เปิดตัวแอปฯ "DMIND" คัดกรองภาวะซึมเศร้า - พบคนไทยป่วย 1.5 ล้านคน

สังคม
20 มิ.ย. 65
17:29
835
Logo Thai PBS
เปิดตัวแอปฯ "DMIND" คัดกรองภาวะซึมเศร้า - พบคนไทยป่วย 1.5 ล้านคน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คนไทยป่วยซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน ต้นเหตุพยายามคิดสั้น 5 หมื่นคนต่อปี "จุฬาฯ - สสส. - กรมสุขภาพจิต" พัฒนาแอปฯ DMIND ประเมินความเสี่ยงจากลักษณะสีหน้า น้ำเสียง ข้อความ คัดกรองผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลอย่างถูกต้อง เหมาะสม ทันที

วันนี้ (20 มิ.ย.2565) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมสุขภาพจิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวนวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคหนึ่งทางจิตเวชที่เกิดจากความเครียดของปัญหารอบด้าน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด การแข่งขันในสังคม รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพและกรรมพันธุ์ ทำให้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยกว่า 1.5 ล้านคน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4,000 คนต่อปี และพยายามคิดสั้นถึง 53,000 คนต่อปี ซึ่งการป้องกันความรุนแรงของโรคและยับยั้งการฆ่าตัวตายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญ

ขณะที่ระบบการเข้าถึงบริการทางจิตเวชในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด เนื่องจากความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจำนวนบุคลากรทางสุขภาพจิตที่ยังไม่เพียงพอ หนึ่งในแนวทางการป้องกันความรุนแรงของโรค คือการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ขั้นต้น จุฬาฯ โดยคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับ สธ. และ สสส.พัฒนานวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

แอปฯ ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และข้อความ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นอย่างง่าย มีความถูกต้อง แม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์

 

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แอปฯ DMIND สามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางการสื่อสารของหมอพร้อม ทั้งแอปพลิเคชันไลน์ เฟซบุ๊กหมอพร้อม เลือกเมนู "ตรวจสุขภาพใจ" และเว็บไซต์  

สำหรับการประเมินผลแสดงอาการ 3 ระดับ 1.ปกติ (สีเขียว) พร้อมแนะนำข้อมูลการดูแลสุขภาพจิตทั่วไป 2.กลาง (สีเหลือง) ศูนย์สุขภาพจิตเขต 1-13 ภายใต้กรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ จะติดตามในพื้นที่ 3.รุนแรง (สีแดง) สายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะติดตามอาการ เพื่อประเมินสุขภาพจิต และร่วมหาแนวทางแก้ปัญหา

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสามารถเข้าถึงบริการและการประเมินด้านสุขภาพจิตได้ ถือเป็นระบบบริการรูปแบบใหม่ในการส่งต่อผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าให้ได้รับการรักษาแบบ Fast Track กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เข้าใช้แอปฯ DMIND ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง