ศาลยกฟ้อง AIS คำสั่งกสทช.ปรับวันละ 1 แสน เรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า

สังคม
25 มิ.ย. 65
07:54
861
Logo Thai PBS
ศาลยกฟ้อง AIS  คำสั่งกสทช.ปรับวันละ 1 แสน เรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้อง กรณี AIS ฟ้องคำสั่งเลขาธิการ กสทช. สั่งปรับเงินวันละ 100,000 บาท กรณีเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า มือถือระบบเติมเงิน ระบุ กสทช. มีคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2565 ศาลปกครองเผยแพร่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เป็นผู้ฟ้องคดี เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) คณะกรรมการ กสทช.กรณี AIS ยื่นฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเลขาธิการกสทช. ที่ให้ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 100,000 บาท กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อ 11 ของประกาศ กสทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549

ศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า คดีนี้ผู้ฟ้องอุทธรณ์ว่า เลขาธิการกสทช. ออกคำสั่งคดีชำระค่าปรับทางปกครอง อัตราวันละ 100,000 บาท โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ แม้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งจำหน่ายคดีของ AIS ไปแล้ว แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่า มาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 3 และ 4 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 (บังคับใช้ขณะเกิดเหตุพิพาท)

แต่ก็เป็นอำนาจของศาลปกครองวินิจฉัยว่า กรณีเป็นการขัดหรือแย้งกับหลักนิติธรรม และสิทธิของผู้ฟ้องคดี เคยได้รับและยังคงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี 2560) หรือไม่

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นกรณีที่ต้องตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดี  AIS กำหนดเงื่อนไขการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า

โดยผู้ใช้บริการเติมเงิน 50 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 5 วัน หรือเติมเงิน 300 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 30 วัน หรือเติมเงิน 500 บาท ใช้บริการได้ 50 วัน หรือเติมเงิน 1,500 บาท ใช้บริการได้ 365 วัน มีลักษณะเป็นการบังคับ ให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในเวลาที่กำหนดโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่มีอำนาจหน้าที่ในขณะนั้น

อันเป็นการฝ่าฝืนข้อ 11 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ประกอบมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับใบอนุญาตระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสม ภายในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อพ้นระยะเวลาที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนด แต่ผู้ฟ้องคดียังปรับปรุงเงื่อนไขการให้บริการเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีอำนาจตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดค่าปรับทางปกครองแก่กรณีของผู้ฟ้องคดี

กรณีจึงเป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่อาจรับฟังได้ว่าขัดหรือแย้งกับหลักนิติธรรม และสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีเคยได้รับ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญดังข้ออ้างของผู้ฟ้องคดี อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีกรณีนี้จึงไม่อาจรับฟังได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ตามหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 31 พ.ค. 2555 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี (เอไอเอส) ชำระค่าปรับทางปกครอง ในอัตราวันละ 1 แสนบาท ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.2555  จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการ กสทช.) ในการประชุมครั้งที่ 35/2555 เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2555 ที่มีมติยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง