สธ.เล็งหารือฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มเด็ก 6 เดือน หากผ่านอนุมัติ อย.

สังคม
27 มิ.ย. 65
14:32
428
Logo Thai PBS
สธ.เล็งหารือฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มเด็ก 6 เดือน หากผ่านอนุมัติ อย.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกันสู้เชื้อ BA.4 และ BA.5 พร้อมเล็งหารือฉีดกลุ่มเด็ก 6 เดือนขึ้นไป หากผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้าน "หมอประสิทธิ์" เตือนอย่าประมาทโควิดกลายพันธุ์

วันนี้ (27 มิ.ย.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่  1,735 คน หายป่วยกลับบ้าน 2,138 คน เสียชีวิต 15 คน สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 4,515,890 คน ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 30,607 คน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ว่า 2 สายพันธุ์ย่อยนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ และพบตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นที่กังวลว่าโรคจะแพร่เร็วจนไม่สามารถควบคุมได้นั้น พบว่าในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม 1.3-1.4 เท่า ขณะที่ประเทศอื่นในยุโรป ยังพบว่าแพร่ได้น้อยกว่า ดังนั้นความเร็วในการแพร่เชื้อ จึงยังไม่มีความชัดเจน

ปลัดสธ.กล่าวอีกว่า ส่วนในไทย จากการส่งตรวจสายพันธุ์ยังพบสัดส่วนในคนต่างชาติมากกว่าคนไทย และจากการเฝ้าระวังเรื่องการทำให้เกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีลักษณะเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือ พบว่า BA.4 และBA.5 ทำให้ภูมิต้านทานเชื้อลดลงบ้าง จึงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่ม

โดยผู้ที่ฉีด 3 เข็มแล้ว หากถึงระยะเวลาที่แนะนำ คือ 4 เดือน ควรมาฉีดกระตุ้นซ้ำ มีข้อมูลในต่างประเทศว่าผู้ป่วยจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ถ้าได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอาการจะน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ซึ่งชัดเจนว่าวัคซีนยังได้ผลในการป้องกันอาการหนักและเสียชีวิต

อ่านข่าวเพิ่ม สหรัฐฯ ไฟเขียววัคซีนเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

เล็งหารือฉีดกลุ่มเด็ก 6 เดือนขึ้นไปหากอย.อนุมัติ 

ปลัดสธ.กล่าวอีกว่า ส่วนการขับเคลื่อนโรคโควิด 19 สู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) หลังวันที่ 1 ก.ค.นี้ คาดว่าจะเป็นไปตามแผน ประเด็นสำคัญคือ การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว โรคลดความรุนแรงลง และระบบสาธารณสุขรองรับได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโรคเกิดขึ้น แต่อาจมีเป็นคลัสเตอร์ขึ้นมาบ้างแล้วลดลงไป

แต่ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงยังต้องฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง ซึ่งยังเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตที่สำคัญ

ขณะนี้ฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสมเกือบ 140 ล้านโดสแล้ว มีประชาชนได้ฉีดเข็มแรก 60 ล้านคน ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี อย.สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ฉีดได้แล้ว ในไทยหากได้รับการอนุมัติจาก อย.ไทยแล้ว จะมีการหารือถึงเวลาและรูปแบบการฉีดที่เหมาะสม

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็ก 6 เดือนขึ้นไป ต้องรอผู้ผลิตคือไฟเซอร์ และโมเดอร์นา มายื่นขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม เพื่อฉีดในกลุ่มเด็ก 6 เดือนขึ้นไปก่อน

ขณะนี้ยังไม่มีการมายื่นขอขยายอายุการฉีดเพิ่มเติม แต่หากยื่นเรื่องเข้ามาแล้วก็สามารถพิจารณาได้ทันที โดยขนาดที่ใช้ในกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะมีขนาดน้อยกว่าวัคซีนที่ใช้ในเด็กอายุ 5-11 ปี

"หมอประสิทธิ์" เตือนอย่าประมาทโควิด

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถาน การณ์โควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยว่า สำหรับสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 พบข้อมูลมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งข้อมูลขณะนี้พบสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เริ่มไปทดแทนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เนื่องจาก BA.4 และ BA.5 แบ่งตัวเร็วกว่า แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารุนแรงมากกว่า

แต่การระบาดที่เร็วขึ้นมองได้ 2 มุมคือ 1.ตำแหน่งกลายพันธุ์ และ2.คนเริ่มผ่อนคลายมาตรการหน้ากากอนามัย จึงมีโอกาสแพร่กระจายได้มากขึ้น รวมถึงกิจกรรมสังคมที่มากขึ้นด้วย หลายประเทศก็ไม่ได้ตรวจหาเชื้อกันแล้ว ดังนั้นยอดติดเชื้อที่แท้จริงต้องมากกว่านั้น

นอกจากนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวถึง ปัจจัยที่ทำให้ไม่เห็นความรุนแรงที่ชัดเจนคือ วัคซีนหากฉีดมาก กว่า 3-4 เข็มขึ้นไป ก็จะช่วยลดความรุนแรงได้แม้จะกลายพันธุ์ และการฉีดเข็ม 4 ป้องกันติดเชื้อสูงถึง 75% ขอแนะนำให้ฉีด 4 เข็ม ในกลุ่มคนทั่วไป ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก็เป็นเข็มที่ 5 ซึ่งหลายคนก็ได้รับแล้ว

สำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นเมื่อครบ 4 เดือน ส่วนคนที่ติดเชื้อซ้ำ แม้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีหรือไม่มี ผลกระทบกับภาพรวมสุขภาพ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะติดเชื้อซ้ำ เพราะหากเชื้อเล่นงานปอด จะเป็นเรื่องใหม่ เนื้อปอดอาจไม่ฟื้นตัวกลับมาง่ายๆ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กอาการโควิด สายพันธุ์โอมิครอน "BA.4 - BA.5

"โอมิครอน" กลายพันธุ์ BA.4-BA.5 พบในไทย 181 คน

สหรัฐฯ ตั้งเป้าฉีดไฟเซอร์-โมเดอร์นา "เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง