหลากหลายคน ด้วยความหวังว่า จะมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อการเลือกตั้งจบ ก็มีทั้งแคนดิเดตที่พวกเขาสนับสนุนได้รับเลือก หรือผิดหวังจากการเลือกตั้ง ทว่าพวกเขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วเดี๋ยวนี้ แต่พวกเขายังมองไม่เห็น

ดิฉันคิดว่าเงื่อนไขเหล่านี้ มันทำให้เราเห็นการกลับมาของทะลุแก๊ส แล้วทริกเกอร์สำคัญ (trigger - สิ่งกระตุ้น) ที่น่าสนใจเรื่องสุดท้ายเลยก็คือ สัญญาณการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ซึ่งมีทั้งสัญญาณว่าจะเกิด หรือไม่เกิดการเลือกตั้งก็ได้

เราอาจจะคิดว่า เอ๊ะ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเยาวชนทะลุแก๊ส ในความเป็นจริงก็คือว่า ความหวังของเรา ที่เราคิดว่ามันเป็นแค่การเลือกตั้ง แต่สำหรับเขา มันคือความต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงๆ และสัญญาณที่จะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ มันอาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่ทำให้พวกเขาเริ่มกังวล จากที่ดิฉันคุยกับกลุ่มทะลุแก๊สบางคน

ต้องการความเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้! ตอนนี้!

ธรรมชาติของเยาวชนกลุ่มทะลุแก๊สกับเยาวชนที่ผูกโบว์ขาว ที่ออกมาชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 นั้น มีความแตกต่างกันมาก สำหรับคนที่ทำม็อบมาตั้งแต่ปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นแกนนำและผู้ร่วมสนับสนุน หลายฝ่ายก็รู้สึกว่ามันไม่ประสบความสำเร็จ มันเหนื่อยแล้ว

และรู้สึกว่า ถ้าจะแสดงออกทางการเมือง มันต้องเป็นรูปแบบอื่น การชุมนุมมันอาจจะไม่มากพอที่จะสร้างแรงกดดันให้กับรัฐ หรือมันน่าจะไม่มีประสิทธิภาพพอ แต่พอเจอกลุ่มทะลุแก๊ส มันอีก energy (พลังงาน) หนึ่งเลย

 

ต้องบอกว่า แนวหน้าของกลุ่มทะลุแก๊สประมาณ 500-600 คน ถูกดำเนินคดีไปแล้วประมาณ 400 คน พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ที่มาม็อบน่าจะมีคดีติดตัวกันทุกคน เมื่อเรากลับไปติดตามสถานการณ์ช่วงหลังการชุมนุม หรือ post-protest ต้องบอกเลยว่าเยาวชนกลุ่มนี้ ยังพร้อมที่จะลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมือง คืออยู่ในช่วง High spirit มาก (มีสปิริตสูงมาก)

ถามว่าโดนคดีกันหมดแล้ว โดนจับกุมกันมาแล้ว ทำไมยังมาออกมา คำตอบเดียวของพวกเขาก็คือว่า เขาไม่มีอะไรเหลือแล้วในชีวิต การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดเดี๋ยวนี้ ชีวิตความเป็นความตายของเขา ความเสี่ยงจะกลายเป็นคนไร้บ้าน มันรอไม่ได้

 

ในขณะที่เยาวชนลูกหลานชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นแนวร่วมการชุมนุมหลักเมื่อปี 2563 ข้อเรียกร้องของพวกเขา มันคือความฝันในอนาคต ความกลัวของพวกเขาคือ กลัวว่ามันจะไม่ประสบความสำเร็จ กลัวว่าที่สิ่งที่เขาอยากเห็น มันอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐเป็นอุปสรรค แต่เยาวชนกลุ่มนี้ยังเป็น Resilient citizen (พลเมืองที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้) ยังสามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะเขาเป็นเด็กหัวกะทิของประเทศ พวกเขามีทุนที่ดี คือเขาไม่ต้องชนะวันนี้ก็ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าความเคลื่อนไหวของพวกเขาจะหยุดอยู่แค่นั้น

สำหรับกลุ่มทะลุแก๊ส ในช่วงที่ม็อบซาลงเมื่อปีที่แล้ว หากมีการชุมนุมของป้าเสื้อแดงเมื่อไหร่ น้อง ๆ เยาวชนทะลุแก๊สคือมวลชนหลักที่ไปอยู่กับพวกป้าๆ เสื้อแดง มันมีการพัฒนาเกิดขึ้น ในขณะที่ทุกกลุ่มถอยออกจากเขาหมด

ต้องยอมรับว่าป้า ๆ เสื้อแดงคือกลุ่มเดียวที่อยู่กับเขา แล้วตอนนี้ก็มีการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มน้อง ๆ กับป้าๆ เสื้อแดงแบบผสมผสานกันไปมา ทำให้พวกเขายังมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

 

แต่สิ่งที่ทั้งสองกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทะลุแก๊สหรือเยาวชนชนชั้นกลาง ต่างคิดเหมือนกันคือ “ถึงอย่างไร ไม่เปลี่ยนไม่ได้” ไม่ว่าจะเหนื่อยอย่างไร ไม่ว่าจะท้อแท้อย่างไร เราก็จะเห็นการกลับมาของพวกเขาในรูปแบบต่างๆ

ดิฉันคิดว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึง ก็จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่พวกเขาจะออกมาแสดงออกทางการเมือง และเราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของลูกหลานชนชั้นกลาง เราอาจจะเห็นหลายคนไปอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองการเลือกตั้งก็ได้

อย่างเช่น พวกแกนนำ ซึ่งมันเป็นปรากฏการณ์ปกติทั่วโลก เมื่อเราสู้บนท้องถนนแล้วมันผิดกฎหมาย เราก็ต้องเข้าสู่เครื่องมือทางการเมืองที่เป็นทางการมากขึ้น หรือการเข้าไปสู่กลไกในการทำนโยบาย เราเห็นคนเจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) จำนวนมากที่มาชุมนุมปีที่แล้ว เริ่มผลักดันสิ่งที่เรียกว่าสตาร์ทอัพ อะไรพวกนี้ คือแต่ละคนก็เริ่มผลักดันเครื่องมือการต่อสู้ที่แตกต่างออกไปจากเดิม แต่สำหรับเรากลุ่มที่เขารอไม่ได้ อย่างเช่นกลุ่มทะลุแก๊ส เขาก็ยังคงมีการแสดงออกทางการเมืองอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

 

เข้าสู่การครบรอบ 1 ปี ความเคลื่อนไหวแบบหลังชนฝาของ “กลุ่มทะลุแก๊ส”

กลุ่มทะลุแก๊สเริ่มเคลื่อนไหว เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 อีกไม่ถึงสองเดือนก็จะครบรอบการเคลื่อนไหวของพวกเขาแล้ว หลายคนถามว่าการกลับมาของทะลุแก๊สในครั้งนี้จะยืดเยื้อไหม

คนที่มาเข้าร่วมการชุมนุมทะลุแก๊สเกือบทั้งหมดมีคดีความจากการชุมนุมในปี 2564 อยู่แล้ว ดังนั้น การใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิม คือ จับกุมคุมขัง ติดกำไล EM ดิฉันไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า มันจะเป็นทางออกที่ทำให้พวกเขากลัวและไม่กล้ามาชุมนุมหรือเปล่า

เพราะอย่างที่ดิฉันบอกว่า สำหรับพวกเขา เขาต้องการการเปลี่ยนแปลง พวกเขารอไม่ได้ มีเด็กกลุ่มนี้ฆ่าตัวตายประมาณ 16 คน จากแนวร่วมการชุมนุมที่ประเมินว่า มีจำนวนประมาณ 500 คน และฆ่าตัวตายสำเร็จไปแล้ว 3 คน มันเป็นโศกนาฏกรรมที่ดิฉันคิดว่ามันไม่ควรเกิดขึ้น

การไม่แก้ปัญหาของเรา มันทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกจริงๆ เพราะว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกอยู่แล้ว ดังนั้น การจับพวกเขาขังคุก มันก็ไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป

ไม่แก้ปัญหา แต่กลับเติมความขัดแย้งให้มากขึ้น

อย่างที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า ก็ต้องคิดกันดีๆ นะ จะเสียอนาคต จะถูกดำเนินคดี ดิฉันคิดว่ามันไปไกลกว่านั้นมากแล้ว คือเด็กๆ เหล่านี้ไม่มีครอบครัว ไม่มีทั้งความหวัง มีคดีกันคนละ 2-3 คดีติดตัว เพราะฉะนั้นถ้ามันไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ดิฉันคิดว่า พวกเขาคงคิดว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้ว


ในท้ายที่สุด เราไม่เห็นการแก้ไขปัญหา ไม่เห็นแม้กระทั่งการเปิดเวทีเจรจา นอกจากจะเพิกเฉยแล้วยังข่มขู่คุกคาม ทำให้เขาเงียบด้วยความกลัว

ดิฉันคิดว่า มันเป็นรูปแบบการจัดการของผู้ใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งดิฉันเองก็เป็นรุ่นที่ก็เผชิญอะไรแบบนั้นมานะคะ ผู้ใหญ่เองเชื่อจริงๆ ว่า การจัดการที่จะทำให้เด็กลดความก้าวร้าวรุนแรง ลดการเรียกร้องในสิ่งที่มันเกินกว่าเด็กควรจะเรียกร้อง ต้องทำให้เด็กกลัว

ถ้าสมมติว่าอยู่บ้าน ก็ต้องถูกตี ถูกตำหนิใช่ไหมคะ หรือถูกจับขังห้องน้ำ ถูกทำให้กลัว แต่พอมันเป็นกลไกของรัฐ สิ่งที่เขาทำก็คือการเยี่ยมบ้าน ใช้เครื่องมือปราบปรามฝูงชนจากเบาไปหาหนัก อย่างที่เราเห็นตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ยกระดับมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการฉีดน้ำ เป็นแก๊สน้ำตา จากแก๊สน้ำตา เป็นกระสุนยาง

นอกจากนั้น ยังมีการจับกุมคุมขังแกนนำเป็นระยะๆ สิ่งที่เราเห็นก็คือมันไม่ได้ผล นอกจากไม่ได้ผลแล้ว มันยังผลักให้พวกเขาไม่ยอมรับในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ

จนถึงวันนี้ที่ดิฉันตามเรื่องม็อบเยาวชนมาสามปี ดิฉันไม่เห็นการขยับของกระทรวงศึกษาอย่างจริงจังในการปฏิรูปการศึกษา ในแบบที่มันทันต่อโลก ดิฉันยังไม่เห็นการแก้ไขปัญหาของเยาวชนคนจนเมืองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดิฉันยังไม่เห็นการพูดถึงปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวอย่างจริงจัง ยังไม่เห็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการที่ใช้ความรุนแรงต่อเยาวชน

รัฐกำลังสร้างภาพให้เด็กกลายเป็นปิศาจตัวน้อย ๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐทำคือ การทำให้เด็กๆ กลายเป็นปิศาจ (Devilize) จากเด็กที่เชื่อว่าตัวเองน่าจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ เขาเคยประสบความสำเร็จ ถ้าเราจำได้ ก็อย่างเช่น การต่อต้านนโยบายซิงเกิลเกตเวย์ เราเห็นการสร้างพรรคการเมืองของเขา ไม่ว่าเขาจะเชื่อมั่นในพรรคจริงหรือไม่ก็ตาม

การเลือกอนาคตใหม่ มันก็ทำให้เขารู้สึกว่าหนึ่งเสียงมีความสำคัญ แต่พอมาถึงวันหนึ่ง สิ่งที่พวกเขาออกมาแสดงออกบนท้องถนนด้วยเสียงของพวกเขาเอง มันไม่ได้รับการตอบสนอง พวกเขาถูกทำให้กลายเป็นคนอื่น พวกเขาถูกทำให้กลายเป็นเด็กเยาวชนที่ก้าวร้าวรุนแรง

พอถึงช่วงทะลุแก๊ส รัฐเองไม่ได้มองคนเหล่านี้เป็นเยาวชนแล้วด้วยซ้ำ แต่มองว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เป็นอันธพาล มองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย มองว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากพลังทางการเมืองนอกประเทศ ดิฉันคิดว่ามันเป็นขบวนการ Devilize ทำให้เยาวชนกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้ใหญ่ ซึ่งมันยิ่งผลักเขาออกไป

เรื่องสุดท้าย คือ การทำให้เขาออกจากอ้อมอกของเรา ก็คือทำให้เขาออกจากครอบครัว ทำให้เขาออกจากชุมชน รัฐอาจจะบอกว่ารัฐไม่ได้ทำโดยตรง แต่ดิฉันคิดว่าเงื่อนไขที่รัฐเป็น ทั้งต้นแบบของการไม่เชื่อในพลังของประชาชน การทำให้การแสดงออก มีต้นทุนที่แพงมาก

มันทำให้ครอบครัวแบกรับภาระที่เยาวชนแสดงออกทางการเมืองไม่ไหว น้อง ๆ ที่อยู่ในสลัมหลายๆ ถูกเบียดขับออกจากชุมชนของตัวเอง น้อง ๆ เยาวชนที่มาชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 หลายคนก็ต้องออกจากบ้าน ไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้

 

ถามว่าครอบครัวไม่รักลูกหรือ ไม่รักคนในชุมชนเหรอ มันไม่ใช่ แต่ว่าความกลัวที่เขามีต่อปีศาจตัวเล็กๆ มันหนักเกินไปสำหรับชุมชนและครอบครัว ทั้งในด้านความรู้สึกไม่ปลอดภัย และต้นทุนที่ต้องรับมือกับเยาวชนกลุ่มนี้ เพราะรัฐทำให้เยาวชนที่ต้องการเรียกร้องสิทธิ มีต้นทุนที่แพงมาก ไม่ว่าในแง่ทางเศรษฐกิจ การเงิน สังคม และสิทธิทางการเมือง

เราต้องยอมรับว่า ทั้งหมดที่กล่าวมา มันผลักดันให้เยาวชนออกมาจากครอบครัว มาสู่ถนน และเรากำลังทำให้เขาไม่มีที่ไป

ไม่อาจแก้ปัญหา หากไม่ยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้น

จริง ๆ ถ้าถามว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน ดิฉันต้องบอกว่ามีปัญหาหลักๆ อยู่ 3 ข้อ ปัญหาแรก คือ ผู้ใหญ่และรัฐเองไม่ตระหนักว่า เครื่องมือในการแก้ไขปัญหามีปัญหา และกำลังสร้างปัญหา

อย่างที่สอง คือ เราไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เรื่องที่สาม คือ มันไม่มีการแก้ปัญหาอย่างรอบด้านโดยผู้ใหญ่แบบที่เด็กคาดหวัง เพราะฉะนั้นคือดิฉันคิดว่าปัญหา 3 ข้อนี้ คือปัญหาที่ผู้ใหญ่และรัฐต้องจัดการ


ทางออก คือ ต้องยอมรับกันให้ได้จริงๆ ว่า วิธีการและเครื่องมือที่ใช้แก้ไขปัญหาในปัจจุบัน มันมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเพิกเฉย ใช้กำลังข่มขู่ คุกคามปราบปราม การไม่ยอมแก้ปัญหา

การทำให้เขากลายเป็นปีศาจตัวน้อย ๆ หรือการผลักเขามาจากครอบครัว ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่การแก้ปัญหาเลย แต่มันกำลังทำให้แรงงานที่สำคัญในอนาคต หลุดออกจากการดูแลปกป้อง และจะทำให้เราไม่สามารถกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศไทยได้

เรื่อง : จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส
ภาพ : ฉัฐพัชร์ สุวรรณยุหะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง